โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

White Story คว้ารางวัล “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 20 โดดเด่นด้วยโมเดล Grab & Go สดใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ก้าวสู่ธุรกิจยั่งยืน

Manager Online

เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • MGR Online

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัลให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ที่สร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้อย่างโดดเด่น และสามารถพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ ด้วยพลังผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในงาน “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 20

ในปีนี้ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัล 6 องค์กร หนึ่งในนั้นคือ บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ในมิติ องค์กรที่มีการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer-Focused Product and Service) การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operation Best Practice) และองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice)

แวว-วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ได้เผยถึงความรู้สึก ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า รางวัลนี้เป็นกำลังใจที่ดีมากสำหรับทีมงาน White Story ทุกคน ทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน

“White Story ยึดถือคุณค่าเดียวกัน คือการอยากให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สดใหม่วันต่อวัน ในราคาที่เหมาะสม โดยคุณค่าเหล่านี้ที่เรายึดถือร่วมกัน จะทำให้ธุรกิจอาหารเติบโตและยั่งยืนได้ และขอขอบคุณ Bai Po Business Awards by Sasin ที่เห็นคุณค่าความตั้งใจของเรา”

จุดเริ่มต้น White Story คาเฟ่เล็ก ๆ ในบ้านไม้สีขาว

แวว-วาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซดา น้ำชา จำกัด ได้เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘White Story’ ว่าเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 จากการเช่าบ้านไม้หลังหนึ่ง มาทาสีขาวเพื่อความสวยงามทำเป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ตั้งอยู่บนย่านพระราม 5 ที่ในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ใหม่ ไม่ค่อยมีร้านอาหารหรือคาเฟ่ให้เลือกมากนัก

“ตอนนั้นเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ชื่นชอบการทำอาหารและอยากมีธุรกิจส่วนตัว จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำในวัย 27 ปี เพื่อทำร้านอาหารหรือคาเฟ่เล็ก ๆ โดยไปเช่าบ้านไม้หลังหนึ่ง บนถนนราชพฤกษ์ เป็นบ้านไม้เรือนไทยเก่า ๆ ตอนนั้นเรามีงบประมาณจำกัด เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ประหยัดต้นทุน จึงทาบ้านไม้หลังนั้นให้เป็นสีขาว โดยมีความคิดที่ว่า เราอยากให้ลูกค้าเข้ามาแต่งแต้มเรื่องราวให้บ้านสีขาวมีสีสันเกิดขึ้น กลายเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ว่า White Story”

แวว-วาศิณี เล่าต่อว่า พอ White Story เกิดขึ้นได้สักพัก ต่อมา ปี พ.ศ. 2554 ก็ได้เกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ จนร้านได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลง แต่ทว่าในวิกฤติก็ยังมีโอกาสแฝงอยู่ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์เข้าสู่ห้างสรรพสินค้าครั้งแรก

“ก่อนหน้าที่น้ำจะท่วม ตอนนั้นเรามองเห็นว่าพฤติกรรมของคนไทยในเมืองและชานเมืองชอบเที่ยวห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์กันมากขึ้น เราจึงได้ไปจองพื้นที่ที่ The Walk ราชพฤกษ์ไว้ พอหลังน้ำลด ประจวบเหมาะกับ The Walk เปิดพอดี ก็เลยได้ย้ายร้านที่เป็น Stand Alone จากที่เดิม เข้ามาที่ The Walk ซึ่งเป็นสาขาแรกในห้างสรรพสินค้า”

ก้าวสู่ธุรกิจ Grab & Goอาหารสดใหม่เพื่อสุขภาพ ราคาจับต้องได้ ตอบโจทย์สำหรับทุกคน

ต่อมาเมื่อได้ขยายแบรนด์เข้าสู่ห้างฯ ทำให้มองเห็นช่องทางการทำโมเดลธุรกิจแบบ Grab & Go เพื่อตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ ผนวกกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้น ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤติ

“จากการที่มีสาขาแรกที่ The Walk เราได้รับพื้นที่ 160 ตารางเมตร เลยมาคิดว่า เราจะใช้สอยพื้นที่ให้มีประโยชน์และคุ้มค่าได้ยังไงบ้าง ณ ตอนนั้นได้เล็งเห็นว่า “Lazy Economy” เริ่มมา ซึ่งคนไม่ทำกับข้าวรับประทานเองที่บ้านแล้ว แล้ว เทรนด์การรักสุขภาพก็กำลังมา เราจึงลองหาโมเดลใหม่ ๆ โดยแบ่งพื้นที่สัก 30% ของ 160 ตารางเมตร มาทำ Grab & Go เพื่อตอบโจทย์คนทำงานแถวนั้น หลังจากนั้นก็ได้ทดลองและเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็น Grab & Go ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา และขยับขยายมาเรื่อย ๆ”

“กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง คือ ช่วงโควิด-19 โดยก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด White Story มีอยู่ 12-13 สาขา พอเกิดโควิดขึ้น ทุกคนออกจากห้างสรรพสินค้าหมดเลย ทำให้ห้างฯ ว่าง ก่อนหน้านี้เราเคยไปยื่นข้อเสนอตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้เขาโทรกลับมาหา ช่วงนั้นคนไม่นิยมนั่งรับประทานอาหารนอกบ้าน จากที่เราทำครัวกลางรอไว้ก่อนที่จะเกิดโควิด ความพร้อมส่วนนี้ทำให้เราเติบโตได้ท่ามกลางวิกฤติ เมื่อโอกาสเข้ามา จึงสามารถก้าวกระโดดไปกับโอกาสนั้นและจับโอกาสนั้นได้ทัน”

“โมเดลธุรกิจ Grab & Go จะเน้นเสิร์ฟอาหารกล่องพร้อมรับประทาน สดใหม่ วันต่อวัน ไม่ใส่สารกันเสีย มีเครื่องดื่มในรูปแบบซื้อกลับบ้าน โดยเราจะทำทุกอย่างจากครัวกลาง เรามีแผนในระยะยาวที่อยากเติบโต เราใช้ระยะเวลาในการสร้างระบบระเบียบภายในองค์กร ซึ่งการทำครัวกลาง ได้เริ่มจากการศึกษาและเรียนรู้ ตั้งแต่ Day 1 เลย เราสั่งสมประสบการณ์มาตลอด เพราะครัวกลางของเราไม่ใช่โรงงาน ไม่สามารถผลิตและเตรียมว่ามีออเดอร์มาแล้วค่อยส่งไปได้ ซึ่งตอนนั้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา และเป็นสิ่งใหม่สำหรับธุรกิจอาหารด้วย เราจะบริหารยังไงให้ของสดใหม่ออกไปสู่มือลูกค้าได้ทุกวัน”

หัวใจหลัก ไม่เพียงแค่ "ขายอาหาร" แต่คือการใส่ใจในคุณภาพของอาหารทุกกล่องที่เสิร์ฟ ทุกเมนูต้องทำสดใหม่วันต่อวัน ไม่ใส่สารกันเสีย ลดการใช้สารเคมี เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้รักสุขภาพที่ต้องการอาหารที่ปลอดภัยในราคาที่เข้าถึงได้ และนอกจากคุณภาพของอาหารแล้ว การทำธุรกิจยังยึดหลัก Customer Centric อย่างชัดเจนด้วย

“เพราะเราอยากให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในราคาที่เหมาะสม การได้รับประทานอาหารที่ดี ต้องมาจากวัตถุดิบที่ดี เราพยายามลดการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุด ไม่ใช้สารกันเสีย ใช้ไข่ไก่เกษตรอินทรีย์ ใช้ของจากธรรมชาติให้มากที่สุด เราต้องทำสินค้าของเราให้ยั่งยืนก่อน ซึ่งพอสินค้ายั่งยืนก็ส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าก็จะได้รับความยั่งยืนในด้านสุขภาพต่อไป”

“เรามองว่าทุกธุรกิจมีการแข่งขัน จุดยืนของเราคือการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราจะตอบโจทย์กับลูกค้ายังไง ถึงแม้จะมีคู่แข่งมากมาย ซึ่งลูกค้าก็มีสิทธิเลือกว่าสินค้าตัวไหนที่ตรงใจเขา เราดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ลูกค้าไว้วางใจเลือก White Story ให้เป็นอาหารสำหรับตัวเอง ครอบครัว หรือคนที่รัก”

สร้างกิมมิกด้วยอารมณ์ขันให้ลูกค้าจดจำ หนึ่งในกลยุทธ์ของแบรนด์

“การตลาดของ White Story วางกลยุทธ์ด้วยการสร้าง Engagement ผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ เช่น สติ๊กเกอร์คำคมบนกล่องอาหาร หรือคำบรรยายเมนูน่ารัก ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านนี้ เข้าใจ และ มีตัวตนมากกว่าแค่ร้านอาหารทั่วไป เราอยากสื่อสารกับลูกค้าว่าเราใช้ของดีนะ ซึ่งเราจะทำยังไงให้ลูกค้าสนใจและอ่านข้อความนั้น ถ้าจะเขียนว่าสปาเกตตีนี้เป็นเส้นจากอิตาลี ปลาแซลมอนจากนอเวย์ ก็จะดูเหมือนกับทั่ว ๆ ไป เราเลยคิดสนุกว่า เขียนอะไรให้ลูกค้าสนุกด้วยดีกว่า จึงเป็นที่มาของข้อความหน้ากล่อง เช่น สปาเก็ตตีปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำมาจากนอร์เวย์ ว่ายจนเซ ใจโลเลไปหาเธอ พอเริ่มทำ 1-2 เมนู ลูกค้าเริ่มสนุกด้วย ตอนหลังลูกค้าก็มามีส่วนร่วม เช่น ขนมปังไดฟูกุชาเขียวถั่วแดงญี่ปุ่น ที่ลูกค้าเขียนมาว่า อันนี้คือคาร์บเชิงซ้ำซ้อน คาร์บในคาร์บ เราก็เลยขออนุญาตนำข้อความมาใช้บนสติกเกอร์ว่า หวานน้อย คาร์บเชิง (ซ้ำ) ซ้อน เป็นต้น”

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องการลดราคาสินค้าลงในตอนค่ำ ๆ ซึ่งจริง ๆ เราไม่อยากให้เกิด Food Waste เพราะรู้สึกเสียดาย จึงคิดว่ายอมตัดใจขายสินค้าในราคาพิเศษก่อนปิดร้าน เพื่อเคลียร์สินค้าให้หมดวันต่อวัน พอทำเช่นนี้ จึงกลายมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดโดยอัตมัติ ลูกค้าพึงพอใจที่จะได้ของที่ประหยัดขึ้น ถึงแม้อาจจะมีตัวเลือกที่น้อยลงก็ตาม และการสื่อสารของเราเช่นนี้ จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่าแบรนด์ของเราขายของสดใหม่วันต่อวันจริง ๆ”

ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

White Story ยังได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยร่วมกับโครงการ “วน” รับบริจาคถุง และฟิล์มพลาสติกจากลูกค้า เพื่อนำไปรีไซเคิล ให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อเดือน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 250 ต้น รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก Food Grade ที่เข้าไมโครเวฟและย่อยสลายได้ สร้างวงจรไร้ขยะเศษอาหาร ด้วยการบริหารจัดการสินค้าภายในร้าน ให้เหลือเป็นเศษอาหารน้อยที่สุดในแต่ละวัน พร้อมนำเศษอาหารในกระบวนการผลิตแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์

