โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สืบหาพระญาติวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชผู้ “ไร้ญาติขาดมิตร” ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

เช่นเดียวพระราชประวัติที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย กับหลายประเด็นที่ยังมีเครื่องหมายคำถามติดท้ายเอาไว้ ข้อมูลเกี่ยวกับพระญาติวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่ในความรับรู้ของเราน้อยมาก จนน่าตั้งคำถามว่าที่รัชสมัยและราชวงศ์ของพระองค์สิ้นสุดด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียง 15 ปี อาจเพราะพระองค์ทรงเป็นมหาราชที่ “ไร้ญาติขาดมิตร” ?

พระญาติวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน

ก่อนอื่น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็น “ลูกจีน” เพราะหลักฐานจำนวนมากกล่าวตรงกันว่าพระองค์มีพระราชบิดาเป็นจีน

จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2311 หลักฐานเก่าสุดที่กล่าวถึงพระชาติกำเนิดระบุว่า “พระยาตากซึ่งเป็นชาติจีนครึ่งหนึ่ง” ส่วน ต้าหนานฉือลู่พงศาวดารราชวงศ์ยาลองของเวียดนาม กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นคนแต้จิ๋ว

หลักฐานไทยเก่าสุดระบุว่า พระราชบิดาของพระองค์แซ่ “แจ้ง”ตรงกับสำเนียงจีนกลางว่า “เจิ้ง”หรือสำเนียงแต้จิ๋วว่า “แต้”เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียกว่า “จีนหัยหง” และหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษกล่าวถึงว่าเป็น “จีนไหยฮองชื่อหยง แซ่แต้…”

คำว่า หัยหง-ไหยฮอง ก็คือ ไฮ้ฮงหรือไห่เฟิงในภาษาจีนกลาง เป็นอำเภอเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของเมืองซัวเถา เชื่อถือกันว่าเป็นภูมิลำเนาของ “นายเจิ้งหยง”พระราชบิดาของพระเจ้ากรุงธนบุรี

อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่า เจิ้งหยงอาจมาจากอำเภอเฉิงไห่ เพราะมีสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง รวมถึงศาลประจำตระกูลที่เพิ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2464 ตามธรรมเนียมจีนสมัยนั้นว่า หากบุตรหลานผู้ตายไม่สามารถส่งศพไปฝังบ้านเกิดได้ จะส่งเสื้อผ้าไปฝังแทน

ดังนั้น ต้นสายฝั่งพระราชบิดาของพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงน่าจะมาจากถิ่นแต้จิ๋วค่อนข้างแน่นอน สอดคล้องกับการที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ เป็นทำเลค่อนข้างแร้นแค้น ภูมิประเทศไม่อำนวย ผู้คนจึงอพยพมายังสยาม จากการเติบโตของตลาดค้าข้าวยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเจิ้งหยงก็เป็นหนึ่งในคนที่อพยพมาแล้วสร้างเนื้อสร้างตัวในอยุธยาได้สำเร็จ

ส่วนพระราชมารดานามว่า “นกเอี้ยง”เป็นคนเมืองเพชรบุรี เป็นญาติพระยาเพชรบุรี เจ้าเมืองเพชรบุรีที่เสียชีวิตครั้งรบพม่าก่อนกรุงแตกร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี (ยังเป็นพระยาตาก) พระยาเพชรบุรีผู้นี้เป็นบิดาของพระยาสวรรคโลก ต้นสกุลบุญ-หลง พลางกูร และกรีวัตร ที่ระบุต้นสกุลตนเองว่าเป็นจีน พระราชมารดาของพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงน่าจะมีเชื้อสายจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนญาติวงศ์ทั้งฝ่ายบิดา-มารดาของพระเจ้ากรุงธนบุรี จะไม่ได้เกื้อหนุนค้ำจุนพระราชอำนาจของพระองค์เท่าที่ควรจะเป็น

นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี(มติชน : 2550) ระบุว่า เจิ้งหยงแทบไม่มีญาติสนิทในสยามเลย เพราะแทบไม่พบชื่อในสมัยกรุงธนบุรี เท่าที่พบคือ “เจ้าเสง” (ไม่ปรากฏบทบาท) กับญาติอีกคนที่สิ้นพระชนม์และทำพระเมรุใน พ.ศ. 2317 เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์ เข้าใจว่าเป็นผู้ใหญ่ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้ความนับถือมาก และใกล้ชิดพอที่จะเก็บอัฐิไว้ในพระราชวัง

นอกเหนือจากพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชบิดา ก็จะมีพระราชนัดดาอีก 4 พระองค์เท่าที่พบในหลักฐาน ได้แก่ เจ้านราสุริวงศ์,เจ้ารามลักษณ์(กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระนามเดิม บุญมี), เจ้าบุญจันทร์(กรมขุนรามภูเบศร์) และ กรมขุนสุรินทรสงครามแต่ไม่มีหลักฐานว่าพระเจ้าหลานเธอเหล่านี้มีสัมพันธ์กับทางสายพระราชบิดาหรือพระราชมารดาของพระเจ้ากรุงธนบุรี

แต่ที่พอจะวิเคราะห์ได้คือ เจ้ารามลักษณ์ไม่น่าเป็นพระเจ้าหลานเธอที่สนิทชิดเชื้อนัก เพราะตำแหน่งที่ได้เป็นก่อนทรงกรมคือตำแหน่งเจ้าราชนิกุลชั้นผู้น้อย ศักดินาเพียง 800 ไร่ โดยโปรดฯ ให้ไปกำกับเมืองเพชรบุรีเมื่อทรงกรมเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงครามแล้ว หากพระราชมารดาของพระองค์เป็นคนเพชรบุรีจริง ๆ ย่อมแปลว่าเจ้านายพระองค์นี้คงเกี่ยวดองกับฝ่ายมารดา

สำหรับพระเจ้าหลานเธอพระองค์อื่น ๆ แม้ไม่ทราบว่ามีสัมพันธ์กับพระองค์อย่างไร แต่เข้าใจได้ว่าไม่ใช่ “หลานสนิท” อีกเช่นกัน เพราะได้ทรงกรมต่อมาภายหลังการเสวยราชสมบัติไประยะหนึ่งแล้วเกือบทั้งสิ้น อย่างกรมขุนรามภูเบศร์ ก็เป็นเพียง “เจ้าบุญจันทร์” อยู่หลายปีกว่าจะได้ทรงกรม

ข้อสังเกตคือ เมื่อพระราชมารดาของพระเจ้ากรุงธนบุรีข้องเกี่ยวกับพระยาเพชรบุรี คือเป็นถึงญาติของเจ้าเมืองเพชรบุรี ไฉนจึงปรากฏบทบาทของพระญาติวงศ์ทางนี้น้อยมาก ?

นิธิตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประการ ในกรณีญาติฝ่ายมารดาเป็นจีนจริง ๆ คือ ประการแรก ช่วงปลายอยุธยา คนจีนส่วนใหญ่ที่ไต่เต้าไปได้ไกลในระบบราชการมักเป็น“จีนฮกเกี้ยน” ขณะที่เจิ้งหยงและพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น “จีนแต้จิ๋ว”ความระแวงและดูแคลนกันเองระหว่างจีนสำเนียงต่าง ๆ ทำให้กลุ่มคนจีนที่แวดล้อมสมเด็จพระเจ้าตากสินมักเป็นแต้จิ๋วเป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่จะได้กำลังสนับสนุนจากญาติสายมารดาจึงน้อยลงไปด้วย

ประการที่ 2 สายตระกูลของนางนกเอี้ยงคงยังไม่ได้ฝังตัวในระบบราชการสยามนานมากนัก จึงไม่มีประสบการทางการเมือง หลัก ๆ จะยังอยู่ในกิจการค้าขายเหมือนชาวจีนส่วนใหญ่ กำลังของพระญาติวงศ์สายพระราชมารดาจึงไม่มีประโยชน์ทางการเมืองเท่าใดนัก เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม

เมื่อพระราชบิดาไม่มีญาติสนิทในสยาม ญาติวงศ์ฝ่ายพระราชมารดาก็ไม่เข้มแข็งพอจะเสริมความแข็งแกร่งให้พระราชวงศ์ได้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อพระราชอำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนิธิกล่าวว่า

“เจิ้งหยงไม่สู้จะมีญาติสนิทในเมืองไทยมากนัก ความโดดเดี่ยว (โดยเปรียบเทียบ) ไร้ญาติขาดมิตรจะถ่ายทอดมายังบุตรชายคือพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยการเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ขาดกำลังญาติจะปลูกฝังไว้เป็นที่พึ่งและวางใจได้ จะเป็นปัญหาทางการเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกันพระราชมารดาก็ดูเหมือนจะไม่มีญาติเป็นกลุ่มก้อนมากเท่าใดนัก…

พระมเหสีเอกหรือเจ้าครอกหอกลางก็ไม่ค่อยมีญาติสนิทที่เหลือมาถึงสมัยของพระองค์มากนัก หรือตั้งหลักแหล่งมั่นคงเป็นกลุ่มเป็นก้อน เหตุฉะนั้น หากราชวงศ์ธนบุรียืนยงต่อมา อำนาจของตระกูลของเจ้าจอมมารดาบางคน เช่น ธิดาเจ้านครฯ หรือธิดาเจ้าพระยาจักรี ก็จะสั่งสมอำนาจขึ้นทีละน้อยจนกลายเป็นตระกูลที่คุมอำนาจทางการเมืองไว้สูงสุดก็ได้”

กล่าวคือ ด้วยสถานการณ์พระญาติพระวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในราชสำนักกรุงธนบุรี แม้ราชวงศ์ธนบุรีจะดำรงสืบต่อจากรัชกาลของพระองค์ได้ ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะยืนยงอยู่นานแค่ไหน เพราะสุดท้ายอาจถูกโค่นล้มจนได้อยู่ดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สืบหาพระญาติวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชผู้ “ไร้ญาติขาดมิตร” ?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ศิลปวัฒนธรรม

“ทหารทั้งหลาย! อย่าสู้เพื่อระบอบทาส จงสู้เพื่อเสรีภาพเถิด” บทอมตะจากหนังล้อเผด็จการ

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

3 อันดับแซ่จีน ที่มีมากสุดในประเทศไทย มีอะไรบ้าง?

3 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

บทเพลง รอยสัก ความรัก และ Dept ย้อนดูความทรงจำผ่านบทเพลง ก่อนฝังเป็นรอยสัก

ONCE

“ไพน์เฮิร์สท” ของดีเมืองปทุมฯ ครบทั้งกอล์ฟและไลฟ์สไตล์!

สยามรัฐวาไรตี้

ค่าใช้จ่ายศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน ต้องรู้อะไรบ้างก่อนวางแผนฝากลูก

new18

มูลนิธิรามาธิบดีฯ จับมือ 5 ศิลปินดัง ส่งต่อ “ความสุขไม่มีที่สิ้นสุด”

Manager Online

รู้จัก "นัตโตะ" ถั่วเน่าญี่ปุ่น ที่ประโยชน์ล้นเหลือ กินอย่างไรให้อร่อย แถมดีต่อสุขภาพ

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

2 ไส้กรอกไทย ไส้กรอกอีสาน ไส้อั่ว ติดท็อป 5 สุดยอดไส้กรอกแห่งเอเชีย

GM Live

เบกกิ้งโซดา ใช้ดับกลิ่นได้จริงไหม มีอันตรายหรือเปล่า

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์

ไม่ใช่มีแค่ซูชิจากญี่ปุ่น แต่เซเว่นฯ เตรียมเสิร์ฟซาลามีจากฝรั่งเศส

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

ข่าวและบทความยอดนิยม

สืบหาพระญาติวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชผู้ “ไร้ญาติขาดมิตร” ?

ศิลปวัฒนธรรม

“ลงสรงสนาน” พระราชพิธีเก่าแก่ ที่ ร.5 ทรงจัดขึ้น เพื่อสถาปนามกุฎราชกุมาร

ศิลปวัฒนธรรม

จักรพรรดิญี่ปุ่นยกพระราชธิดาให้ ร.6 (?) ไทยเกือบมีพระราชินีเป็นราชนารีแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

ศิลปวัฒนธรรม
ดูเพิ่ม
Loading...