โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลั่นกลองรบ! สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หลังจากเมืองสวางคบุรีของ เจ้าพระฝาง มีอำนาจปกครองบริเวณหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมด และมีความพยายามที่จะขยายอำนาจลงทางใต้ เจ้าพระฝางได้ส่งทหารลงไปลาดตระเวนและตีเอาเสบียงอาหารจากราษฎรจนถึงเขตเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท และมีความพยายามที่จะตระเวนลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้อาจเพื่อสังเกตการณ์กองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงหมายจะส่งกองทัพลงไปตีกรุงธนบุรี ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องทรงปราบปรามให้จงได้

อ่าน “เจ้าพระฝาง” คือใคร? กำเนิด “ชุมนุมสุดท้าย” ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบ (คลิก)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพปราบปรามพวกสงฆ์อลัชชี

กองทัพเจ้าพระฝางนอกจากจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีแล้ว ยังถูกเสนอในภาพของกลุ่มพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ด้วยประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา กระทำการฆ่ามนุษย์ทั้งที่ยังนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ทำให้กลายเป็น “พวกสงฆ์อลัชชี” ในสายตาของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีด้วย การกระทำของพระภิกษุในชุมนุม เจ้าพระฝาง จึงเป็นภัยต่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร

ล่วงมาจนถึงเดือน 6 ปีขาล พ.ศ. 2313 กรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทบอกลงมายังกรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางให้กองทัพลงมาลาดตระเวนถึงเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาท สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพจะยกไปตีหัวเมืองเหนือในปีขาลนั้น พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า

“…ครั้นได้ทราบจึงมีพระราชดำรัสให้เกณฑ์กองทัพ จะยกไปปราบอ้ายพวกเหล่าร้ายฝ่ายเหนือให้แผ่นดินราบคาบ จึงโปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพาวุธ ยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม จึงโปรดให้พระยาอนุชิตราชาเลื่อนที่เป็นพระยายมราช [ต่อมาคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) – ผู้เขียน] ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าสรรพสัตราวุธยกไปฟากตะวันออกทัพหนึ่ง และทัพบกทั้งสองทัพ เป็นคนหมื่นหนึ่งให้ยกล่วงไปก่อน”

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “จนถึงลุศักราช 1132 ปีขาลโทศก (พ.ศ. 2313) วันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 จะยกกองทัพไปปราบคนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ ด้วยอ้ายเหล่าร้ายนั้นยกลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหารเผาบ้านเรือนเสียหลายตำบล ไพร่พลหัวเมืองได้ความแค้นเคืองขัดสนนัก เหตุฉะนี้จึงให้เจ้าพญาพิไชราชา ถือพล 5,000 ยกไปทางตะวันตก พญายมราชถือพล 5,000 เข้ากันเป็นคน 10,000 สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทั้งปวง”

จากนั้นพระองค์จึงเคลื่อนทัพหลวงตามขึ้นไป พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “…วันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8 เพลาโมงเช้าเศษ เป็นมหาพิชัยฤกษ์ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จจากเมืองธนบุรีย ไปโดยทางชลมารค ทรงนาวาพระที่นั่งพร้อมด้วยหมู่พลพยุหโยธาเสนา ข้าทหารทั้งปวงประมาณ 12,000…”

ในการสงครามครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จฯ โดยกระบวนทัพเรือและจัดทัพขึ้นไปตีชุมนุมเจ้าพระฝางเป็น 3 ทัพ

ทัพที่ 1 เป็นทัพหลวงมีจำนวนพล 12,000 ให้พระยายมราชถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 2 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันออกลำน้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) พระยาพิชัยราชาถือพล 5,000 เป็นทัพที่ 3 ยกขึ้นไปทางบกข้างฟากตะวันตก (ดำรงราชานุภาพ, 2543 : 330)

