“ราช กรุ๊ป” ลุยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ป้อนไฟฟ้าสะอาด ดึงนักลงทุนเข้านิคมฯ
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มุ่งเน้นสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
ด้วยการดำเนินงาน 3 แนวทางได้แก่ ลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% (เทียบกับปีฐานปี 2558) เพิ่มกำลังผลิตพลังงานทดแทนและธุรกิจสีเขียวให้ได้ 30% ของกำลังการผลิตรวม ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2578 รวมทั้ง ชดเชยหรือเพิ่มการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้ได้ร้อยละ 1% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย
การขับเคลื่อนธุรกิจของ ราช กรุ๊ป ได้ให้ความสำคัญกับ Energy Transition นอกเหนือจากการพึ่งพิงการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังลิตไฟฟ้าหรือ PDP ทั้งในประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม รวมทั้งเครือรัฐออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีแผนศึกษาเกี่ยวกับพลังงานในอนาคต (Future Energy) ไม่ว่าจะเป็นกรีนไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ หรือ Small Modular Reactor; “SMR” เพื่อสร้างการเติบโตจากธุรกิจที่หลากหลาย และเสริมสร้างมูลค่า เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ และการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี SMR ในปีนี้ บริษัทได้เริ่มนำเสนอกิจกรรมและการเตรียม ความพร้อมเพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับทราบ โดยการจับมือกับพันธมิตรอย่าง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI) เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาโครงการ และหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพราะเห็นว่าโรงไฟฟ้า SMR อาจจะมาเร็วกว่าร่างแผนพีดีพี ที่มีการบรรจุเข้าระบบไว้ในช่วงปี 2579-2580
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าพลังงาน ความต้องการใช้พลังงานสะอาดของนักลงทุนที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero และต้องการความเสถียรหรือความมั่งคงในระบบไฟฟ้า แม้ว่าไทยจะมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ตามร่างแผนพีดีพีก็ตาม แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ความเสถียรจากการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนได้
ดังนั้น เทคโนโลยี SMR จึงเป็นทางออกให้กับนักลทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะ Data Center ที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียวและมีความเสถียร สะท้อนได้จากการดำเนินงานของ SPI เองก็เห็นความสำคัญในจุดนี้ ที่ต้องการมีโรงไฟฟ้า SMR ไปตอบโจทย์ให้กับลูกค้าในสวนอุตสาหกรรมของ SPI ที่ปัจจุบันดำเนินการอยู่ 4 แห่ง หรืออาจจะรวมไปถึงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่อยู่ราว 2,000 ไร่ จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้ารายบุรี (RG) ที่จะหมดอายุสัญญา PPA สิ้นปีนี้
หากมีการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวเชื่อว่าจะแข่งขันได้ เพราะมีทุกอย่างพร้อมรองรับอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่ร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดทำว่าจะมีความชัดเจนออกมาอย่างไร
ส่วนพื้นที่อีก 1,000 ไร่ จะบริหารจัดการให้เป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็น Zero Waste สอดรับกับกระแส Carbon Neutrality และเพื่อจะดึงการลงทุน ในพลังงานอนาคตเข้ามาในประเทศไทย จึงจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมด้านการจัดการพื้นที่ การเตรียม Infrastructure และการเชิญผู้ลงทุนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยคาดว่าประมาณปลายปีนี้จะมีแผนที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ และพิจารณาเป็นแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทแล้ว
ขณะที่การขับเคลื่อนกรีนไฮโดรเจน ปัจจุบันได้ร่วมมือกับ BIG ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจนจากโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้า (Solar Floating Project) ขนาด 2 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการติดตั้งอยู่แล้วในพื้นที่อ่างเก็บนํ้าดิบของโรงไฟฟ้าราชบุรี เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง เป็นการหาแนวทางการพัฒนาโครงการที่สามารถเป็นไปได้ในพื้นที่โรงไฟฟ้าหลังจากหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ในปี 2568 นี้
รวมถึงได้ร่วมกับทาง บริษัท เอไอเอฟ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท โรนิตรอน จำกัด ศึกษาและแสวงหาโอกาสในการพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนและกรีนแอมโมเนียจากพลังงานหมุนเวียนใน สปป. ลาว เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและการผลิตไฟฟ้าในอนาคตอีกด้วย
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 10,815 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 7,842.61 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 72.52% และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2,972.22 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 27.48% เป็น โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ แล้ว 9,448.83 เมกะวัตต์ และมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา (pipeline) รวม 1,366 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียน ถึง 1,354 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 99% ของโครงการใน pipeline ทั้งหมด โดยในปี 2568 บริษัทได้จัดสรรเงินลงทุนตามกรอบไว้ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นทยอยเข้าระบบราว 10 เมกะวัตต์