ทรัมป์หนุนไทย-กัมพูชาเจรจา ภูมิธรรม-ฮุน มาเนตคุยที่มาเลฯวันนี้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา แถลงเมื่อวันอาทิตย์ว่า ทั้งประเทศไทยและกัมพูชามีความประสงค์ที่จะยุติความขัดแย้งบริเวณชายแดน หลังจากที่เขาได้แจ้งต่อผู้นำทั้งสองประเทศว่าจะไม่มีการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ หากยังมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง
“ผมได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ และผมเชื่อว่า เมื่อบทสนทนาสิ้นสุดลง ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการที่จะหาทางยุติเรื่องนี้” ทรัมป์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในระหว่างการพบกับนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ณ เมืองเทิร์นเบอร์รี ประเทศสกอตแลนด์
ทรัมป์ยังเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศมีกำหนดจะพบกันเพื่อหารือแนวทางการยุติความรุนแรง
ทั้งสองฝ่ายเจรจาหยุดยิงในมาเลเซียวันนี้
รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ในคืนวันอาทิตย์ว่า การเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาเกี่ยวกับข้อพิพาทชายแดนจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ประเทศมาเลเซีย โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายไทย
รัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ยืนยันว่า สมเด็จ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเข้าร่วมการเจรจาครั้งนี้ด้วย
สถานการณ์ตึงเครียดและผลกระทบจากการสู้รบ
ความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม หลังเกิดเหตุทหารกัมพูชาถูกยิงเสียชีวิตจากการปะทะสั้นๆที่ชายแดน การเผชิญหน้าได้ยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นวิกฤตทางการทูต
เหตุปะทะล่าสุดเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และในระยะเวลาเพียงสี่วัน ความรุนแรงได้ขยายตัวจนกลายเป็นการสู้รบที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่าทศวรรษระหว่างสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 30 ราย รวมถึงพลเรือนไทย 13 ราย และชาวกัมพูชา 8 ราย ขณะเดียวกัน ทางการรายงานว่ามีประชาชนกว่า 200,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ชายแดน
ข้อพิพาทประวัติศาสตร์
ไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจนตลอดแนวชายแดนยาว 817 กิโลเมตรมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะการถือครองโบราณสถานปราสาทพระวิหารอายุราวศตวรรษที่ 11 ซึ่งเป็นหัวใจของข้อพิพาท
แม้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จะตัดสินให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหารในปี พ.ศ. 2505 แต่สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เมื่อกัมพูชาพยายามขึ้นทะเบียนปราสาทดังกล่าวเป็นมรดกโลก ทำให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ช่วยตัดสินข้อพิพาทกับไทย กรณีกลุ่มปราสาทตาเมือนและตาควาย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยยังคงยืนยันไม่รับรองเขตอำนาจของศาลดังกล่าว และเลือกใช้แนวทางเจรจาทวิภาคีเป็นหลัก
สหรัฐฯ และมาเลเซียมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ย
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ได้เสนอการหยุดยิงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจา และกล่าวว่านายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ให้คำมั่นในการดำเนินการเพื่อยุติความขัดแย้งดังกล่าว