ถ้าสหรัฐฯแบนส่งชิปAIมาไทยจริงจะกระทบอย่างไร?เสียโอกาสเศรษฐกิจแค่ไหน?
ในวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ออกมาประกาศว่ากำลังมีแผนที่จะจำกัดการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปยังมาเลเซียและไทย โดยเฉพาะชิปจากบริษัทชั้นนำอย่าง Nvidia เพื่อป้องกันไม่ให้เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงถูกลักลอบส่งต่อไปยังจีน ซึ่งสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการขายชิป AI ขั้นสูงให้กับจีนโดยตรงมาเป็นเวลานานแล้ว
รายงานระบุว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยี AI ผ่านตัวกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซียและไทย แม้ว่าสหรัฐฯ จะออกมาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนตั้งแต่ปี 2022 และได้ขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศ แต่ก็ยังมีความกังวลว่าชิปสำคัญอาจเล็ดลอดไปยังจีนผ่านเส้นทางทางอ้อม
ปัจจุบัน มาเลเซียกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญในอุตสาหกรรมชิป โดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น Oracle ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ข้อมูลในประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลการค้าแสดงให้เห็นว่าการส่งออกชิปไปยังมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลมาเลเซียจะให้คำมั่นว่าจะเข้มงวดในการตรวจสอบ แต่สหรัฐฯ ยังคงวิตกต่อความเสี่ยงที่ชิปจะถูกส่งต่อไปยังจีน
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ เพิ่มความเข้มงวด คือคดีลักลอบส่งชิป Nvidia มูลค่า 390 ล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเซิร์ฟเวอร์ผ่านมาเลเซียไปยังจีนโดยผิดกฎหมาย กรณีนี้เน้นย้ำว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นจุดอ่อนในระบบควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ
สำหรับไทย แม้จะไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยตรงในคดีลักลอบส่งเซิร์ฟเวอร์ AI ที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ แต่การที่ไทยถูกเพิ่มชื่อในมาตรการจำกัดใหม่นี้ สะท้อนถึงความกังวลของสหรัฐฯ ว่าประเทศไทยอาจกลายเป็นเส้นทางผ่านของการลักลอบนำเข้าเช่นกัน
ที่มาของมาตรการ: AI Diffusion Rule
มาตรการควบคุมนี้มีรากฐานมาจาก "AI Diffusion Rule" หรือ "Framework for Artificial Intelligence Diffusion" ซึ่งรัฐบาลไบเดนได้ออกในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่ง กฎดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเทคโนโลยี AI ขั้นสูง โดยเฉพาะวงจรรวมสำหรับการประมวลผล (advanced computing ICs) เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
กฎ AI Diffusion แบ่งประเทศออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- Tier 1: กลุ่ม 17 ประเทศและไต้หวัน สามารถนำเข้าชิป AI ได้โดยไม่จำกัด
- Tier 2: ประมาณ 120 ประเทศ รวมถึงไทยและมาเลเซีย สามารถนำเข้าชิป AI ได้ในปริมาณที่จำกัด
- Tier 3: ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ถูกห้ามนำเข้าโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามรัฐบาลทรัมป์ได้ยกเลิก AI Diffusion Rule ในเดือนพฤษภาคม 2025 และอาจเตรียมออกกฎชุดใหม่มาแทนที่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้มงวดยิ่งขึ้นต่อการควบคุมการส่งออกไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผลกระทบที่ไทยต้องเผชิญจากข้อจำกัดการส่งออกชิป AI ของสหรัฐฯ
Innovest X บริษัทหลักทรัพย์ในเครือ SCBX ประเมินว่า หากกฎใหม่ของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้จริง ไทยจะเผชิญผลกระทบที่สำคัญในหลายมิติ ดังนี้
1. จำกัดการเข้าถึงชิป AI ขั้นสูง: บริษัทในไทยอาจต้องขอใบอนุญาตพิเศษในการนำเข้าชิป AI โดยเฉพาะชิปจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Nvidia ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการจัดหาชิปเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อระยะเวลาการจัดส่ง
2. กระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล: โครงการลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Center) และการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในภาคอุตสาหกรรมของไทยอาจต้องเผชิญกับความล่าช้าหรือถูกชะลอออกไป เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงชิปที่จำเป็นต่อการประมวลผลขั้นสูง
3. กระทบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของการส่งออกไทย (คิดเป็น 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือราว 45,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2022) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าถึงชิปขั้นสูงที่ยากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่
4. กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน: ข้อจำกัดนี้จะทำให้ผู้ผลิตในไทยเสียเปรียบในเวทีการแข่งขันระดับโลก โดยเฉพาะในสินค้าประเภท AI อัจฉริยะและอุปกรณ์ IoT ที่ต้องพึ่งพาชิปขั้นสูง ส่งผลต่อการพัฒนาและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย
5. กระทบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก: ไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตของเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขั้นสูง (มูลค่าการส่งออกกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส) อาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญและชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในระยะกลางถึงยาว
ช่องทางผ่อนปรนและความเสี่ยงระยะยาว
ทั้งนี้ แม้ว่าข้อจำกัดใหม่จะเข้มงวด แต่ร่างกฎของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางผ่อนปรนบางประการ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น ได้แก่
- การส่งชิปจากบริษัทสหรัฐฯ โดยไม่ต้องขออนุญาตทันที: บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ หรือในประเทศพันธมิตรยังสามารถส่งออกชิป AI ไปยังไทยได้ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนหลังจากกฎมีผลบังคับใช้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยมีเวลาปรับตัว
- การพิจารณายกเว้นกรณีเฉพาะ: สหรัฐฯ อาจอนุญาตข้อยกเว้นเป็นรายกรณีเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสูง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่องทางผ่อนปรนในช่วงแรก แต่ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของสหรัฐฯ ยังถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลต่อการวางแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีของไทยในระยะยาว
หากข้อจำกัดเข้มงวดขึ้นหรือขยายระยะเวลานาน ไทยอาจเผชิญความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างในการแข่งขันกับประเทศที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างเสรีมากกว่า และอาจถูกลดบทบาทในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในอนาคต