คณิตศาสตร์การเงิน หลักคิดที่แยก ‘คนอยู่รอด’ กับ ‘คนเจ๊ง’ ออกจากกัน
‘คณิตศาสตร์การเงิน’ (Financial Mathematics) เป็นเหมือนกลไกขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อคำนวณ ‘ราคา’ ที่เหมาะสมของสัญญาอันซับซ้อน นอกจากนี้ คณิตศาสตร์การเงินยังใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ว่าควรจะทำธุรกิจหรือไม่ทำธุรกิจ โดยอาศัยหลักฐานเชิงตัวเลข ไม่ใช่แค่การคาดเดาหรือความรู้สึก ทำให้มั่นใจได้ว่าจุดตั้งต้นของการตัดสินใจนั้น ‘ถูกแน่นอน 100%’ ในเชิงคณิตศาสตร์
คณิตศาสตร์การเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่คือรากฐานทางตรรกะที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพื่อไม่ให้พลาดการคว้าโอกาสทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย
🟡 คณิตศาสตร์การเงินคืออะไร
หัวใจของคณิตศาสตร์การเงินไม่ใช่แค่สมการในห้องเรียน แต่คือการใช้ตรรกะและแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจ บริหารจัดการ และสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ตลอดจนการบริหารธุรกิจอย่างมีทิศทางให้ตอบโจทย์โลกแห่งความเป็นจริง
โดยเฉพาะในตลาดตราสารอนุพันธ์ ซึ่งเป็นสัญญาทางการเงินที่อ้างอิงกับราคาสินทรัพย์อื่น เช่น สัญญาซื้อขายราคาน้ำมันล่วงหน้า หรือสัญญาประกันราคาข้าว ตลาดนี้ขับเคลื่อนได้ด้วยสูตรและการคำนวณที่แม่นยำ เพื่อช่วยให้ธุรกิจทั่วโลกเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน คณิตศาสตร์ทางการเงินได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนด้วยกลไกต่างๆ เช่น
🔸สร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ เช่น Options, Futures, Swaps
🔸บริหารจัดการและปกป้องความเสี่ยงที่ซับซ้อนของธนาคารและสถาบันการเงินที่ออกอนุพันธ์
🔸กำหนดราคาตราสารอนุพันธ์อย่างแม่นยำ ทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดการคาดเดา
🟡 อาวุธลับกำจัดความเสี่ยง
ประโยชน์ที่จับต้องได้มากที่สุดของคณิตศาสตร์การเงินคือการบริหารความเสี่ยง โดยคณิตศาสตร์การเงินช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถปกป้องความเสี่ยงของตัวเอง จัดการความผันผวนของรายได้และต้นทุนได้ ตัวอย่างเช่น
🔸สายการบินสามารถล็อกต้นทุนราคาน้ำมันล่วงหน้าได้ ทำให้ไม่ว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะผันผวนแค่ไหน ก็ไม่กระทบกับกำไรที่วางแผนไว้
🔸ชาวนาที่รู้ต้นทุนค่าปุ๋ยค่าแรงงานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะขายข้าวได้ราคาเท่าไร สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประกันราคาขายล่วงหน้าได้ ทำให้มีรายได้ที่แน่นอนและไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงราคาตกต่ำเพียงลำพัง
🔸ธุรกิจที่รับรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ สามารถใช้เครื่องมือนี้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินบาทตามที่คาดการณ์ไว้
🟡 พยากรณ์ธุรกิจ และกำหนดกลยุทธ์ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่พิสูจน์ได้
พลังของคณิตศาสตร์การเงินไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกการลงทุน แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เฉียบคมได้อีกด้วย
Facebook ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์พฤติกรรมการติดแพลตฟอร์มของผู้ใช้งาน พวกเขาสามารถปรับแก้ปัจจัยต่างๆ เพื่อทำให้คนอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้นได้
หรือในธุรกิจใกล้ตัวอย่างร้านสะดวกซื้อ แทนที่จะใช้เพียงความรู้สึกในการเลือกทำเล ก็สามารถใช้คณิตศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูล เช่น จำนวนรถที่วิ่งผ่าน เพื่อพยากรณ์ยอดขายและความสำเร็จของสาขานั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ
🟡 ไทยขาดแคลนบุคลากรด้านคณิตศาสตร์การเงิน
ปัจจุบันยังไม่มีหลักสูตรการสอนโดยตรงในระดับมหาวิทยาลัยของไทย แม้จะมีหลักสูตร ‘วิศวกรรมการเงิน’ แต่ก็เน้นไปที่การนำไปใช้ มากกว่าการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และผู้ที่เรียนจบจากต่างประเทศก็มักจะถูกสถาบันการเงินระดับโลกดึงตัวไปทำงานด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่า
วงจรนี้ทำให้องค์ความรู้ไม่ถูกถ่ายทอดและนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจำนวนมากขาดเครื่องมือที่จะช่วยบริหารความเสี่ยงและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องคณิตศาสตร์การเงิน ไม่จำเป็นต้องกลับไปเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูง แต่ให้เริ่มต้นจากการเริ่มถามว่า “ธุรกิจหรือการลงทุนของเรา มีความเสี่ยงอะไรที่เรายังมองไม่เห็นหรือยังไม่รู้ค่าที่แน่นอนบ้าง?” และเริ่มหาสมการความสำเร็จในแบบของตนเอง
การเข้าใจคณิตศาสตร์การเงิน จะเปลี่ยนการทำธุรกิจแบบคาดเดา ไปสู่การคำนวณและเปลี่ยนจากความเสี่ยงให้กลายเป็นโอกาสในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ชมคลิป https://youtu.be/7yP_1IPHycM