ดักทางกลโกง "Pig Butchering" ฟอกเงิน-ค้ามนุษย์ ผ่านธุรกรรมคริปโต
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จับมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน ดักทางอาชญากรรมฟอกเงินผ่านเส้นทางธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอ้างอิงถึงผลการวิจัยการใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อสนับสนุนองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน โดยเฉพาะการหลอกลวงรูปแบบ "Pig Butchering" (หลอกลวงผ่านความสัมพันธ์ออนไลน์) และการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการวิเคราะห์ธุรกรรมคริปโตจากเหยื่อที่ตกเป็นเป้า
งานวิจัยดังกล่าวพบข้อมูลที่น่าตกใจที่ระบุว่า การหลอกลวงรูปแบบ "Pig Butchering" ที่ใช้เงินคริปโตเคอร์เรนซีในการฟอกเงินนั้น มีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท และกระทบต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
โดย Pig Butchering เป็นรูปแบบการหลอกลวงที่อาชญากรจะสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อผ่านการสื่อสารออนไลน์ และสร้างความไว้วางใจเหมือนการ "เลี้ยงหมู" ก่อนที่จะเชือดด้วยการหลอกให้ลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ในรายงานยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการหลอกลวง Pig Butchering กับการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาส โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ และไทยด้วย
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบริษัทสัญชาติไทยอย่าง Bitkub ว่าเป็นหนึ่งใน exchange ที่มีเงินไหลเข้าสู่บัญชีของผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากมาตรการตรวจสอบและยืนยันตัวตน (KYC) ที่ไม่เข้มงวดเท่ากับ exchange ในประเทศตะวันตก ทั้งยังอยู่นอกเขตอำนาจศาลของสหรัฐฯ ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้าถึงได้ยาก
ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลใจว่า การตรวจสอบธุรกรรมและการระบุตัวตนผู้ใช้ของ exchange ในไทน รวมถึงในเอเชีย อาจยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ทำให้องค์กรอาชญากรรมสามารถย้ายเงินได้ง่ายเกิดไป จำเป็นต้องมีการเพิ่มมาตรการป้องกันและติดตามธุรกรรมคริปโตอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการนำคริปโตไปใช้สนับสนุนอาชญากรรม
โดยก.ล.ต. มีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำความรู้จักกับลูกค้า (KYC) เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงให้ชัดเจน และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งจะมีการตรวจสอบให้มีการดำเนินการไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงหลักเกณฑ์ในเรื่องมาตรการจัดการบัญชีม้า
ก.ล.ต. จึงออกประกาศ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- ปรับปรุงให้ ก.ล.ต. เป็นผู้กำหนดชุดข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเก็บรวบรวมและเปิดเผยต่อ ก.ล.ต. ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำหนดชุดข้อมูล
- ปรับปรุงรายละเอียดชุดข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเก็บรวบรวมและเปิดเผยต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในการกำกับดูแลและการติดตามความเสี่ยงของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทางปฏิบัติ โดยยังคงสามารถติดตามความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน เช่น ปรับปรุงกรอบเวลาในการเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลต่อ ก.ล.ต. เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการนิยามการจัดระดับบัญชีม้าตามความเสี่ยง ดังนี้
- ม้าดำ คือ ผู้ที่อยู่ในรายชื่อผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ของ ปปง.
- ม้าเทา คือ ผู้ที่ถูกแจ้งความหรือแจ้งธนาคารว่าอยู่ในเส้นทางเงินและมีผู้ที่ได้รับความเสียหาย
- ม้าน้ำตาล คือ คนที่ธนาคารเห็นว่าบัญชีธนาคารมีพฤติกรรมผิดปกติที่อาจเข้าข่ายเป็นบัญชีม้า และต้องเฝ้าระวัง