'เบทเตอร์เวย์' ควัก 200 ล้าน ปั้น ‘FRIDAY FAIR’ เสริมแกร่งอีคอมเมิร์ซ
เมื่อโลกชอปปิงออนไลน์-อีคอมเมิร์ซ ทรงพลัง ทำให้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจต้องขยับตัว รุกตลาดรับการเปลี่ยนแปลง และดึงดูดนักช้อป
“เบทเตอร์เวย์” เจ้าของแบรนด์“มิสทิน” สินค้าความงาม(บิวตี้) สัญชาติไทยที่เครือสหพัฒน์ถือหุ้นกว่า 60% ครอบครัว “ดีโรจนวงศ์” ถือหุ้น 33% ที่เหลือเป็นพนักงานในเครือถือหุ้น 7% ได้เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่รอบ 36 ปี เปิดประตูการค้าสู่โลก ผ่านอีคอมเมิร์ซเต็มสูบ
ดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “มิสทิน” เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้งบลงทุนราว 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “FRIDAY FAIR” ให้แข็งแกร่งภายใน 2 ปี ชูคอนเซปต์ “สุข สนุก คุ้มค่า” เพื่อต่อยอดธุรกิจ การจำหน่ายสินค้าในเครือสหพัฒน์ สร้างการเติบโตสู่เวทีการค้าระดับโลก
ทั้งนี้ การสร้างแพลตฟอร์ม “FRIDAY FAIR” จะแบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกจะเป็นการพัฒนาระบบดิจิทัล ประมวลข้อมูล(ดาต้า)ต่างๆ รองรับการชอปปิงออนไลน์ ซึ่งต้องทำวันต่อวัน เพื่อให้ถูกใจกลุ่มร้านค้า ลูกค้าภายใน 3 เดือน จากนั้นเฟส 2 จะเป็นการสร้างส่วนแบ่งตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมชูจุดเด่นคิดค่าคอมมิชชัน 6% ต่ำสุดในตลาด เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการร้านค้า จากปัจจุบันแพลตฟอร์มอื่นซึ่งเติบโตและธุรกิจอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวรายได้ จึงมีการโฆษณา ค่าธรรมเนียมใช้แพลตฟอร์มต่างๆ สูงสุด 20%
ขณะที่เฟส 3 จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีเอ็นเทอร์เทนเมนต์ เพื่อสร้างสีสัน และทำให้ลูกค้าขาช้อปใช้เวลากับ FRIDAY FAIR ให้นานสุด ตามคอนเซปต์ สุข คือการได้เห็นและซื้อสินค้าคุณภาพดี สนุกเมื่อมาจับจ่ายชอปปิง ได้เรียนรู้โปรแกรมการทำอาหาร แฟชันการแต่งกาย จากสินค้าในเครือ รวมถึงคอนเทนต์ ไลฟ์คอมเมิร์ซจาก BIGXSHOW และคุ้มค่าด้วยการซื้อสินค้าคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้
“บทบาท FRIDAY FAIR เป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่มีมาช้านานของมิสทิน ที่มีเราแคตตาล็อก FRIDAY มา 36 ปี ไปสู่อีคอมเมิร์ซ เพื่อตอบโจทย์การตลาดในเครือ และเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงเป็นช่องทางศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อสินค้า และเราปวารณาเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคนไทย เพื่อคนไทย”
สำหรับการจำหน่ายสินค้าตามแผน 3 ปี จะมีไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นรายการ(เอสเคยู) จากเฟส 1 จะนำร่องสินค้า 3,000 รายการ และเป็นสินค้าในเครือสหพัฒน์ 90% และไม่ปิดกั้นสินค้านอกเครือ
ส่วนเป้าหมายททางธุรกิจขั้นต้น ต้องการให้มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน 5 หมื่นดาวน์โหลด เพิ่มเป็น 1 แสนดาวน์โหลดในเฟส 2 และแตะ “หลักล้าน” ในเฟส 3 ขณะที่ฐานสมาชิกแคตตาล็อก FRIDAY มีกว่า 2.6 แสนราย และยอดใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 350-400 บาทต่อบิล แต่การมี FRIDAY FAIR จะทำให้ลูกค้าซื้อสินค้ามากขึ้น เนื่องจากจะมีการทำตลาด “ซีนเนอร์ยี” กับสินค้าในเครือ จัดโปรโมชัน เพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น จากซื้อสินค้าความงามมิสทิน ไปซื้อชุดชั้นในวาโก้ เสื้อผ้าแฟชัน เป็นต้น
“อนาคตลูกค้าจะชอปปิงมากขึ้น หากมีการซื้อชุดชั้นใน เสื้อผ้า สินค้าแฟชัน ส่วนแบรนด์สามารถทำตลาดเจาะเส้นทางการช้อปหรือ journey ลูกค้าได้”
การซีนเนอร์ยีใหญ่คือการ “มัดรวม”(Bundle) หลังบ้านในส่วนของห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน) ทั้งการซื้อวัตถุดิบที่อนาคตอาจ “รวมกัน”(Pool) เพื่อสร้างอำนาจต่อรองดีขึ้น จากที่มีอยู่แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า ฯให้ดีขึ้น จากเดิมต่างบริษัทต่างทำ มาใช้สิ่งอำนวยความสะดวก แจกจ่ายให้กันได้ เช่น เบทเตอร์เวย์แลนด์ ดิสทริบิวชัน ซึ่งให้บริการด้านฟูลฟิลเมนท์หรือจัดการคำสั่งซื้อสินค้าครบวงจร จากรับสินค้าเข้าคลัง การจัดเก็บ การแพ็คสินค้า จัดส่งถึงมือลูกค้า 17 แห่ง สหพัฒน์มีหลักร้อยแห่ง และของไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น ฯ การผสานพลังจะช่วยบริหารต้นทุนดีขึ้น เพิ่มศักยภาพแข่งขันของธุรกิจ
มากกว่าชอปปิงออนไลน์ คือซีนเนอร์ยีซัพพลายเชนเครือ
“ในเครือยังไม่เคย pool ข้อมูลรวมกัน ว่าใช้วัตถุดิบ เช่น เม็ดพลาสติกกี่ตันต่อปี ต่างคนต่างซื้อ อนาคต FRIDAY FAIR อาจเป็นแพลตฟอร์มแรกที่ Pool ทุกสินค้าเข้ามาในระบบ เป็นดาต้า เพื่อรู้ข้อมูลการส่งสินค้าแต่ละตัวกี่กรัม แหล่งผลิตต้นทางจากไหน การจัดส่งสินค้าต่างคนต่างทำ อาจแจกจ่ายหรือ alocate หรือใช้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือ facilities ร่วมกันได้”
อย่างไรก็ตาม มิติของการ “ทำกำไร” บริษัทยังไม่มอง เพราะระยะเริ่มต้น อยู่ในช่วงของการสร้างฐานลูกค้าหรือทราฟฟิก และมีคู่ค้า แต่ระยะยาว บริษัทมองโอกาสขยายตลาดสินค้าไทยเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดโลกด้วย ส่วนการลงทุน ตั้งต้นจากเบทเตอร์เวย์ อนาคตจะเปิดกว้างให้เฉพาะ “บริษัทในเครือสหพัฒน์” เข้ามาลงทุน
“เป็นการทรานส์ฟอร์มใหญ่รอบ 36 ปี และโรดแมปคือการปั้น FRIDAY FAIR ให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกลางของเครือสหพัฒน์ เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยสู่ต่างประเทศ ซึ่งมองว่าถึงเวลาที่ต้องรวมใจสร้างธุรกิจ สร้างชาติ ให้เรามีศักยภาพแข่งขันได้”