แอร์หรือพัดลม อะไรเสี่ยงทำให้เป็นหวัดมากกว่า? เผยวิธีใช้เครื่องเย็นอย่างปลอดภัยในฤดูร้อน
ใช้พัดลมหรือแอร์เสี่ยงเป็นหวัดมากกว่ากัน แล้วคนป่วยเปิดแอร์ได้ไหม? ผู้เชี่ยวชาญเผยคำแนะนำการ ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัยในฤดูร้อน
ในช่วงฤดูร้อน หลายคนมักสงสัยว่า "ใช้พัดลมหรือแอร์เสี่ยงเป็นหวัดมากกว่ากัน?" โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีอาการป่วยหรือเป็นหวัดอยู่แล้ว ยิ่งต้องระวังเรื่องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็น เพราะหากใช้งานไม่ถูกวิธี อาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้
คนเป็นหวัดควรใช้แอร์ไหม?
ผู้ที่เป็นหวัดไม่จำเป็นต้องงดใช้แอร์โดยสิ้นเชิง แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากในขณะป่วย ระบบปรับอุณหภูมิของร่างกายจะทำงานได้ไม่ดีเท่าปกติ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็วอาจทำให้อาการทรุดลง
หากอากาศในห้องร้อนอบอ้าวจนรู้สึกอึดอัด การเปิดแอร์เป็นทางเลือกที่ช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น โดยควรตั้งอุณหภูมิไว้ที่ประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส และหลีกเลี่ยงไม่ให้ลมเย็นเป่าตรงตัว นอกจากนี้ ไม่ควรอยู่ในห้องแอร์นานเกินไป ควรเปิดหน้าต่าง หรือออกไปรับอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวกับอุณหภูมิภายนอก
แต่หากอาการหวัดหนัก เช่น มีไข้สูง ปวดหัว หรือมีน้ำมูกมาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอร์ โดยหันมาใช้พัดลม หรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทจะปลอดภัยกว่า
พัดลมหรือแอร์ เสี่ยงเป็นหวัดมากกว่ากัน? สำหรับคำถามนี้ ความจริงแล้วหากใช้งานไม่ถูกวิธี ทั้งพัดลมและแอร์ต่างก็สามารถทำให้เป็นหวัดได้ทั้งคู่
“พัดลม” ช่วยให้อากาศหมุนเวียน และทำให้เหงื่อระเหยเร็วขึ้น จึงรู้สึกเย็นสบาย แต่หากปล่อยให้พัดลมเป่าจุดเดิมนานๆโดยเฉพาะขณะนอนหลับ ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวและเป็นหวัดได้
“แอร์” ความเสี่ยงอยู่ที่ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างภายในและภายนอกห้อง หากออกจากห้องเย็นไปเจออากาศร้อนจัด หรือกลับกันอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เสี่ยงต่อการเป็นหวัด อีกทั้งห้องแอร์มักปิดมิดชิด ทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากมีผู้ป่วยอยู่ภายใน ห้องนั้นจะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะแอร์ที่ไม่ได้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้น เพื่อใช้งานแอร์อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติดังนี้
1. ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสม
หลีกเลี่ยงการปรับแอร์ให้ต่ำเกินไป เช่น ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจทำให้ร่างกายหนาวเกินจำเป็น และสิ้นเปลืองพลังงาน ควรตั้งไว้ที่ประมาณ 26 องศาเซลเซียส และให้อุณหภูมิภายในและภายนอกต่างกันไม่เกิน 7 องศาเซลเซียส
2. หลีกเลี่ยงลมเย็นเป่าตรงตัว
ลมแอร์ที่เป่าตรงๆ อาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดหัว หรือปวดเมื่อยตามข้อได้ ควรปรับให้ลมแอร์พุ่งขึ้นเพดาน เพื่อให้ความเย็นกระจายอย่างสม่ำเสมอ
3. เปิดระบายอากาศเป็นระยะ
ห้องแอร์ที่ปิดสนิทนานๆ ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รู้สึกมึนหัวหรืออึดอัดควรเปิดหน้าต่างหรือประตูเพื่อระบายอากาศประมาณ 15-20 นาทีทุกๆ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้เครื่องฟอกอากาศแทน
4. ทำความสะอาดแอร์สม่ำเสมอ
แผ่นกรองอากาศควรล้างทุก 1-2 สัปดาห์ สามารถถอดออกมาล้างเองได้ ส่วนภายในเครื่องควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาทำความสะอาดอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อโรคสะสม
5. หลีกเลี่ยงเข้าห้องแอร์ในขณะเหงื่อออก
หลังจากอยู่กลางแจ้งหรือออกกำลังกาย ควรเช็ดเหงื่อและปล่อยให้ร่างกายเย็นลงก่อนเข้าห้องแอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายช็อกจากความเย็น
6. ใช้โหมดนอนตอนกลางคืน
ตอนกลางคืนควรตั้งแอร์ในโหมด Sleep เพื่อให้เครื่องปรับอุณหภูมิขึ้นเล็กน้อยตามเวลานอน พร้อมห่มผ้าบาง ๆ เพื่อป้องกันอุณหภูมิร่างกายลดต่ำเกินไป
ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรใช้แอร์อย่างระมัดระวังมากเป็นพิเศษหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์นานเกินไป และควรปรับอุณหภูมิให้อบอุ่นสบาย ไม่เย็นจัด
ท้ายที่สุดสรุปได้ว่า พัดลมและแอร์สามารถทำให้เป็นหวัดได้ หากใช้งานไม่ถูกวิธี การดูแลความสะอาด ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม และเปิดระบายอากาศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การใช้เครื่องทำความเย็นในหน้าร้อนปลอดภัย และไม่กระทบต่อสุขภาพ