สามเส้า‘พท.-รทสช.-กธ.’ ชิง‘รองประธานสภาฯ’
ในสถานการณ์ที่รัฐบาลตกอยู่ในสภาวะ“สุญญากาศ” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ไม่ต่างจาก“ดุลอำนาจ”ภายในขั้วรัฐบาลภายใต้สมการรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้ “ทุกเสียง”ในสภาฯมีราคาค่างวดในการต่อรอง “แลกโหวต” รวมถึง “แสดงตน”ในวาระต่างๆ
เช่นนี้จึงไม่แปลก หากความเคลื่อนไหวในขั้วรัฐบาลเวลานี้จะเต็มไปด้วยสารพัดเกมต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมว โดยเฉพาะบางโควตาที่ยังคาราคาซัง
ต้องจับตา การนัดหมายพรรคร่วมรัฐบาลรับประทานอาหารในวันที่ 22 ก.ค.นี้ โดยคาดว่าน่าจะมีการพูดคุยประเด็นสำคัญ ทั้งการกำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการควบคุมเสียงเป็นองค์ประชุมเพื่อแก้ปัญหาประชุมล่ม รวมถึงการเจรจาจัดสรรโควตารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ที่จนถึงเวลานี้ ยังเป็นข้อถกเถียงว่า เป็นของพรรคใด
ในมุมของ “พรรคเพื่อไทย” หยิบยกประเด็นถกเถียงไล่ตั้งแต่โควตาประธานสภาฯ คือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ในฐานะสส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ สรุปแล้วเป็น “โควตาพรรคเพื่อไทย” หรือเป็น “โควตาคนกลาง” เพื่อยุติปัญหาเมื่อครั้งจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล เมื่อปี 2566 กันแน่
มุมนี้ มีการมองว่า หากเป็นชอยส์หลัง คือเก้าอี้ “ประธานวันนอร์” เป็นโควตาคนกลาง พรรคเพื่อไทย ที่แม้จะมี “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ในโควตาภาคเหนือ อยู่แล้ว 1 คน
แต่ก็ควรได้รองประธานสภาฯคนที่สอง เพิ่มอีก 1 โควตา หากเทียบกับจำนวน สส.ที่ห่างกันหลายเท่าตัว ระหว่าง “พรรคลำดับหนึ่ง” และ “พรรคลำดับสอง”ในขั้วรัฐบาล
สอดคล้องกับความเคลื่อนไหว จากกลุ่ม “สส.อีสาน” พรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจน ว่าต้องการได้โควตาดังกล่าวไปอยู่ในการครอบครอง หากยึดตามจำนวนสส.อีสาน ที่มีอยู่ในเวลานี้
เห็นชัดจากท่าทีของ “สุทิน คลังแสง”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มสส.อีสาน ยืนกรานว่า“หากคิดแบบโควตาก็ต้องเป็น สส.อีสาน”
เช่นเดียวกับ“วิสุทธิ์ ไชยณรุณ”สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือประธานวิปรัฐบาล ที่มองว่าโควตารองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่หลังจากนี้ จะมีการเจรจาอย่างไร การเมืองก็เป็นไปได้หมด.
ทว่า ในมุมของ“สรวงศ์ เทียนทอง”รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค กลับมองว่า หากดูตามโควตาแล้ว อาจเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากเป็นพรรคอันดับสองในพรรคร่วมรัฐบาล
มุมนี้อาจเทียบเคียงจากเดิม ที่โควตาดังกล่าวเป็นของพรรคภูมิใจไทย เช่นนี้ เมื่อภูมิใจไทยถอนตัวร่วมรัฐบาล โควตาดังกล่าวก็ต้องเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลลำดับถัดไป
ทว่าต้องไม่ลืมสถานการณ์ในพรรครวมไทยสร้างชาติเวลานี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะ “พรรคอกแตก” สส.แยกออกเป็น2ขั้วระหว่าง “กลุ่ม18สส.” สายนายทุน และ สาย“หัวหน้าพี”
เห็นชัดจากกระแสข่าวที่ว่า “กลุ่ม18” ต้องการเสนอชื่อ “แด๊ก” ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อ ชิงตำแหน่ง ขณะที่ฝั่ง“หัวหน้าพี”ต้องการเสนอ “สส.มุ่ง” อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน
เช่นนี้จึงยิ่งเป็นการสะท้อนถึงความไม่เป็นเอกภาพในพรรครวมไทยสร้างชาติ เกิดคำถามว่า จะเป็นการลดทอนอำนาจต่อรองหรือไม่อย่างไร
หากเป็นเช่นนี้ก็อาจไปเข้าทาง“พรรคกล้าธรรม” ซึ่งอยู่ในลำดับถัดไป ก่อนหน้านี้มีการโยนชื่อแคนดิเดตรองประธานสภาฯ ออกมาเช่นเดียวกัน
ล่าสุด ยังมีท่าทีของ“ธรรมนัส พรหมเผ่า” ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ให้สัมภาษณ์ในวันสัมมนาพรรค เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ยืนกรานเช่นเดียวกันว่า “พรรคกล้าธรรมมีสิทธิเสนอ”
ที่น่าสนใจคือ “ธรรมนัส” พยายามสื่อสารว่า ช่วงเช้าวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้พบกับ“ทักษิณ ชินวัตร”นายใหญ่พรรคเพื่อไทยในวงพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหามาตรการรับมือกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา ที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งไปในนามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พรรคกำกับดูแล ขณะเดียวกัน ตนเองได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในฐานะเคยดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์
ท่าทีของ“ผู้กอง” นอกจากจะเป็นการสื่อสารในฐานะ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ของพรรคกล้าธรรมแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญ ที่“นายใหญ่”เพื่อไทย ยังคงเรียกใช้บริการ เพื่อสู้เกมในสภาฯ โดยเฉพาะการเปิดฟาร์มดูดสส.ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ ส่วนจะตามมาด้วยรางวัลต่างตอบแทนเพื่อซื้อใจ“ซุ้มผู้กอง” หรือไม่ ต้องติดตาม
ผ่าดุลอำนาจรองประธานสภาฯ ในห้วงที่ต่างฝ่ายต่างมีเป้าประสงค์ในการดันวาระสำคัญ เพื่อปูทางการเมืองในอนาคต หากยึดตามคำสั่งที่ประธานสภาฯ มอบหมายหน้าที่ไปเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2567
ในส่วนของ “พิเชษฐ์ ” รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง มีหน้าที่ และอำนาจในงานที่เกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรอง กระทู้ถาม และญัตติ การจัดระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวกับกระทู้ถามและญัตติ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม รับรองรายงานการประชุม และเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่เรื่องที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)
ขณะที่ในส่วน “ภราดร ปริศนานันทกุล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง จากพรรคภูมิใจไทย มีหน้าที่และอำนาจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ การจัดระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังเลือกรองประธานสภาฯ คนที่สอง ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ประธานสภาฯ ว่าจะแบ่งงานใหม่ เพื่อเฉลี่ยดุลอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร
แน่นอนว่าในสภาวะที่รัฐบาลตกอยู่ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ ย่อมเป็นโอกาสให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลเปิดเกม ยื่นเงื่อนไขต่อรองยื่นหมูยื่นแมว ดังที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้!