โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

28 ปีผ่านไป ไทยยังไม่พร้อมรับมือวิกฤตซ้ำต้มยำกุ้ง ปัญหาเก่ายังวนเวียน

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว

วิกฤติเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 28 ปี ของการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ฐานเศรษฐกิจ ได้สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญทั้ง นักธุรกิจและผู้ประกอบการ ผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ และนักวิชาการ เพื่อรวบรวมมุมมองและประสบการณ์ในช่วงดังกล่าว รวมทั้งศึกษาบทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับการป้องกันวิกฤติในอนาคต

การสำรวจครั้งนี้ได้รับการตอบกลับจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 80 คน โดยกลุ่มผู้ตอบที่มีจำนวนมากที่สุดคือนักธุรกิจและผู้ประกอบการ 52.6% รองลงมาคือผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ 12.8% และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ 10.3% ตามลำดับ

ในด้านประสบการณ์ระหว่างช่วงวิกฤติ ผู้ตอบส่วนใหญ่ 19.2% เป็นนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 15.4% เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระหว่างวิกฤติ และอีก 15.4% เป็นผู้ที่ศึกษาและทำความเข้าใจเหตุการณ์ในภายหลัง

การสำรวจครั้งนี้เผยว่า 28 ปีหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศไทยยังคงมีความเปราะบางในหลายมิติ ปัญหาเชิงโครงสร้างหลักยังคงอยู่ โดยเฉพาะระบบราชการที่ซับซ้อน ความเหลื่อมล้ำ และการขาดความสามารถทางเทคโนโลยี

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ไขต้องอาศัยภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ การปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนอย่างแท้จริง โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี หากมีความต่อเนื่องในนโยบาย

หากประเทศไทยต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤติในลักษณะเดียวกัน การปฏิรูปครั้งใหญ่อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในยุคที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น

การวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540

จากการวิเคราะห์ความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ สาเหตุหลักของวิกฤติเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2540 สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ดังนี้

สาเหตุอันดับหนึ่ง คือการกำกับดูแลทางการเงินที่อ่อนแอ ซึ่งผู้ตอบให้ความเห็น 59.0% สะท้อนให้เห็นว่าระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินในขณะนั้นยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ขาดการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม และไม่สามารถป้องกันการสะสมของปัญหาในระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาเหตุอันดับสอง คือการเก็งกำไรเงินบาทจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้รับการกล่าวถึง 51.3% แสดงให้เห็นว่าการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศที่มีลักษณะเก็งกำไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เสถียรในระบบเศรษฐกิจ

สาเหตุอันดับสาม คือปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถูกกล่าวถึง 39.7% สะท้อนปัญหาคุณภาพของสินทรัพย์ในระบบธนาคารที่ก่อตัวขึ้นมาก่อนเกิดวิกฤติ

สาเหตุสำคัญอื่นๆ ได้แก่ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ไม่ยืดหยุ่น (32.1%) การเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน (29.5%) และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ (16.7%)

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากวิกฤติครั้งนี้ตามมุมมองของผู้ตอบแบบสำรวจ คือความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ซึ่งคิดเป็น 33.3% ของผู้ตอบทั้งหมด ผลกระทบนี้มีความสำคัญเพราะความเชื่อมั่นเป็นรากฐานสำคัญของระบบการเงิน เมื่อเสียหายแล้วต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟู

ผลกระทบอันดับสองคือการล้มละลายของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (26.9%) ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของภาคธุรกิจในประเทศเมื่อเผชิญกับวิกฤติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีทุนหมุนเวียนจำกัดและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

ผลกระทบอันดับสามคือการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ (15.4%) เนื่องจากรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือระบบการเงิน ส่งผลให้ภาระทางการคลังของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก

แฟ้มภาพ: ธนาคารแห่งประเทศไทย

การประเมินการจัดการวิกฤติของภาครัฐ

การประเมินการจัดการวิกฤติของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจากผู้ตอบแบบสำรวจแสดงให้เห็นภาพที่หลากหลาย โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ 30.8% ให้คะแนนในระดับไม่ดี โดยระบุว่าการตอบสนองช้าและไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบ 28.2% ให้คะแนนในระดับปานกลาง โดยมองว่ามีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ขณะที่ 17.9% ประเมินว่าดี โดยมีการจัดการที่เป็นระบบแต่ช้าไปบ้าง และมีผู้ตอบ 14.1% ที่ให้คะแนนแย่มาก โดยมองว่าขาดการวางแผนและการประสานงาน

การประเมินที่แตกต่างกันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการจัดการวิกฤติและมุมมองที่หลากหลายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

บทเรียนที่ได้รับจากวิกฤติ

บทเรียนสำคัญที่สุดจากวิกฤติ พ.ศ. 2540 ตามความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ คือความสำคัญของการกำกับดูแลทางการเงินที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ตอบให้ความเห็น 69.2% บทเรียนนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีระบบกำกับดูแลที่สามารถตรวจจับและป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงินได้อย่างทันท่วงที

บทเรียนอันดับสองคือความเสี่ยงของการพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศมากเกินไป (52.6%) ซึ่งเป็นการเตือนให้ประเทศต่างