เห็นด้วยไหม? ปลด นกปรอดหัวโขน สัตว์ป่าคุ้มครองสู่สัตว์เศรษฐกิจ
วันที่ 8 ก.ค. 68 การประชุมคณะทำงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ กรณีพิจารณาความเหมาะสม ในการขอถอดนกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง
เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเร่งผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ควบคู่กับการอนุรักษ์ พร้อมมอบหมายให้กรมอุทยานฯ ตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
โดยคณะทำงานจะต้องดำเนินงานอย่างรอบคอบและรัดกุม ประกอบด้วย คณะทำงานด้านการสำรวจสถานภาพนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษา สำรวจ ประเมินสถานภาพประชากรนกปรอดหัวโขนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คณะทำงานกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกในธรรมชาติ มีสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์การล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนกปรอดหัวโขน
และคณะทำงานต้องกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมการปล่อยนกกรง จากกรงเลี้ยงสู่ธรรมชาติ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามอนุสัญญา จะเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบของการปล่อยนกกรงเลี้ยงสู่ธรรมชาติ ด้านสุขภาพ การแพร่โรค พันธุกรรม และกำหนดแนวทางควบคุมการปล่อยนกให้ปลอดภัยต่อระบบนิเวศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลและใช้ประโยชน์จากนกอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดเตรียมประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ และสมาคมเลี้ยงนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการเสนอปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป
อย่างไรก็ตาม แผนการปลดนดปรอดหัวโขนนี้ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักอนุรักษ์ เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจทำให้นกปรอดหัวโขนในประเทศไทย สูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ โดยทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนกปรอดหัวโขนไว้ว่า
“โดยหลักการแล้ว การปลดสัตว์ป่าคุ้มครองออกจากบัญชีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแน่ใจว่า ประชากรสัตว์ป่าชนิดนั้น ไม่มีแนวโน้มลดลงจริง รวมถึงมีมาตรการดูแลในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกปรอดหัวโขน ที่แหล่งอาศัยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลักลอบดักจับเพื่อค้าเป็นสัตว์เลี้ยง ส่งผลให้ประชากรนกในภาคใต้ของประเทศไทย เรียกได้ว่า “สูญพันธุ์ไปแล้ว” ทั้งนี้ ยังไม่มีมาตรการใดในการดูแล ป้องกันการดักจับนกจากทางภาครัฐ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต หากนกชนิดนี้ได้รับการปลดจากสัตว์ป่าคุ้มครองจริง”
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand) ในนามองค์กรที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์นกและถิ่นอาศัยยินดีอย่างยิ่งในการให้ความร่วมมือ หากมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาประชากรนกชนิดนี้ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลที่มีเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เพื่อคนไทยรุ่นต่อไปได้มีโอกาสพบเห็นนกชนิดนี้โบยบินในธรรมชาติต่อไป
แม้นกปรอดหัวโขนจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่นกปรอดหัวโขนยังถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดโอกาสในผู้ที่ต้องการเพาะเลี้ยง ซื้อขาย สามารถทำได้โดยการขออนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามกฏกระทรวงฯ
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเลี้ยง หรือ เพาะพันธุ์ นกปรอดหัวโขนสามารถทำได้ โดยการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอนปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องนำนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งเป็นมาตรการเดียวในการคุ้มครองนกปรอดหัวโขนนอกพื้นที่อนุรักษ์จากการดักจับจากธรรมชาติ
ทั้งนี้ หากปัญหาอยู่ที่ข้อจำกัด หรือระเบียบในการขออนุญาตที่อาจยุ่งยากไปบ้าง การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการปรับปรุงระเบียนราชการให้ทันสมัย สะดวกแก่ผู้เพาะเลี้ยงที่ปฏิบัติตามกฏหมายเพื่อให้ได้รับความสะดวกในการจัดการ และจะเป็นการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงนกอย่างถูกต้อง และตรงจุด
อนึ่ง นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก เป็นนกที่ผู้คนนิยมเลี้ยง เพื่อนำไปแข่งขันประชันเสียง บ้างก็นำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ทำให้มีการลักลอบจับจากป่ามาทำการค้า หรือมีการเพาะพันธุ์ในสถานที่เพาะเลี้ยงเฉพาะ ส่งเสริมให้เกิดอาชีพจำเพาะที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขายอาหารนก ทำกรงนกขาย ฯลฯ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
แต่หากมองอีกมุมหนึ่งหลายคนเป็นห่วงสถานภาพของนกปรอดหัวโขน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันยังมีการลักลอบจับนกกรงหัวจุกออกจากป่าอันเป็นบ้านของพวกมัน เพื่อไปอยู่ในกรง รวมไปถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่ง มีการใช้ตาข่ายดักนกจำนวนมากเพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย ทำให้นกหลายชนิดเขาไปติดตาข่าย ซึ่งหลายครั้งก็มีสัตว์ป่าคุ้มครองเข้าไปติดด้วย ในขณะที่การกระทำแบบนี้ยังไม่ถูกระบุว่าผิดกฎหมาย และนกที่ดักได้ก็สามารถซื้อขายได้ทั่วไป เป็นผลให้นกตามธรรมชาติลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่สภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์
นอกจากนี้ บทบาทของนกปรอดหัวโขนมีความสำคัญต่อนิเวศวิทยา ในด้านของนักกระจายเมล็ดพันธุ์พืชขนาดเล็ก นกปรอดทำหน้าที่เป็นนักปลูกป่า โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามแนวชายป่า และนอกพื้นที่ป่า และยังทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วย ดังนั้น การปลดล็อกนี้ จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของนกปรอดหัวโขนในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติหรือไม่ คุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้?