ในขณะเดียวกันช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีแขกเมืองยักกระตราส่งปืนใหญ่มาถวาย 10 กระบอก และแขกเมืองตรังกานู เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย 2,200 กระบอก (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), 2542 : 493) จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรบครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ฝ่ายเจ้าพระฝางรู้ว่ากองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพขึ้นมา จึงให้หลวงโกษา (ยัง) ขุนนางเก่าเมืองพิษณุโลก ผู้ที่เคยรบกับกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ปากน้ำเกยชัย คุมกองทัพลงมาตั้งรับที่เมืองพิษณุโลก กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้าตีเมืองได้ในช่วงกลางคืน หลวงโกษาจึงหนีมาตั้งค่ายรับศึกอยู่ที่บริเวณปากโทก เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไพร่พลแตกหนีไปเสียมาก หลวงโกษาเห็นเหลือกำลังก็ทิ้งค่ายหนีกลับขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เมืองพิษณุโลกแล้ว กองทัพบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้ง 2 ทัพ ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางบกเดินลำบาก จึงประทับรออยู่ที่เมืองพิษณุโลก 9 วัน กองทัพพระยายมราชจึงขึ้นไปถึง ต่อมาอีก 2 วันกองทัพพระยาพิชัยราชาก็ขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้จ่ายเสบียงอาหารแล้วให้กองทัพบกรีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีขึ้นไปยังเมืองสวางคบุรีพร้อมกันทั้ง 2 ทาง

ส่วนกองทัพเรือยังไม่ยกขึ้นไป ด้วยทรงพระราชดำริว่าเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย หนทางต่อขึ้นไปลำน้ำแคบตลิ่งสูงทั้ง 2 ฟาก ถ้าข้าศึกมาดักทางทัพเรือจะรบพุ่งยังเสียเปรียบ แต่ดำรัสว่าไม่ช้าดอกน้ำเหนือคงหลากมา คงได้ยกขึ้นไปตามกัน พอสองสามวันน้ำก็หลากดังพระราชดำรัส พระองค์ก็ยกกองทัพเรือตามขึ้นไป

เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยแท้

“…แล้วพอทัพบกข้ามแม่น้ำน้อยเสียได้สามวันน้ำก็เกิดมากขึ้น เดชะพระบารมีบรมโพธิสมภาร ครั้นถึงสามวัน น้ำก็เกิดมากเสมอตลิ่งบ้างล้นตลิ่งบ้างประดุจตรัสไว้นั้น จำเดิมแต่นั้น กองทัพบกทัพเรือทั้งปวงได้แจ้งเหตุแล้ว ก็ยกมือขึ้นกราบถวายบังคมเอาพระเดชเดชานุภาพปกเกล้าฯ มีน้ำใจมิได้ย่อท้อต่อการรณรงค์ ก็องก็อาจที่จะรบสู้หมู่ปัจจามิตรข้าศึก ด้วยเห็นพระบารมีเป็นแท้…”

หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้ยกทัพหลวงเสด็จออกจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค เมื่อวันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เวลาประมาณ 08.00 นาฬิกา

“วันอาทิตย์ แรม 7 ค่ำ เดือน 9 เพลา 2 โมงเช้า ยกทัพหลวงจากเมืองพิษณุโลกโดยทางชลมารค ประทับรอนแรมไปได้ 3 เวน พบผู้ถือหนังสือบอกกองหน้า ใจความว่าได้เมืองฝางแล้ว แต่อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงยังติดตามอยู่ ก็เสด็จรีบไปทั้งกลางวันกลางคืน ถึงตำหนักค่ายหาดสูง ให้นายทัพนายกองเกณฑ์กันไปติดตามอ้ายเรือนฝางแลนางพญาช้างเผือกจงได้”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์ว่าในแง่อุดมการณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปรียบที่จะประณามกลุ่มเจ้าพระฝางว่าเป็น “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ได้อย่างสะดวก ขุนนางจำนวนไม่น้อยที่รับราชการขณะนั้นก็พร้อมจะยอมรับได้ทันทีว่ากลุ่มเจ้าพระฝางเป็น “คนอาสัตย์อาธรรม” เพราะย่ำยีพระธรรมวินัยและย่ำยีจารีตประเพณีทางการเมืองของราชอาณาจักรอยุธยาไปพร้อมกัน อีกทั้งการปราบชุมนุมเจ้าพระฝางยังสอดคล้องกับการที่พระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรอยุธยาต้องแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาด้วย เพราะเป็นการยอยกพระพุทธศาสนามิให้ถูกฝ่ายอธรรมย่ำยี

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ จะมีการบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระบารมีหรือเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเมืองสวางคบุรี ตลอดจนให้ภาพว่าพระองค์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” อย่างชัดเจนภายหลังจากที่ปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเสร็จสิ้น เช่น การสมโภชปูชนียสถานสำคัญต่างๆ ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นต้น

สมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313

เมื่อทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็เกิดการต่อสู้กันเป็นกำลังระหว่างกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชากับกองทัพเจ้าพระฝาง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

“ฝ่ายกองทัพพระยายมราช และพระยาพิชัยราชายกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และเมืองสวางคบุรีนั้น ตั้งแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน หามีกำแพงไม่ เจ้าพระฝางก็เกณฑ์พลทหารขึ้นรักษาเชิงเทินรอบเมืองยิงปืนใหญ่น้อยต่อรบป้องกันเมือง แต่คิดครั่นคร้ามพระเดชานุภาพเป็นกำลัง…”

จากข้อความในพระราชพงศาวดารจะเห็นได้ว่า กองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ตั้งค่ายล้อมเมืองสวางคบุรีไว้ ในขณะเดียวกันก็ได้ยิงปืนใหญ่น้อยต่อสู้กัน โดยที่ฝ่ายเมืองสวางคบุรีนั้นมีเพียงระเนียดไม้ขอนสักทำเป็นกำแพงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำแพงอิฐหรือคันดินสูงเหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองในลุ่มแม่น้ำน่าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมืองสวางคบุรีมีสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อยุทธศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่มีการสร้างกำแพงเมืองก็เป็นได้ สภาพพื้นที่หรือสมรภูมิศึกเมืองสวางคบุรีใน พ.ศ. 2313 จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้ทราบในที่นี้ด้วย

ข้อมูลจากการลงพื้นที่ของผู้เขียนและการสัมภาษณ์ คุณตาเย็น ภู่เล็ก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลผาจุก ซึ่งเป็นชาวบ้านพระฝางโดยกำเนิด และเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดพระฝาง ทำให้ทราบว่าเมืองสวางคบุรีมีคลองธรรมชาติ 2 สายเป็นแนวคูเมืองธรรมชาติ นอกเหนือจากเขตเมืองทางทิศเหนือที่ติดกับแม่น้ำน่าน

ทางทิศตะวันออกมีคลองน้ำพุ ซึ่งไหลมาจากบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านทางด้านตะวันออกของเมือง ทางทิศตะวันตกมีคลองพระฝาง ซึ่งไหลมาจากเชิงเขาใกล้กับบ่อน้ำพุเจ้าพระฝางแล้วไหลมาลงแม่น้ำน่านที่บ้านบุ่ง ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง คลองทั้ง 2 สายมีขนาดร่องน้ำที่ลึกมาก ในอดีตมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันในฤดูแล้งน้ำค่อนข้างมีน้อยเนื่องจากว่าป่าไม้ต้นน้ำถูกทำลายไปมาก

คุณตาเย็น ภู่เล็ก ยังได้ให้ข้อมูลว่า ตอนที่ท่านยังเป็นเด็ก พ่อแม่พาไปทำไร่ทำนายังเคยเห็นหลักไม้ขนาดใหญ่ปักเป็นแนวคล้ายระเนียดหรือกำแพงเมือง ที่ริมฝั่งคลองพระฝางทางทิศใต้ของเมือง ท่านเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองสวางคบุรีที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระฝางเรืองอำนาจเพื่อรับศึกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

นอกจากนี้ถ้าหากดูจากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ จะพบว่าบริเวณที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ราบลุ่มแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาถึง 3 ด้านด้วยกัน ยกเว้นทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้นที่ไม่มีภูเขากั้น มีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบลุ่มหุบเขา และถือว่าเป็นที่ราบลุ่มแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำน่านตอนล่าง

นอกจากที่ตั้งของเมืองสวางคบุรีจะมีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในทางยุทธศาสตร์ก็เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการดีที่มีภูเขาล้อมรอบ เพราะข้าศึกสามารถเข้ามาได้เพียง 2 ทาง คือ ทางด้านตะวันตกและด้านตะวันออก แต่ทว่าทางตะวันออกนั้นอาศัยเข้ามาทางแม่น้ำน่านตามหุบเขาเพียงทางเดียวเท่านั้น หากมีการตั้งด่านสกัดกั้นขวางแม่น้ำข้าศึกก็เข้ามายังตัวเมืองได้ลำบาก ในขณะที่ทางด้านตะวันตกสามารถเดินทางเข้ามาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยสรุปแล้วก็เหมือนกับว่าข้าศึกสามารถเข้าตีเมืองได้ทางตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น

แม้ว่าสภาพภูมิประเทศดังกล่าวที่มีความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกองทัพอันห้าวหาญและมีจำนวนไพร่พลนับหมื่นของกองทัพพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาได้ จนในที่สุดกองทัพเจ้าพระฝางต้องแตกพ่ายไป

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในเขตบ้านคุ้งตะเภา ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในเขตเมืองสวางคบุรี ได้ให้ข้อมูลที่สื่อให้เห็นว่ากองทัพของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาไม่ได้เข้าตีเมืองสวางคบุรีในตำแหน่งที่มีคลองลึกดังกล่าวมาแล้วขวางอยู่ หากแต่เข้าตีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นที่ราบและทุ่งกว้าง

บริเวณ “ทุ่งบ่อพระ” เป็นตำแหน่งที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่ามีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นจุดปะทะรบพุ่งกันระหว่างกองทัพกรุงธนบุรีกับกองทัพเจ้าพระฝาง เคยมีการพบชิ้นส่วนอาวุธ เช่น หอกและดาบโลหะ เป็นต้น อยู่ในบริเวณทุ่งบ่อพระ

คำว่า “บ่อพระ” นี้ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่กลางทุ่งเคยมีบ่อน้ำที่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ ปัจจุบันถูกดินถมและสูญหายไปแล้ว บางคนให้ข้อมูลว่าเคยมีการพบพระพุทธรูปในบ่อน้ำ บ้างก็ว่าเป็นบ่อน้ำที่พระสงฆ์เคยนำน้ำไปใช้สรง ในขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “บ่อพัก” ก็เป็นได้

กองทัพบกของของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาเมื่อมาถึงเขตเมืองสวางคบุรีนั้น สันนิษฐานว่าได้ตั้งค่ายใหญ่อยู่บริเวณที่เรียกว่า “หัวไผ่หลวง” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบึงกะโล่ในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณนี้มีคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่าเป็นที่ตั้งของกองทัพสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยยกทัพมาจากริมฝั่งแม่น้ำน่านบริเวณ “ท่าควาย” ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะมีคำบอกเล่าว่าเป็นท่าน้ำที่พ่อค้านำควาย-วัวมาลงแล้ว ท่าควายยังเป็นท่าน้ำสำคัญในเขตนี้ด้วย จากนั้นก็คงเคลื่อนทัพจากสองฝั่งแม่น้ำน่านไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่บริเวณหัวไผ่หลวงและมีค่ายเล็กกระจายล้อมรอบเมืองสวางคบุรี

เส้นทางนี้ เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จเมืองฝางและทอดพระเนตรวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถใน พ.ศ. 2444 พระองค์ก็เสด็จตามเส้นทางนี้ ดังปรากฏในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่าเสด็จมาทางเรือแล้วขึ้นที่ท่าวัดป่ากล้วยใต้บ้านคุ้งตะเภาลงมาเล็กน้อย

“…ลงเรือเล็กออกจากที่พัก ขึ้นไปตามลำน้ำ จอดที่วัดป่ากล้วย ฝั่งตะวันออกแม่น้ำ ขึ้นม้าตัดทางตรงไปเมืองฝาง ตามทางตอนริมตลิ่งเปนป่าพง ลึกเข้าไปเปนป่าเตงรังตลอด ทางเปนน้ำเปนโคลน เพราะเมื่อคืนนี้ฝนตกยังรุ่ง ม้าวิ่งได้บ้าง ไม่ได้ต้องเดินไปบ้างในที่ต้องลุยน้ำ ตอนจวนถึงเมืองฝางเปนป่าแดงเพราะใกล้แม่น้ำ…”

เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศแล้วพบว่า บริเวณหัวไผ่หลวงเป็นที่ดอนอยู่ติดกับบึงกะโล่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรี จึงมีความเป็นไปได้อาจเป็นที่ตั้งค่ายของพระยายมราชและพระยาพิชัยราชาในศึกเมืองสวางคบุรี พ.ศ. 2313 ก็เป็นได้ เพราะทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสวางคบุรีก็เป็นทางเดียวที่เป็นที่ราบ สามารถเข้าตีเมืองสวางคบุรีได้สะดวกมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. ๒๓๑๓ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ ‘พวกสงฆ์อลัชชี’ ที่เมืองสวางคบุรี” เขียนโดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ลั่นกลองรบ! สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

“หัวไชเท้า” พืชหัวที่หลายคนชื่นชอบ ทำไมเรียกด้วยชื่อนี้

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

นางสุชาดา “สีกา” หมายเลข 1 ในพุทธศาสนา

9 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

น้องเมยตายเพราะขึ้นบันไดผิด? เปิดปม "บันไดศักดินา" เตรียมทหารฯ

SpringNews

Whole Food Diet แบบบ้านๆ ก็ดีต่อสุขภาพได้ ไม่ต้องสายคลีนสุดโต่ง

THE POINT

"บาร์บีคิวพลาซ่า" เปิดโฉมใหม่ที่เซ็นปิ่น พร้อมไฮไลต์พิเศษกับเมนู GON SELECT

Manager Online

ถอดรหัสภาษากายสี่ขา รู้จักอารมณ์ "น้องหมา" ผ่านท่าทางและเสียง

คมชัดลึกออนไลน์

JISOO IN NEW DIOR ชุดสั่งตัดพิเศษโดย Jonathan Anderson ที่คอนเสิร์ต BLACKPINK

THE STANDARD

ผลกระทบ “พายุวิภา” อช.ภูสอยดาว ประกาศปิดการท่องเที่ยวชั่วคราว

Manager Online

ล้วงลึกแนวคิด Upbit แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก

Capital

ออม กรณ์นภัส ส่งซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรก ระยะไกลของดวงจันทร์ ประกอบซีรีส์ เพียงเธอ Only You The Series

THE STANDARD

ข่าวและบทความยอดนิยม

ลั่นกลองรบ! สงครามปราบก๊กเจ้าพระฝาง แห่งสวางคบุรี ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ศิลปวัฒนธรรม

“หัวไชเท้า” พืชหัวที่หลายคนชื่นชอบ ทำไมเรียกด้วยชื่อนี้

ศิลปวัฒนธรรม

นางสุชาดา “สีกา” หมายเลข 1 ในพุทธศาสนา

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...