ธุรกิจอาหารไทยแนะทางรอดฝ่าวิกฤติ
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 8 กรกฎาคม 2568 เวลา 1.41 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 7 ก.ค. – เคทีซี จัดเวทีเสวนา “เสิร์ฟแผนรอด: สูตรลับร้านอาหารไทยฝ่าวิกฤต” เชิญผู้บริหารแบรนด์อาหารชั้นนำร่วมแบ่งปันกลยุทธ์ปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจในยุคเศรษฐกิจผันผวน
นายสุรเวช เตลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด ผู้บริหารเชนร้านอาหาร Mo-Mo-Paradise เผยเคล็ดลับการอยู่รอดและเติบโตทุกวิกฤติ ด้วยการสร้างรากฐานให้แข็งแกร่งในทุกสาขา ขยายกิจการอย่างรัดกุม พร้อมเงินทุนสำรองและกระแสเงินสดที่เหมาะสม เพื่อรับมือความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ผู้บริโภคยุคดิจิทัลให้ความสำคัญกับสุขภาพควบคู่ความอร่อย รวมถึงคาดหวังข้อมูลที่เป็นจริงจากสื่อดิจิทัลที่เน้นความรวดเร็ว พร้อมกล่าวถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ ระบบ POS, ERP และ AI เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลผู้บริโภคในเครือ Mo-Mo-Paradise
นายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยแนวคิดการวางรากฐานแบรนด์ Maguro ในตลาดอาหารญี่ปุ่นกลุ่มพรีเมียมแมส ความแตกต่างโดยเน้นวัตถุดิบคุณภาพสูงนำเข้าจากญี่ปุ่น กำหนดราคาที่เข้าถึงได้ และเน้นสร้างประสบการณ์ มอบความคุ้มค่าให้กับลูกค้า พร้อมแบ่งปันกลยุทธ์การขยายสาขาและการบริหารจัดการแบรนด์ต่างๆ โดยนำกลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” มาใช้ในช่วงเริ่มต้น เน้นทำเลที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง จนสามารถทำให้ Maguro กลายเป็น “ร้านประจำของชุมชน” ปัจจุบันมีมากกว่า 6 แบรนด์ในเครือ ตั้งเป้าขยายสาขาประมาณ 13-15 สาขาต่อปี หัวใจสำคัญของความสำเร็จ คือ การมีจุดมุ่งหมายของแบรนด์ (Brand Purpose) ที่ชัดเจน ยึดหลักปรัชญา “Give More” หรือแนวคิด “สมการ 100+1” คือการมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งในทุกมิติ ทั้งคุณภาพ รสชาติ และประสบการณ์การบริการ ตลอดจนการดูแลทีมงานและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และมีคุณค่าต่อสังคม
ด้านนางสาววริษฐา พัฒนรัชต์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวว่า เคทีซีสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารผ่าน 4 กลยุทธ์ คือ 1. การเติบโตไปด้วยกัน เคทีซีกับพันธมิตรร้านอาหาร เน้นการ “ร่วมคิด ร่วมทำ” เพื่อให้โปรโมชันตอบโจทย์ทั้งผู้ถือบัตรและพันธมิตร 2. เน้นข้อมูลเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ พบว่า แม้ยอดเฉลี่ยต่อเซลส์สลิปลดลง แต่ความถี่การใช้และจำนวนผู้ใช้กลับเพิ่มขึ้น 3. เน้นความคุ้มค่าด้วยคะแนน KTC FOREVER หมวดร้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีการใช้คะแนนสะสม KTC FOREVER สูงที่สุด สมาชิกรู้สึกถึง “ความคุ้มค่าในทุกมื้อ” ขณะที่ร้านอาหารได้รับการกระตุ้นยอดขายจากการตัดสินใจซื้อแบบฉับพลัน 4.ใช้ช่องทางดิจิทัล สื่อสารตรงใจ ตรงกลุ่ม เคทีซีมีพันธมิตรร้านอาหารกว่า 2,000 ร้านค้า.-111-สำนักข่าวไทย