ไทยเสี่ยงวิกฤต'Twin Influx'สินค้าจีน-มะกันทะลัก หากลดภาษีสหรัฐฯเหลือ0%
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 กำลังเผชิญกับสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน แรงส่งทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเริ่มอ่อนแรง ขณะที่ความไม่แน่นอนด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกยังคงกดดันการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกอย่างความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นความเสี่ยงระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าใหม่ได้ทันเวลา
อัตราภาษี 36% นี้สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับอัตราที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าอื่น และสูงกว่าระดับที่เวียดนามสามารถต่อรองได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอยู่ที่ 20% สำหรับสินค้าปกติ และ 40% สำหรับสินค้าต้องสงสัยว่าถูกส่งผ่านเวียดนามเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ
การเจรจารอบแรกระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จ แต่รัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าที่ปรับปรุงเพิ่มเติม และกำลังเร่งเดินหน้าเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ลดลงจากเดิม
กรณีเลวร้าย: สูญเสียส่งออกกว่า 1.62 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัยกรุงศรีประเมินว่า หากการเจรจาล้มเหลว และสหรัฐฯ เดินหน้าจัดเก็บภาษีนำเข้าที่ 36% จริง ไทยอาจสูญเสียมูลค่าส่งออกสูงถึง 162,100 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่
- กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า
- กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
- กลุ่มยางและพลาสติก
ผลกระทบนี้จะยิ่งซ้ำเติมภาคส่งออกที่เริ่มอ่อนแรงตั้งแต่ต้นปี และบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในช่วงเวลาที่ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัว
อีกทางเลือก: ดีลแบบเวียดนาม เสี่ยงเกิด Twin Influx
อีกแนวทางที่อยู่ระหว่างการเจรจาคือ การตกลงลดภาษีสินค้านำเข้าจากไทยลงเหลือ 20% เท่ากับเวียดนาม โดยที่ไทยยินดีเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐฯ เข้ามาได้โดยไม่มีภาษีนำเข้า (0%) หากข้อตกลงนี้สำเร็จ จะช่วยจำกัดความเสียหายจากการส่งออกเหลือเพียง 17,400 ล้านบาท หรือลดลงจากกรณีเลวร้ายถึง 9.3 เท่า
อย่างไรก็ตาม ผลดีในระยะสั้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงระยะยาว จากการหลั่งไหลของสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือราว 188,300 ล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่มที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ซึ่งถือเป็นกลุ่มอ่อนไหวสูง เนื่องจากภาคเกษตรกรรมไทยมีการจ้างงานสูงถึง 28.6% ของแรงงานทั้งหมด (ข้อมูลปี 2567)
กลุ่มสินค้านำเข้าอื่นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลัก ได้แก่
- ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง
- สิ่งทอ
- เครื่องหนังและรองเท้า
- ยางและพลาสติก
การเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ภาวะที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “Twin Influx” ซึ่งหมายถึงการไหลทะลักของสินค้าจากทั้งสหรัฐฯ และจีนเข้าสู่ตลาดไทยพร้อมกัน จากแรงกดดันของสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ ที่ไทยตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกดดันมากกว่ามีอำนาจต่อรอง
ไทยต้องวางยุทธศาสตร์เชิงรุก ลดพึ่งพาตลาดใหญ่ เร่งกระจายความเสี่ยง
จากสถานการณ์ทั้งหมด ไทยมีข้อจำกัดในการตอบโต้เชิงการค้า เนื่องจากไม่สามารถใช้มาตรการภาษีสวนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ระยะยาว ดังนี้
- กระจายตลาดส่งออกใหม่ ลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และจีน โดยหันไปหาตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา หรืออเมริกาใต้
- เร่งเจรจาข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และสร้างความแตกต่างของสินค้าไทย
- ส่งเสริบนวัตกรรมและการแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมการค้าใหม่
การตัดสินใจทางนโยบายในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าอาจกลายเป็นจุดชี้ชะตาของทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะกลางถึงระยะยาว ทั้งในแง่โครงสร้างการค้า ความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงของอุตสาหกรรมภายในประเทศ