พายุวิภา ถล่ม10จังหวัดเหนือ-อีสาน เร่งระบายน้ำสกัดท่วมสุโขทัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์พายุ "วิภา" ซึ่งเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุมผ่านลาวตอนบนและภาคเหนือของไทย สร้างผลกระทบต่อ 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ สุโขทัย ตาก และเลย ครอบคลุม 59 อำเภอ 279 ตำบล 1,481 หมู่บ้าน มีผู้ประสบภัยรวมกว่า 118,951 คน จาก 35,896 ครัวเรือน โดยมี ผู้สูญหาย 1 ราย ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน และ เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.เมือง จ.แพร่
สถานการณ์ยังน่าห่วงใน 5 จังหวัดหลัก ได้แก่ น่าน เชียงราย แพร่ สุโขทัย และตาก ซึ่งยังมีฝนตกและน้ำท่วมใน 24 อำเภอ ส่งผลให้มีผู้เดือดร้อนเพิ่มเป็น 79,942 คน จาก 24,505 ครัวเรือน (คลิ๊กอ่านที่มา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
ภาพรวมฝนตกหนักและสภาพอากาศ
ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. (ณ วันที่ 28 ก.ค. 68 เวลา 7.00 น.)
- จ.น่าน สูงสุด 199 มม.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: มุกดาหาร 66 มม.
- ภาคตะวันตก: กาญจนบุรี 30 มม.
- ภาคกลาง: ชัยนาท 25 มม.
- ภาคใต้: ชุมพร 62 มม.
- ตะวันออก: ตราด 61 มม.
ลักษณะอากาศวันนี้:
ร่องมรสุมยังพาดผ่านตอนบนของไทย ส่งผลให้ภาคเหนือและอีสานตอนบนยังมีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ เชียงราย พะเยา น่าน หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และนครพนม
พยากรณ์ล่วงหน้า (29 ก.ค.):
คาดว่าฝนยังตกต่อเนื่อง โดยมีฝนหนักมากบางพื้นที่จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศเวียดนามตอนบน
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำ
- ปริมาณน้ำรวม: 62% ของความจุ (49,562 ล้าน ลบ.ม.)
- ปริมาณน้ำใช้การได้: 44% (25,444 ล้าน ลบ.ม.)
พื้นที่อุทกภัยล่าสุด (27 ก.ค. 68)
ครอบคลุม 4 จังหวัด 23 อำเภอ ได้แก่:
- เชียงราย: เทิง ขุนตาล พญาเม็งราย
- น่าน: เมือง ภูเพียง ปัว เชียงกลาง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ เวียงสา บ่อเกลือ บ้านหลวง แม่จริม
- แพร่: เมือง สอง เด่นชัย หนองม่วงไข่ สูงเม่น ลอง วังชิ้น
- สุโขทัย: เมือง ศรีสำโรง สวรรคโลก
มาตรการเร่งด่วน – ระบายน้ำลุ่มน้ำยม-น่าน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมประชุมคณะทำงานฯ บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า โดยมีมติเห็นชอบ:
- ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์เหลือ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน (26–30 ก.ค.)
- ลดระดับน้ำเหนือ เขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อเร่งผลักน้ำจากลำน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน
- ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน ตัวเมืองสุโขทัยไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ
- เตรียมพื้นที่หน่วงน้ำ "ทุ่งบางระกำ" หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ 15 ส.ค. รองรับน้ำจากแม่น้ำยมได้ 400 ล้าน ลบ.ม.
ข้อเสนอแนะเพื่อการเฝ้าระวังและรับมือ
- ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม-น่านและภาคเหนือตอนบน ควรติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และเตรียมอพยพเมื่อมีสัญญาณเตือนจากหน่วยงานท้องถิ่น
- รัฐเน้นบูรณาการทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ได้มากที่สุดก่อนฝนรอบใหม่เดือนกันยายน