หมอปาดนํ้าตากลางศาล!ให้การป่วยทิพย์
ไต่สวนคดีชั้น 14 ครั้งที่ 5 ความจริงปรากฏเพียบ "ทักษิณ" เสี่ยงกลับคุกเพิ่ม หมอถึงขั้นปาดน้ำตา ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล เผยบางครั้งเห็นผู้ป่วยวิกฤตติดเตียงเป็นตายเท่ากันนั่งบนโซฟา แถมก่อนเข้าห้องวีไอพีถูกริบโทรศัพท์มือถือ ราชทัณฑ์ไม่เคยติดต่อสอบถามอาการ "ชาญชัย" ชูใบเสร็จค่ารักษา พิลึกไม่มีค่ายา
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 เป็นการสืบพยานแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ คือแพทย์ใหญ่คนปัจจุบัน แพทย์ใหญ่ในอดีต และทีมแพทย์รักษานายทักษิณ รวม 6 คน
โดยก่อนเข้าห้องพิจารณา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำใบเสร็จการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 มาแสดงต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นใบเสร็จการรักษาตัวของนายทักษิณ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.66 ถึง 19 ก.พ.67 รวม 26 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,475,276 บาท ซึ่งผู้บังคับบัญชาของตำรวจได้สั่งให้โรงพยาบาลตำรวจรายงานว่า กรณีนายทักษิณเข้าพักรักษาตัวใช้สิทธิประเภทใด ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ต้องขังเป็นจำนวนเงินเท่าใด ผู้ใดเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งขอเอกสารการใช้สิทธิที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เขาบอกว่า นายทักษิณย้ายจากราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 23 ส.ค.66 แต่มีการเก็บเงินในวันที่ 4 ก.ย.66 เป็นครั้งแรก ซึ่งมีการเก็บค่าสารอาหารทางเส้นเลือด 150 บาท นอกนั้นจะเป็นค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางพยาบาล และค่าห้องราว 140,000 บาท ไม่มีค่ายา แต่กลับอ้างว่าป่วยวิกฤต
นายชาญชัยยืนยันว่า ใบเสร็จนี้ไม่ใช่เวชระเบียน เป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ ตนท้าให้มาตรวจสอบ เพราะใบเสร็จนี้เป็นของจริง ซึ่งหากดูตามใบเสร็จจะพบว่าไม่มีอาการของโรคที่จะต้องรักษาด้วยยาเลย หากดูในใบเสร็จในวันที่ 19 ก.พ.67 จะพบว่ามีค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค 11,461 บาท ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา 47,324 บาท ค่าห้องและค่าอาหาร 57,350 บาท ซึ่งหลังจากนั้น 7 วันก็ออกไปเดินฉุยๆ ได้แล้ว
“ใครไปบังคับนายทักษิณให้นอนโรงพยาบาลถึง 181 วัน ถ้านายทักษิณไม่สั่งพวกนี้ทำ ข้อมูลทั้งหมดจะส่งให้ศาลอีกครั้งในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อจะใช้มัดนายทักษิณว่าสั่งการอะไรที่เกี่ยวข้องกับการไม่จำคุกตามคำพิพากษา" นายชาญชัยกล่าว
สำหรับการไต่สวน ศาลได้ไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก เป็นอดีตแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจคนปัจจุบัน และแพทย์ผู้ทำการรักษานายทักษิณที่เข้าเวรช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 ส.ค.2566
ส่วนพยานที่เป็นแพทย์ใหญ่และอดีตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจเบิกความว่า ห้องพักชั้น 14 มีผู้ป่วยมาพักก่อนหน้าอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงที่โรงพยาบาลทำการกักตัวผู้ป่วยโควิด ทำให้ต้องใช้ห้องพักผู้ป่วยทุกห้อง
โดยพยานรายที่ 3 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจที่รับตัวนายทักษิณเข้ารักษาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 ศาลได้ซักรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์รับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษา รวมไปถึงกระบวนการรักษา โดยถามรายละเอียดเกี่ยวกับบันทึกการรักษาตั้งแต่รับตัวนายทักษิณ ไปจนถึงวันที่นายทักษิณออกจากโรงพยาบาล ที่ให้พยานปากที่ 3 ไล่อ่านบันทึกการรักษา ที่พบว่าบางอาการไม่ได้มีบันทึกไว้ ถือว่ายังเข้าขั้นป่วยวิกฤตและสามารถกลับได้หรือไม่ ซึ่งนายแพทย์ผู้นี้ได้ให้ความเห็นว่า บางอาการถือว่าไม่วิกฤตและสามารถกลับได้ นอกจากนี้ยังสอบถามถึงการใช้ยา รักษาอาการป่วย ที่ไม่ระบุอยู่ในใบเสร็จค่ารักษา
ทั้งนี้ ศาลยังได้ถามถึงการเขียนใบให้ความเห็นแพทย์เรื่องการขยายเวลารักษาตัว 120 วัน รวมถึงสอบถามในประเด็นที่ว่า มีเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์ได้ประสานสอบถามอาการของผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งนายแพทย์ชนะบอกว่า ไม่เคยมีใครสอบถามมา
นอกจากนี้ ศาลยังสอบถามถึงผู้คุมว่าได้ปฏิบัติการอยู่ตลอดหรือไม่ พยานปากที่ 3 ระบุว่า พบผู้คุมทั้งในห้องและหน้าห้อง โดยก่อนเข้าตรวจจะต้องถูกเก็บโทรศัพท์ไว้ ขณะที่เวลาเข้าตรวจนายทักษิณ บางครั้งจะนอนอยู่บนเตียงคนไข้ และบางครั้งจะนั่งอยู่บริเวณโซฟา
