นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เห็นด้วยรัฐบาลเตรียมผลักดันมาตรการ Cash Rebate สนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์และเพลงไทย เพื่อยกระดับคุณภาพ
นายเขมทัต พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เปิดเผยกับทีมข่าวสำนักข่าววันนิวส์ เกี่ยวกับกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีแผนจะส่งเสริมกองถ่ายภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ไทย ด้วยมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) ว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันอย่างมากระหว่างกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ กับ กองถ่ายละคร ซีรีส์ในประเทศ
ส่วนตัวเชื่อว่า กองถ่ายต่างประเทศเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในไทย เฉลี่ยปีละไม่ถึง 20 เรื่อง และเมื่อมา 1 ครั้งแล้วก็จะหายไปหลายปีกว่าจะกลับเข้ามาถ่ายทำใหม่
ขณะที่ กองถ่ายไทย ซึ่งมีอยู่นับ 100 กองถ่ายนั้น ถ่ายทำละคร ซีรีส์กันแทบทุกวัน และในระยะเวลา 1 ปีก็มีผลงานออกมาหลายร้อยเรื่อง ซี่งแต่ละเรื่องก็สามารถสอดแทรกซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย ทั้งวัฒนธรรมประเพณี เครื่องแต่งกาย อาหาร สถานที่ และอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ละครเรื่องแม่หยัว หรือละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรมผ้าไทยได้อยากมาก และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปที่ จ.พระนครศรีอยุทธยา จำนวนมาก เกิดเป็นการสร้างรายได้จากการซื้อสินค้า ของชำร่วย และท่องเที่ยวต่าง ๆ
แต่รัฐบาลกลับมีมาตรการส่งเสริมเฉพาะกองถ่ายต่างประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยค่อนข้างตกใจมาก
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะให้การสนับสนุนกองถ่ายไทยก็ถือว่ามาถูกทาง แต่หากจะให้ถูกจุดด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่าสิ่งหนึ่งที่ควรต้องแก้ไข คือ โครงสร้างระบบราชการ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการเยอะมาก เช่น กรรมการตรวจสอบ กรรการอุทธรณ์ กรรมการกำกับดูแล ทำให้ระบบต่าง ๆ มีความยุ่งยาก ซับซ้อน และดูเหมือนเป็นการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการแต่งตั้งคน เพื่อมา “กำกับดูแล” เท่านั้น แต่ไม่ได้มีเรื่องการส่งเสริมเท่าที่ควร ดังนั้น ในร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นผู้ผลักดันนั้น จึงควรต้องมาดูรายละเอียดเนื้อหาการส่งเสริมและสนับสนุนแบบรายมาตราให้มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะยิ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทย
นายเขมทัต ยังสะท้อนถึงรูปแบบมาตรการสนับสนุนกองถ่ายในต่างประเทศอีกด้วยว่า จะมีลักษณะส่งเสริมเป็นลำดับขั้น คือ นอกจากจะมี Cash Rebate ให้กองถ่ายแล้ว หากมาถ่ายซ้ำ ถ่ายบ่อย หรือเปลี่ยนสถานที่จากภาคเหนือไปภาคใต้ ก็จะมีการสะสมเป็น Credit Rebate เพื่อไว้ใช้เป็นส่วนลดเพิ่มเติมได้ อีกทั้งนักแสดงก็ได้ Tax Rebate ด้วย ซึ่งรัฐบาลควรนำรูปแบบดังกล่าวมาปรับใช้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีสายงานที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อ หรือ Production House นับพันแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีศักยภาพ จนประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นจุดนัดพบความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity เพราะสามารถสร้างสรรค์งานได้ทุกรูปแบบ แต่ทุกวันนี้ Production House ต้องพยายามหาทางรอดกันเอง ด้วยการไปขายงานต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาดูว่า Production House ของไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง แล้วประชาสัมพันธ์ออกไปให้ทั่วโลกรู้ เพื่อส่งเสริมเป็นมาตรการให้กองถ่ายต่างประเทศเข้ามาจ้างงาน Production House รวมถึงควรนำไปใช้กับการส่งเสริมกองถ่ายไทยในประเทศไทยด้วย
นายเขมทัต ยังบอกอีกว่า ส่วนตัวยังอยากให้รัฐบาลส่งเสริมการปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา พราะปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากให้ความสนใจอยากจะเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ หรือยูทูบเบอร์ แต่กลับยังไม่มีแนวทางการสนับสนุนอย่างชัดเจน หากรัฐบาลสนับสนุนด้วยการให้ทุนการศึกษาวิจัย หรือสร้างสตูดิโอ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีพื้นที่สำหรับใช้พัฒนาทักษะ ฝึกคิดโปรเจกต์ ฝึกเขียนบท และสร้างสรรค์การนำเสนอใหม่ๆ เกิดเป็นแนงทางที่ชัดและเมื่อจบการศึกษาออกมาก็สามารถจะต่อยอดกับสายอาชีพได้ทันที