“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แววได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปอยู่ในชนบท แต่เรากลับได้เห็นว่า เราอยู่ในไลฟ์สไตล์ในชนบทของเขา แต่เราได้รับประทานอาหารที่ดี ในหมู่บ้านเล็ก ๆ มีร้านอาหารที่ทำขนมปังสดใหม่ทุกเช้า ทำอาหารสดใหม่ทุกเช้า มีร้านขายเนื้อสัตว์เล็ก ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทำให้พลเมืองของเขามีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี พอเราเข้าไปอยู่ในครอบครัวของคนดัตท์ เขาก็ได้สอนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่บ้านของตัวเองไปจนถึงชุมชนและสังคมรอบข้าง เช่น วิธีการแยกขยะ การกำจัด Waste ซึ่งเราได้ปรับทัศนคติ ได้เรียนรู้ จึงคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าเรามีโอกาสกลับมาไทยแล้วทำธุรกิจ เราอยากจะนำสิ่งดี ๆ ที่เคยเจอและได้รับมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ดังนั้นเมื่อ White Story เริ่มต้นทำธุรกิจ ทำให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนมาก ๆ แววได้นำความรู้เหล่านี้มาสอนน้อง ๆ พนักงานในทีม เพราะสิ่งนี้เป็นจุดยืนหนึ่งที่เราอยากจะสื่อสาร”

“หลายคนอาจจะเห็นว่าเรายังใช้พลาสติกอยู่ ในแง่ของธุรกิจ ต้องพูดตามตรงว่า เรายังต้องใช้พลาสติกอยู่บ้าง แต่การใช้พลาสติกในโลกปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ถูกต้อง เพียงแต่จะเลือกใช้ยังไง และมีกระบวนการขั้นตอนหลังจากใช้แล้วยังไง White Story จะเลือกพลาสติกที่ย่อยสลายได้ภายใน 2 ปี และเป็น Food Grade ที่สามารถใช้กับอาหารได้ เราได้คอลแลปกับ Pupa Packaging ซึ่งเขาเป็นเจ้าแรกของไทยเหมือนกันที่สามารถผลิตกล่องอาหารย่อยสลายได้ ยอมรับว่าต้นทุนสูงขึ้น แต่เราเจอพาร์ทเนอร์ที่น่ารักที่ทำให้เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ หรืออย่างพลาสติกที่ยืดได้ แลปพาสติก ที่ยังสะอาดอยู่ จะส่งกลับไปที่โปรเจ็กต์ “วน” เพื่อนำไปทำเมล็ดพลาสติก อีกทั้งยังมีการรณรงค์ในเรื่องรีไซเคิลส่วนอื่น ๆ เช่น ถุงพลาสติก ลูกค้าสามารถนำไปเป็นถุงขยะต่อไปเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำ ขวด ฝาขวด เราจะนำส่งรีไซเคิลต่อไป เป็นต้น”

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Food Waste ด้วยการซื้อถังขยะรักษ์โลก 2 ใบ มูลค่าใบละ 1 ล้านบาท เพื่อกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจากครัวกลาง

“Food Waste ที่เกิดขึ้นจากครัวกลาง เราจะนำมาทำเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเรามีถังขยะรักษ์โลก 2 ใบ มูลค่าใบละ 1 ล้านบาท ที่สามารถลดขยะเปียกลงถึง 90% เรานำเศษอาหาร เช่น ผัก ไข่ไก่ ไปทำเป็นปุ๋ย และปุ๋ยที่ได้จะนำไปแจกจ่ายละแวกใกล้เคียง หรือนำมาวางขายหน้าร้านด้วย”

“ต้องบอกว่าการบริหารจัดการวัตถุดิบ สิ่งที่ยากคือ Waste หรือการบริหารจัดการดีมานต์ที่เกิดขึ้นจากลูกค้า เพราะเราไม่รู้เลยว่าในแต่ละวันจะมีดีมานต์อย่างไร และในแต่ละโลเคชันก็มีดีมานต์ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราเริ่มจากการคาดเดา เพราะแม้เราจะทำรีเสิร์ชมาแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเวลาสินค้าวางจริง ๆ ลูกค้าจะสนใจในสินค้าตัวไหนมากกว่ากัน เมื่อใช้การคาดเดาไปสักระยะหนึ่ง ประมาณ 1 สัปดาห์ เราจะเริ่มเห็นเทรนด์แล้วว่าในโลเคชันที่ไปอยู่อะไรตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งเราจะวางสินค้าเหมือนกันแต่จำนวนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโซนนั้น ๆ ว่าอะไรขายดี หรือขายไม่ดี ในสัปดาห์แรกเราต้องยอมรับกับ Waste ที่เกิดขึ้น แต่จะพยายามให้ไม่เกิน 1 สัปดาห์แรก แล้วเราจะเอาเดต้ากับของจริงมาดูว่าอันไหนเป็นจุดสมดุล ซึ่งถ้าเราส่งสินค้ามากเกินไปมันก็คือ Waste แต่ถ้าเราส่งน้อยเกินไปเราก็เสียโอกาสในการขาย ดังนั้นหลักในการทำธุรกิจเรายึดหลักไม่ทำอะไรให้เกินตัว เพราะฉะนั้น Waste ที่เจ็บตัวจึงไม่มี แต่อาจจะมีมาจากปัจจัยภายนอกโดยที่เราไม่คาดคิดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวปลายเดือนมีนาคม 2025 ที่ผ่านมา ทุกห้างฯ ทุกออฟฟิศ ให้ทุกคนออกจากตึกภายในบ่ายโมงในวันนั้น ของเราเพิ่งส่งไปเอง แล้วจะขายใคร ขายไม่ได้ด้วยเพราะห้างฯ ปิด พอเราตั้งสติ เข้าไปเก็บของออกมาได้ ก็ได้นำไปส่งสาขาที่ยังให้บริการได้ และนำไปบริจาคให้กับผู้ที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในศูนย์ต่าง ๆ แทน”

ตั้งเป้าหมาย 100 สาขา ในปี พ.ศ.2568

White Story ได้ขยายธุรกิจและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยายสาขาไปยังห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ออฟฟิศ โรงพยาบาล และยังร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลวิมุติ ที่ได้คอแลปกันปรับสูตรเมนูขนม เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานให้ได้รับประทานของอร่อยและดีต่อสุขภาพ การคอลแลปกับ Fruit Vinegar ที่เกิดจากความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น, น้ำยาล้างผัก Lamoon รวมถึงยังได้ขยายไลน์สินค้าไปยังผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ เช่น แก้วน้ำ กระบอกน้ำ หลอดน้ำ ถุงผ้า ฯลฯ เป็นต้น

ปัจจุบัน White Story มีทั้งสิ้น 92 สาขา มีสินค้ากว่า 300 SKUs แบ่งเป็น เบเกอรี่ 50% อาหาร 40% เครื่องดื่มและอื่น ๆ 10% โดยในปี พ.ศ. 2565 มีรายได้ 166 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2566 มีรายได้ 395 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ปิดยอดไปที่ 598.5 ล้านบาท โดยยอดขายก้าวกระโดดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2568 ตั้งเป้าว่าจะปิดยอดที่ 800 ล้านบาท ขยายไปให้ถึง100 สาขา

“ในปีนี้เราได้ขยายไปยังหัวเมืองต่าง ๆ มากขึ้น มีออฟฟิศเกิดขึ้นใหม่ ๆ และสถานที่ต่าง ๆ ที่ต่อคิวไว้ ส่วนโรงพยาบาลได้เริ่มแล้วที่โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ โรงพยาบาลพญาไท 3 โรงพยาบาลสินแพทย์ และโรงพยาบาลมหาราชที่นครราชสีมา (โคราช) คิดว่าเรายังขยายไปยังชุมชนในกรุงเทพฯ ได้อีกมาก ส่วนต่างจังหวัดในปีนี้มีแพลนจะไปเปิดสาขาที่ จ. ชลบุรี และ จ. นครราชสีมา ซึ่งเรามองว่ายังมีโอกาสขยายสาขาไปยังชุมชนที่สนใจ และชื่นชอบในสินค้าของเรา เพราะเราก็มองหาชุมชน โดยการฟังเสียงตอบรับจากลูกค้าด้วย ซึ่งนอกจากการขยายสาขาแล้ว เรายังต้องทำสาขาที่มีให้ดีและเติบโตต่อเนื่องด้วย”

กว่าจะมาถึงวันนี้ สามารถกล่าวได้เต็มปากว่า นอกจากแพสชัน จุดยืนของแบรนด์ คุณภาพของสินค้า และกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว การคำนึงถึงลูกค้า สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้ “White Story” อยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์

“การทำธุรกิจ ไม่มีอะไรโรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าเราตั้งใจดี คิดดี แล้วลงมือทำดี ซึ่งการลงมือทำเราต้องมีความอดทนอยู่ในนั้นด้วย ความอดทนจะทำให้เรามีสติ มีปัญญาเรียนรู้ได้ว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค และเราจะแก้ไขปัญหานั้นยังไง เราจะทำยังไงเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ทุก ๆ ปีมีภาวะที่แตกต่างกันออกไป อยากฝากถึงผู้ประกอบการด้วยกันว่าให้ สู้ ๆ และอดทนกับทุกสถานการณ์ เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะผ่านเข้ามาค่ะ” คุณวาศิณี สุรชาติชัยฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

และนี่คือเรื่องราวของ “White Story” ที่ไม่ได้เพียงแค่ขายอาหารให้ลูกค้าได้รับประทานอิ่มแล้วก็จบไป แต่ทว่าการส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ภายใต้จุดยืนที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พาธุรกิจประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Manager Online

เลขาฯป.ป.ช. ปัดไม่ทราบปมตั้งคณะไต่สวนสอบคลิปเสียง "อิ๊งค์" จ้อ "ฮุนเซน"

17 นาทีที่แล้ว

จุดจบ SAWAD..จุดตายหุ้นจำนำทะเบียนรถ / สุนันท์ ศรีจันทรา

24 นาทีที่แล้ว

ปตท.-บีไอจีร่วมเซ็นแก้ไขสัญญาผู้ถือหุ้น “มาบตาพุด แอร์โปรดักส์” ขยายการลงทุนโรงแยกอากาศแห่งที่ 2

25 นาทีที่แล้ว

มุมมองผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิต เมื่อ ‘Digital literacy’ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

27 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ข่าวคลอด ‘โบนัส สุกี้’ ดันหุ้น‘เอ็มเค’วันนี้วิ่งฉลุยพุ่งขึ้น 20.10 บาทต่อหุ้น

เดลินิวส์

จับตา ‘"พิชัย" ชง ครม.เคาะ "วิทัย รัตนากร"เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

PostToday

พิชัย เผย! คลังเตรียมจัด Soft loan 2 แสนล้าน! เยียวยาธุรกิจโดนพิษภาษีทรัมป์

PPTV HD 36

กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปั้น 233 ธุรกิจชุมชนในโครงการ ‘SMART Local ME-D’ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 100 ล้านบาท

สยามรัฐ

จุดจบ SAWAD..จุดตายหุ้นจำนำทะเบียนรถ / สุนันท์ ศรีจันทรา

Manager Online

ปตท.-บีไอจีร่วมเซ็นแก้ไขสัญญาผู้ถือหุ้น “มาบตาพุด แอร์โปรดักส์” ขยายการลงทุนโรงแยกอากาศแห่งที่ 2

Manager Online

บีโอไอ มองการเจรจาภาษีสหรัฐ 1 ส.ค.อาจไม่ใช่วันพิพากษา สงครามการค้าเป็นเกมยาว ชี้สหรัฐ พุ่งเป้าดึง 5 กลุ่มลงทุน มั่นใจไทยแข่งขันได้

BTimes

ประเด็นร้อนเศรษฐกิจรอบวัน 14 ก.ค.68

สยามรัฐ

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาส 2 เพิ่ม 0.2% จากการส่งออกและการค้าออนไลน์โต

Manager Online

“จตุพร” สั่งลุยมาตรการช่วยชาวสวนลำไย ดันส่งออก แปรรูป กระจายในประเทศ

Manager Online

ทีพีไอ โพลีน ติดอันดับหลักทรัพย์ ESG100 เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน

Manager Online
ดูเพิ่ม
Loading...