ศาลถามถึงการคำนึงข้อกฎหมายและความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยหรือไม่ พยานปากที่ 3 ให้การว่า คิดแค่ว่าเป็นหมอรักษาผู้ป่วย ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล ก่อนจะใช้มือปาดน้ำตา
ต่อมาศาลเบิกความพยานรายที่ 4 เป็นแพทย์ผู้ช่วยการผ่าตัดอาการบาดเจ็บของจำเลย และควบคุมดูแลการพักรักษาหลังการผ่าตัด โดยจำเลยได้รับบาดเจ็บเอ็นหัวไหล่ขวาขาดระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และสอบถามเกี่ยวกับประเด็นใบรับรองของแพทย์ เนื่องจากตามหลักฐานที่ศาลมี พยานรายดังกล่าวเป็นผู้ลงชื่อกำกับใบรับรองแพทย์ของจำเลย ซึ่งพยานให้การต่อศาลยืนยันในสองส่วนคือ ใบรับรองแพทย์เป็นการใส่รายละเอียดการป่วยโดยทั่วไปของจำเลยตามจริงเท่านั้น รวมทั้งไม่ทราบว่าใบรับรองแพทย์ดังกล่าวที่มีลายเซ็นตนเองนำไปใช้เพื่อการใด
พยานรายที่ 5 นายแพทย์อายุรกรรมเชี่ยวชาญด้านหัวใจ โรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการเบิกความต่อศาลว่า ทำการดูแลและให้คำปรึกษาจำเลยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวเดิมที่มีประวัติการรักษาจากต่างประเทศ และดูแลอาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุของการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 23 ส.ค.66 และให้คำปรึกษาอีกครั้งถึงความเสี่ยงระดับกลางของจำเลยที่อาจส่งผลต่อโรคประจำตัวในตอนที่เข้ารับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บ พร้อมทั้งให้ความเห็นต่อศาลถึงความจำเป็นในการพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ และให้ข้อสังเกตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคของจำเลยต่อศาล
พยานรายที่ 6 เบิกความยืนยันว่า การตรวจรักษานายทักษิณตั้งแต่การผ่าตัดนิ้วล็อกและเอ็นหัวไหล่ขาด ซึ่งมีภาวะที่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนก็จะส่งตัวกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หลังจาก 7 วัน แต่ตัวนายทักษิณเป็นผู้มี่มีอาการแทรกซ้อน จึงมีเหตุต้องให้รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล นอกจากนี้พยานรายที่ 6 ได้ยื่นเอกสารการรักษาตัวของนายทักษิณ
โดยศาลมีคำสั่งเลื่อนไปไต่สวนพยานบุคคลต่อในวันที่ 25 ก.ค. ตามที่นัดไว้เดิม โดยเป็นการนำแพทย์จากแพทยสภาเข้ามาเบิกความจำนวน 3 ปาก และอนุญาตให้จำเลยนำศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เข้าไต่สวนในวันที่ 30 ก.ค.นี้
นายชาญชัยเปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมฟังการไต่สวนว่า วันนี้ได้รับทราบข้อเท็จจริง ได้เห็นเอกสารเองกับหูได้ดูกับตา และคำให้การขัดแย้งกับแพทยสภาจริงๆ ซึ่งในอาทิตย์หน้าแพทยสภาจะมาเบิกความ เมื่อเช้าตนได้ชี้แจงต่อศาลและศาลได้นำใบเสร็จขึ้นมาถามสรุปแล้ว ก็ถามว่าทำไมใบเสร็จถึงไม่มีค่ายา
"ผู้อำนวยการทั้งเก่าและใหม่เขาบอกว่าไปซื้อยาข้างนอกมาใช้เอง ซึ่งผมงงมากกับระบบของโรงพยาบาลตำรวจ พี่แพทย์จ่ายยาทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าจ่ายยาอะไร เป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นพิรุธใหญ่มาก" นายชาญชัยกล่าว
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจหากได้ฟังคำไต่สวน ทีมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลไม่ตรงกับทีมแพทย์ ทีมราชทัณฑ์พยายามยืนยันว่านักโทษรายนี้ติดเตียงต่อเนื่อง ในเมื่อถามแพทย์แต่ละท่านเมื่อเข้าไปตรวจเยี่ยมเจอคนไข้นั่งที่โซฟาก็มี บางท่านก็บอกว่าเมื่อเข้าไปตรวจเยี่ยมเจอคนไข้เดินอยู่ข้างเตียงก็มี บทสรุปคือผมว่าน่าจะยกธงขาวได้แล้ว ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้ตัว
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. กล่าวเสริมว่า อีกประเด็นที่อยากให้ไปตรวจสอบคือ MOU ของโรงพยาบาลตำรวจกับราชทัณฑ์นั้น อาคารรักษาผู้ป่วยที่ส่งจากราชทัณฑ์ อยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีห้องป่วยฉุกเฉินอยู่ข้างล่าง และอาคารนี้ชั้น 5 มีห้องขัง 4 เตียงมีลูกกรงกั้นควบคุมตัวได้ ไม่ได้ส่งผู้ป่วยเหล่านี้ไปที่อาคารนั้น
ส่วน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ทั้งแพทย์เวรและพยาบาลเวรบอกว่าเป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ที่โรงพยาบาลตำรวจไม่มีการตรวจโดยแพทย์โรคหัวใจ โดยปล่อยให้ผ่านไปกว่า 20 ชั่วโมง จนถึงเช้าวันที่ 24 ส.ค.66 จึงมีแพทย์โรคหัวใจมาตรวจ เมื่อตรวจแล้วพบความดันโลหิตสูงและยาขยายหลอดลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้โรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถรักษาได้ มองว่าการอ้างทั้งหมดนี้น่าจะเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 55 การส่งตัวตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฯ และกฎกระทรวง.