Sizzler ดึงจุดแข็ง “สลัดบาร์” เพิ่มเมนูซุปเปอร์ฟู๊ด-ไอศกรีม เปิดโปรจ่าย 749 กินได้ 5 ครั้ง
ถ้าไปถามแบรนด์ใหญ่กลุ่มธุรกิจอาหารตอนนี้ แม้ตลาดจะยังไปต่อได้ แต่สิ่งที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญคือ ตลาดเฮลท์แอนด์เวลเนส ถ้าไปดูเจาะจงอย่างธุรกิจฟิตเนสมูลค่าตลาดกลุ่มนี้แตะ 434,000 ล้านดอลลาร์ และยังเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี นี่คือสัญญาณว่า ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญกับสุขภาพแบบองค์รวม แต่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเท่านั้น ยังรวมถึง “การกิน” ที่ดีต่อสุขภาพในชีวิตประจำวันด้วย
ความสนใจต่อสุขภาพและโภชนาการ ทำให้หลายธุรกิจต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้บริโภค
กรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่นการปรับภาพลักษณ์ของ Sizzler แบรนด์ร้านอาหารที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ที่ตอนนี้ท่ามกลางธุรกิจอาหารแข่งเดือด แต่แบรนด์ยังมีการเติบโตของลูกค้าสูงถึง 24% และยังพัฒนาแข็งอย่าง “สลัดบาร์” โฉมใหม่ให้เข้าถึงลูกค้ามากกว่าเดิม
TODAY Bizview ได้พูดคุยกับ ‘อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์’ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด ถึงทิศทางการปรับตัวของเชนร้านสเต๊กอย่าง Sizzler ให้ฟัง
‘อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์’ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา Sizzler ต้องการที่จะรีแบรนด์สลัดบาร์ เพราะแม้ว่าร้านจะคือร้านสเต๊ก แต่ภาพจำที่คนจำเราได้มากกว่าก็ยังเป็น ‘สลัดบาร์’ ทำให้แบรนด์กลับมาคิดว่าสลัดบาร์ของเราทำอะไรได้บ้าง
ก่อนจะพบว่า แม้ตลาดอาหารจะฟื้นตัวต่อเนื่องหลังโควิด แต่สิ่งที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญคือ ตลาดเฮลท์แอนด์เวลเนส ที่รวมถึงเรื่องการกินที่ดีต่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน
Sizzler เลือกตอบสนองแนวโน้มนี้ ผ่านการยกระดับ “สลัดบาร์” ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์มาตั้งแต่ต้น ให้กลายเป็นพื้นที่ของ Superfood และทางเลือกเพื่อสุขภาพ โดยไม่ลดทอนประสบการณ์ความอร่อยหรือความคุ้มค่า
โดยในปีนี้ แบรนด์วางแผนเพิ่มเมนู Superfood ลงในสลัดบาร์ทุกไตรมาส มีทั้งควินัว บัควีท มะพร้าวอ่อน และอื่นๆ ไปจนถึงผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้ม “Have a superfood day” ที่กำลังเติบโต
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองเมนูใหม่จากวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ผักเคลจากโครงการหลวง หรือแตงโมปั่นที่ใช้ทั้งเนื้อและเปลือก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดของเสียจากอาหาร โดยการสนับสนุนเกษตรกรไทย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความคาดหวังของกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชันใหม่ที่ใส่ใจ sustainability มากขึ้น
[ ทำโปรสลัดบาร์ จ่าย 749 ทานได้ 5 ครั้ง ]
อย่างไรก็ตาม สำหรับสลัดบาร์ของ Sizzler ถือเป็นหนึ่งในรายการอาหารหมวดบุฟเฟ่ต์ ก็ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากบุฟเฟ่ต์ แบรนด์อื่นคือ ‘ไม่มีการจำกัดเวลา’ ไม่มีแรงกดดันจากรอบการให้บริการ ลูกค้าสามารถ “Customize” ได้ตามใจ
มากไปกว่านั้น แบรนด์ได้ลองทำโปรสลัดบาร์ โดยจ่าย 749 บาท ทานได้ 5 ครั้ง ประหยัดจากเดิมราวๆ 30% โปรนี้สำหรับสมาชิก ซึ่งช่วยสร้าง Loyalty และเสริมความถี่ในการกลับมาใช้บริการมากขึ้นด้วย
‘อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์’ ยังบอกอีกว่า แบรนด์ยินดีที่ลูกค้าบางคนเข้ามาสั่งเมนูสเต๊ก โดยที่ให้ร้านห่อสเต๊กกลับบ้าน และตัวเองเอ็นจอยกับสลัดบาร์ ซึ่งก็ช่วยลูกค้าในเรื่องความคุ้มค่าไปได้อีก เพราะถ้าเข้ามากินสลัดบาร์เพียวๆ ก็ตก 159 บาท แต่ถ้าเพิ่มอีก 80 บาทก็ได้สเต๊กเพิ่มเข้าไปด้วยก็จะช่วยให้ลูกค้าคุ้มค่ากว่าเดิม
Sizzler พยายามสร้างการจดจำในฐานะ “ผู้นำสลัดบาร์” โดยไม่ทิ้งจุดแข็งด้านสเต๊กคุณภาพ นอกจากนี้ยังเสริมประสบการณ์ด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ไอศกรีมโยเกิร์ตไขมันต่ำที่รวมอยู่ในไลน์สลัดบาร์โดยไม่คิดราคาเพิ่ม ซึ่งช่วยเสริม perception ว่าแบรนด์ให้คุณค่าเกินราคา (value for money) ในแบบที่ไม่ต้องแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว