7 THINGS WE LOVE ABOUT RICK OWENS ดีไซเนอร์ระดับไอคอนและเจ้าพ่อสายดาร์ก
จาก Men’s Fashion Week ฤดูกาล Spring/Summer 2026 เพิ่งปิดม่านลงไปไม่นานนัก หนึ่งในโชว์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและถูกจับตามองอย่างมากคงต้องยกให้ Rick Owens ผลงานจากดีไซเนอร์ชาวอเมริกันผู้มีสไตล์เฉพาะตัวที่โดดเด่นทั้งในแง่ดีไซน์และคอนเซ็ปต์ ที่พาแขกผู้เข้าร่วมไปชมคอลเล็กชันแห่งความดิบ ผ่านโชว์แบบ Immersive บนรันเวย์ที่ถูกแปลงโฉมให้เป็นพิธีกรรมกลางสายน้ำ
เบื้องหลังโชว์สุดล้ำนี้คือชายผู้เปลี่ยนเสื้อผ้าให้กลายเป็นประติมากรรมที่มีชีวิต จากจุดเริ่มต้นอาชีพในช่วงปี 1994 จนกระทั่งกลายเป็นไอคอนแห่งแฟชั่นในปัจจุบัน Rick Owens ได้สร้างวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ และสร้างปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนใคร จนอาจเรียกได้ว่าเป็น Subculture ที่มีผู้ติดตามอย่างเหนียวแน่นไปทั่วโลก
สัปดาห์นี้ THE STANDARD POP จึงขออาสาพาทุกคนไปสำรวจทุกแง่มุมของดีไซเนอร์เจ้าของอาณาจักรความดาร์ก ที่เต็มไปด้วยตัวตนที่กล้าจะท้าทายทุกขีดจำกัดของวงการแฟชั่น ตั้งแต่ที่มาของแรงบันดาลใจ ซิกเนเจอร์ที่น่าจดจำ เรื่องราวชีวิตรัก ไปจนถึงผลงานชิ้นไอคอนิกที่คนทั่วโลกอยากครอบครอง
SIGNATURE AESTHETIC
หากถามว่าความงามคืออะไร หลายคนคงนึกภาพความเบ่งบาน ความสว่างไสว แต่สำหรับ Rick Owens แล้ว เขาเป็นที่จดจำในฐานะผู้สร้างนิยามใหม่ให้กับความงาม ด้วยเบื้องหลังในวัยเด็กที่เติบโตมากับการเผชิญกฎระเบียบ ความเคร่งครัดจากครอบครัวคาทอลิก กลายเป็นชนวนสุมความโกรธแค้นชั้นดีให้เจ้าตัวได้ยกมันมาถ่ายทอดผ่านงานแฟชั่น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญให้เขาหลงใหลในความมืด ความบิดเบี้ยว และพิธีกรรม ทำให้เสื้อผ้าของเขาเต็มไปด้วยความดาร์ก ความดิบ มีจุดเด่นเรื่องการใช้โทนสีดำอันเป็นสัญลักษณ์แทนทั้งความลึกลับและความแข็งแกร่ง การใส่ดีเทลเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบ เน้นที่รอยยับย่นของผ้า เนื้อสัมผัสที่ดูขรุขระ หรือการตัดเย็บที่ดูเหมือนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การสอดแทรกแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณด้านมืดของมนุษย์ไว้ให้เห็น ตลอดจนแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ที่ถูกกล่าวขานถึงความแปลกประหลาดและล้ำสมัย ด้วย Performance Art ที่มักพาผู้คนไปดำดิ่งสู่ความมืดหม่นอันเต็มไปด้วยองค์ประกอบสุดดรามาติก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่กลายเป็นความงามในแบบฉบับของเขาที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ จนทำให้เกิดสมญานาม The Lord of Darkness ที่มาเสริมภาพลักษณ์ของ Rick Owens ให้ทรงพลังขึ้นไปอีกขั้น
LOVE STORY WITH MICHÈLE LAMY
เรื่องราวความรักระหว่าง Rick Owens และ Michèle Lamy เป็นหนึ่งในเรื่องราวความรักที่น่าสนใจที่สุดในวงการแฟชั่นยุคนี้เลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากการพบกันของพวกเขาที่ลอสแองเจลิสในปี 1990 ด้วยเหตุผลทางการจ้างงานจากทางฝั่ง Michèle ที่มีแบรนด์เสื้อผ้าของตนเอง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เติบโตทั้งในด้านหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างการย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีสในปี 2003 และร่วมกันก่อตั้ง Owenscorp บริษัทแม่ของแบรนด์ Rick Owens ในปีถัดมา พร้อมกับการเป็นคู่รักและคู่ชีวิตที่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันกว่า 30 ปี นอกจากวิสัยทัศน์ส่วนตัวของ Rick Owens แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวตนของ Michèle หญิงเจ้าของเสน่ห์แบบดิบ ๆ คนนี้นี่แหละที่เป็นทั้ง Muse และ คนรัก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานที่แหวกแนวและท้าทายให้เราได้ชมกันในหลากหลายคอลเล็กชั่น อีกทั้งเธอยังรับบทบาทผู้ดูแลสายงานศิลปะ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และมีส่วนร่วมในงาน Performance Art ของแบรนด์ จนกลายเป็นที่มาของการเป็นคู่รักที่สร้างอาณาจักรแห่งความมืดที่ทำให้โลกแฟชั่นได้ตื่นตะลึง
CULT FOLLOWING
จากเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเส้นทางแฟชั่นสายดาร์ก ทำให้แม้ตัวแบรนด์จะไม่ได้ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing แบบแบรนด์หรูอื่น ๆ ในทุกวันนี้ แต่ริคกลับเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกแฟชั่น โดยจะเห็นได้ชัดช่วงแฟชั่นวีคที่กลุ่มคนเหล่านี้จะมาปรากฏอยู่หน้าโชว์ที่มักจัด ณ Palais de Tokyo ของกรุงปารีส ส่วนหมู่เซเลบริตี้ที่เลือกสวมใส่เสื้อผ้าของเขาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ก็มี อาทิ A$AP Rocky หนึ่งในไอคอนแฟชั่นของวงการฮิปฮอปที่มักปรากฏตัวในลุคของแบรนด์ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2010 , Rihanna สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าของ Rick Owens อยู่บ่อยครั้งทั้งลุคสตรีทสไตล์และเวลาเข้าร่วมงานอีเวนต์ หรือ Kim Kardashian หนึ่งในผู้ที่ทำให้ Prong Dress (เดรสที่โดดเด่นด้วยโครงบริเวณหน้าอกจากเทคนิค Geometric Cutouts) ของแบรนด์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตลอดจนเซเลบริตี้ชื่อดัง อาทิ Billie Eilish, Bad Bunny, Zendaya และ Anya Taylor-Joy ผู้เป็นขวัญใจคนยุคนี้อีกมากมาย
ARCHITECTURE SILHOUETTE
เอกลักษณ์สำคัญที่เห็นเด่นชัดผ่านงานดีไซน์ของ Rick Owens คืองานดีไซน์แบบ Wearable Architecture หรือเสื้อผ้าที่มีโครงสร้างเหมือนงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นซิลูเอตแบบอาวองการ์ด มีรูปทรงเรขาคณิตชัดเจนแข็งแรง ซึ่งส่วนมากเป็นไอเท็มแบบโอเวอร์ไซส์ที่ค่อนข้างเกินจริง การใช้เทคนิคการเดรปผ้าที่ซับซ้อนเพื่อให้เกิดวอลลุ่มที่น่าสนใจ อย่างบางคอลเล็กชั่นใช้เทคนิคการผสมผสานกันจนเกิดกลายเป็นงานดีไซน์ที่ทำให้เรานึกถึงเสาในโบสถ์กอธิก โครงเหล็กหอไอเฟล แท่นบูชา นอกจากนี้ยังมีการเล่นกับเส้นสายและสัดส่วนที่ไม่สมมาตรเพื่อสร้างมิติเสมือนงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พร้อมทั้งยังนำแนวคิดแบบ Brutalism หรือสถาปัตยกรรมแบบปูนเปลือยที่เน้นการเผยความเป็นธรรมชาติของพื้นผิวต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างบุคลิกที่โดดเด่นให้กับผู้สวมใส่ได้ทั้งบนรันเวย์และในชีวิตประจำวัน
BEING HIS OWN MUSE
หนึ่งในแง่มุมที่โดดเด่นของ Rick Owens คือวิธีที่เขาใช้ตัวเองเป็นมิวส์สำหรับแบรนด์ของตัวเอง แทนที่จะดึงคนดัง หรือบุคคลในประวัติศาสตร์มาใช้เหมือนดีไซเนอร์คนอื่น ๆ ซึ่งนั่นทำให้แก่นหลักของแบรนด์ถูกนำเสนออย่างชัดเจนตลอดมา โดย Rick Owens มักย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตส่วนตัวกับผลงานของเขาในการสัมภาษณ์อยู่เสมอว่า เขาใช้ตัวตนของตัวเองเป็นรากฐานสำคัญ และเรายังได้เห็นตัวเขาเองมาเป็นโมเดลหลักของแบรนด์ ตั้งแต่การถ่ายแบบ เดินโชว์ และนำเสนอไลฟ์สไตล์ของตัวเองผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย จนใครที่ติดตามแฟชั่นน่าจะคุ้นตากับภาพของชายร่างสูง ผิวขาว ผมยาวสีดำตรง ใส่เสื้อแขนกุดหรือแจ็กเกตตัวยาว กางเกงทรงกว้าง และบู๊ตส้นสูงขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากคอลเล็กชั่นของเขาเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าสำหรับโอกาสพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นวิธีการสื่อสารที่ทรงพลัง และตอกย้ำในความเชื่อมั่นในผลงานของเขาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
RICK OWENS DECOR LINE
ขณะที่หลายแบรนด์แฟชั่นเลือกต่อยอดสู่สินค้าประเภทไลฟ์สไตล์เพื่อการขยายตลาด Rick Owens กลับสร้างไลน์เฟอร์นิเจอร์ขึ้นในปี 2007 โดยมี Michèle Lamy ภรรยาและหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาเป็นผู้ดูแลการผลิตโดยผลงานเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นนั้นมีความโดดเด่นที่การผสมผสานระหว่างความ Functional และ Artistic สะท้อนสุนทรียะและปรัชญาการออกแบบเดียวกันกับผลงานเสื้อผ้าที่ทุกคนชื่นชอบ มีการออกแบบที่เล่นกับวัสดุธรรมชาติที่ให้ความหนัก หนา แข็งแรง เช่น ไม้ Raw Oak, หินอ่อนสีดำ, คอนกรีตดิบ, หนังวัว ซึ่งสื่อสารถึงความถาวร (Permanence) และความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในพื้นที่อยู่อาศัย โดยนำมาผ่านกระบวนการทางงานฝีมือเพื่อสร้างผลงานที่สอดแทรกทั้งความโบราณและฟิวเจอริสติกไปพร้อมกัน ซึ่งทำให้เฟอร์นิเจอร์ของเขาอย่างโต๊ะ เก้าอี้ โซฟา โคมไฟ หรือประติมากรรมของตกแต่ง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง มีราคาสูงในระดับนักสะสมจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของรสนิยมระดับสูง ตลอดจนถูกนำไปจัดแสดงในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก
ICONIC ITEMS
Rick Owens มีสินค้าหลายชิ้นที่กลายเป็นไอคอนิก และเป็นที่ต้องการของสาวกแฟชั่นทั่วโลก เริ่มตั้งแต่สนีกเกอร์ทรง High-Top พร้อมลิ้นรองเท้าขนาดใหญ่อย่างรุ่น Geobasket ที่เปิดตัวมาในคอลเล็กชั่น Men Fall/Winter 2006 ที่แม้จะมีข้อพิพาทระหว่าง Nike อยู่ช่วงหนึ่งจนต้องปรับดีไซน์ แต่มันก็กลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ทำให้ชื่อของ Rick Owens เข้าสู่วงการสตรีทแฟชั่นและแฟชั่นเมนสตรีมได้อย่างเต็มตัว หรือรองเท้าส้นสูงสำหรับผู้ชายอย่าง Wedge Boots และ Hybrid Sandals ที่ตะโกนนิยาม Gendered Fashion อย่างชัดเจน ส่วนทางฝั่งของเสื้อผ้านั้นมีกางเกงขาสั้นทรงหลวมรุ่น Pods Shorts หรือที่รู้จักกันในชื่อ Rick’s Pod , Bauhaus Jacket แจ็กเกตหนังเข้ารูปที่โดดเด่นด้วยซิปแนวเฉียง หรือ Prong Dress ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ก็เป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ขึ้นชื่อของแบรนด์ นอกจากนี้ ทาง Rick Owens ยังมีงานคอลาบอเรชั่นกับแบรนด์อื่น ๆ อาทิ Converse, Adidas, Birkenstock และ Dr. Martens ที่ผสมผสานความงามแบบดิบๆ ความหรูหรา และความ Avant-Garde เข้าไว้ได้อย่างลงตัวซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเช่นกัน