SCB CIO คาดไทยเสี่ยงเจอปัญหาหนัก หากโดนภาษีสหรัฐฯ เกิน 20% กระทบส่งออกฉุด GDP นักลงทุนควรรับมืออย่างไร
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษี 36% ที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากประเทศไทยที่ยังไม่มีความแน่นอน รวมทั้งประเทศคู่ค้าของก็เสี่ยงโดนภาษีการค้าด้วยเช่นกัน อาจสร้างความผันผวนต่อการลงทุน นักลงทุนควรรับมืออย่างไร
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM Head of Investment Consultant, SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ระบุว่า ตัวเลขอัตราภาษีที่ 36% สหรัฐฯ ประกาศจะจัดเก็บสินค้านำเข้าจากไทยนั้น เป็นตัวเลขเดิมที่เคยประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน และหลายประเทศที่ได้รับจดหมายในล็อตเดียวกันก็ได้รับตัวเลขนี้เช่นกัน ซึ่งในแง่หนึ่งอาจตีความได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการจะเก็บภาษีในอัตรานี้จริง ๆ แต่เป็นการขยายเวลาให้แต่ละประเทศมีโอกาสเจรจาต่อรองเพิ่มเติม ซึ่งเดิมมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ แต่ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคมนี้
คาดไทยอาจโดนภาษีอัตรา 10-20%
ชาตรีประเมินว่า ตัวเลขภาษีที่แท้จริงที่ไทยจะได้รับน่าจะอยู่ระหว่าง 10-20% โดยอ้างอิงจากกรณีของเวียดนามที่เจรจาได้ที่ 20% อีกทั้งประเด็นสำคัญที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึงในตลาด นั่นคือ เรื่องของค่าเงิน โดยเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบกับค่าเงินดองของเวียดนามในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบด้านค่าเงิน ดังนั้น ตัวเลขภาษีที่ไทยควรได้รับเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเวียดนามได้โดยตรง ควรจะต่ำกว่า 20% พอสมควร โดยอาจอยู่ที่ประมาณ 15% เพื่อชดเชยความเสียเปรียบด้านค่าเงิน
อย่างไรก็ดี หากตัวเลขภาษีของไทยสูงกว่า 20% มองว่าประเทศไทยเสี่ยงจะเผชิญปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 10% ของ GDP ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ตลาดทุนโลกไม่หวั่น มองข้ามความกังวลชั่วคราว
ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดทุนโลก ประเมินว่า นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลลง เนื่องจากตระหนักว่าตัวเลข 36% เป็นเพียงตัวเลขเดิม และมาตรการนี้เป็นการขยายเวลาการเจรจา ทำให้ตลาดหุ้นของประเทศที่ได้รับจดหมาย เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น กลับปรับตัวขึ้นด้วยซ้ำหลังจากได้รับจดหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมองว่านี่คือสัญญาณเชิงบวกที่แสดงว่าประเทศเหล่านี้มีเวลามากขึ้นในการเจรจา และกลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้รับจดหมายก็ใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเร่งด่วน
สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย-ส่งออกและนำเข้า มีดังนี้
- ภาคการส่งออก อุตสาหกรรมหลักที่พึ่งพาสหรัฐฯ สูง เช่น โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, และยางรถยนต์ จะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เนื่องจากสินค้าเหล่านี้มีตลาดหลักในสหรัฐฯ และยากที่จะย้ายฐานลูกค้าได้ในระยะเวลาอันสั้น ผลกระทบจะส่งตรงไปที่อัตรากำไร (Margin) และยอดคำสั่งซื้อ ที่อาจย้ายไปประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม นอกจากนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อ โรงงานที่มาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ก็อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ได้เปรียบมากกว่า
ในส่วนของสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป และอาหารสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าสหรัฐฯ สูงถึง 30-40% ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อาจต้องเริ่มมองหาตลาดใหม่เพื่อลดความเสี่ยง
- ภาคการนำเข้า ผลกระทบต่อภาคการนำเข้าอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสินค้าที่เรานำเข้าจากสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ เช่น น้ำมัน ปิโตรเคมี หรืออากาศยาน เป็นสินค้าที่ไทยผลิตเองไม่ได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม เตือนว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการเพียงให้ไทยซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องการให้ไทยเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากจะมีสินค้าเกษตรราคาถูกจากสหรัฐฯ เข้ามาแข่งขัน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยก็ต้องเตรียมรับมือ
กลยุทธ์ลงทุนหุ้น-ตราสารหนี้ ท่ามกลางความผันผวน
ชาตรี ยังให้ความเห็นว่า ขณะนี้คาดน่าจะผ่านจุดที่น่ากลัวที่สุดของสงครามการค้าไปแล้ว และความกังวลในตลาดเริ่มลดลง ภาพรวมการลงทุนทั่วโลกยังคงน่าสนใจ
ตลาดหุ้น ในกลุ่มประเทศในเอเชียที่การเจรจาการค้าใกล้จะจบหรือจบไปแล้ว มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย และไต้หวัน เนื่องจากความไม่แน่นอนลดลงและจะกลายเป็นปัจจัยบวก หากประเทศไทยสามารถเจรจาได้สำเร็จในกลุ่มแรก ๆ ก็จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่กำลังไหลเข้าสู่เอเชียเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้เช่นกัน
ตราสารหนี้
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ระยะ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 4.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการลงทุน ชาตรีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ โดยอาจเริ่มต้นในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ
ตราสารหนี้ไทย ผลตอบแทนพันธบัตรไทยลดลงค่อนข้างเร็ว โดย Bond Yield ระยะ 10 ปี อยู่ที่ 1.6% ซึ่งถือว่าต่ำ นักลงทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงที่มีอายุไม่ยาวนัก หรือพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า
ตลาดหุ้นไทยมีความหวังจากการเจรจาการค้า หากสามารถจบการเจรจาได้เร็ว จะได้รับอานิสงส์จากเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในเอเชีย แม้ว่า Valuation ของหุ้นไทยอาจไม่ได้ถูกมากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว และไม่น่าจะหลุดระดับ 1,000 จุด หรือกลับไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิมที่ 1,050 จุด
ภาพ: Rawpixel.com/Shutterstock