3 ประธานตลท. ประสานโอกาสหุ้นไทยสร้างเสน่ห์ ปลดล็อกกม.- เน้นทุกหน่วยงานเอื้อธุรกิจ-เข้มงวดลงโทษ
งานสัมมนา “Legacy & Future : 50 Years of Thai Capital Market” ภายใต้โครงการ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชวนทำความดีเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งแวดวงตลาดทุนไทยร่วมงานคับคั่ง จากอดีตประธานกรรมการตลท. อดีตผู้จัดการ ตลท. ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนชื่อดังในตลาดทุน
ภายในงาน นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน สถาบันตัวกลาง สมาคม องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ภาคสังคม และสื่อมวลชน ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมกันขับเคลื่อนและสนับสนุนตลาดทุนไทยของเรามาอย่างต่อเนื่อง เป็นพลังบวก ได้ร่วมกันวางทิศทางและสร้างรากฐานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดทุนไทยเติบโตเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงจวบจนทุกวันนี้
"50 ปีข้างหน้าคงต้องเจออะไรอีกมากมาย แต่ในวันนี้ มีความสามัคคีและความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนมีทางเลือก มีข้อมูลและความรู้เพียงพอในการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ สร้างโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนและที่จะจดทะเบียนที่อยากจะเสริมสร้างและต่อยอดธุรกิจให้เติบโตไปกับเศรษฐกิจไทยได้เข้าถึงทุนที่เหมาะสม"
โดยได้โอกาสพิเศษ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ธุรกิจไทยโตคู่สังคม" ระบุถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย เริ่มจากปี พ.ศ. 2518 ด้วยบริษัทจดทะเบียน 8 บริษัท ปัจจุบันปี พ.ศ. 2568 มีมากกว่า 800 บริษัท สามารถสร้างโอกาสการระดมทุนได้มากกว่า 6 ล้านล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ภาวะตลาดหุ้นดัชนีมีทั้งขึ้นและลง แต่การหลีกเลี่ยงหรือทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นขององค์กร โดยเฉพาะการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมของโลก ดังนั้น การพัฒนาของผู้ระดมทุนนำไปสู่ผลลัพธ์ความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนรายย่อย และภาคเอกชน
"ผมอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพัฒนาและฟื้นฟูความเชื่อมั่น Trust and Confidence ให้กลับมาให้ได้ หน้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมผู้ระดมทุน การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กรเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่สำคัญเพื่อนำมาซึ่งการสร้างโอกาสและทางเลือกของนักลงทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ให้ประชาชนสามารถลงทุนด้วยข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจ ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีและยั่งยืน"
รวมถึงเปิดมุมมองอดีตและปัจจุบันประธานกรรมการตลท. "มองอดีต สร้างอนาคต บรรษัทภิบาลไทย"
ท่านแรก ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 16 กล่าวถึงความท้าทายในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 ว่า แม้ช่วงเวลาดังกล่าว ภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย ทำให้ทุกอย่างไปได้ดี แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสร้างเสถียรภาพให้ระบบ 2 ด้าน คือ
1. การดูแลระบบตลาดให้มีความมั่นคง ผ่านระบบ FinNet เพื่อลดจำนวนธุรกรรม (Transaction) ระหว่างลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์ และ 2. การดูแลความมั่นคงของระบบจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ทำให้เกิดการร่วมมือข้ามองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. หรือ ธปท. เพื่อเชื่อมข้อมูลบริษัทลูกค้าและประเมินความเสี่ยง ดูแลบริษัทที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของระบบตลาดตราสารหนี้
การผลักดันงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้มาตรฐานสากลด้วยการเข้ารับการประเมินเป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) จากเดิมมีเพียงสองบริษัท ได้แก่ ปตท. และเอสซีจี แต่เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างองค์ความรู้และส่งเสริมบริษัทอื่นๆ ทำให้ปัจจุบันมีมากกว่า 20 บริษัท
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17 (พ.ศ. 2564-2567) รับตำแหน่งปี พ.ศ. 2564 ภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ได้เลวร้ายแต่ทีมบริการและจัดการ ตลท. เห็นสัญญาณเสน่ห์ตลาดหุ้นไทยหายไป นักลงทุนแวลูถอยออกจากตลาดเพราะผลตอบแทนไม่เป็นตามตามคาดหวัง เทียบกับตลาดหุ้นอื่น บจ.เริ่มเห็นโอกาสการเติบโตลดลง
ดังนั้นเกิด Live Exchange แต่ยังไม่ตอบโจทย์เกณฑ์และระเบียบ ตลท. เกิด LiVE Platform เพราะยังติดแนวคิดตลาดหุ้นแบบเดิม ซึ่งอนาคตตลาดทุนที่เหมาะสมระดมทุนบจ.หรือธุรกิจอาจจะไม่ใช่ที่เห็นทุกวันนี้ รวมทั้งยังมีปริศนา เป็น Paradox ตลาดหุ้นไทย คือ MORE และ STARK ปี 2564-2565
MORE คือคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะปั่นหุ้นและโกงโบรกเกอร์ ด้วยการใช้บัญชีเงินสด วางหลักประกันเพียงแค่ 10% ขณะที่โบรกเกอร์ให้อำนาจซื้อที่สูง แต่เรามีระบบชำระราคาที่เข้มแข็งซึ่งเป็นหัวใจของตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถทำงานได้เรียบร้อย จึงทำให้ระบบไม่เฟล STARK ต้องมีการสร้างระบบที่ดีให้กับผู้สอบบัญชี ผู้ทำบัญชี รวมทั้งคุณภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ ความซื่อสัตย์ของ FA และ IB
"มองว่า MORE และ STARK เป็น Black Swan ที่เกิดขึ้นกับทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่โยงกับ Legacy อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งก็มีความตื่นตัว เช่น เพิ่มเรื่องการเตือน นำ AI มาจับ Financial Ratio การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธรรมาภิบาล (Corporate Governance) การดำเนินคดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น Class Action ดังนั้น Good Governance และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น (Law Enforcement) เป็นสิ่งสำคัญ
และ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งานที่กำลังทำอยู่และจะทำต่อไป คือ การสร้าง Trust and Confidence ให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม พร้อมไปกับทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนโครงการ Thailand Individual Saving Account (TISA) เพื่อส่งเสริมคนไทยซื้อหุ้นระยะยาว การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในงานวิจัย การเปิดเผยข้อมูล มุ่งเน้นไปที่ Future ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเป็นฐานข้อมูลให้นักลงทุน ครบ เข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถขับเคลื่อนได้ อนาคตประเทศไทย จะเห็นสิ่งใหม่ๆ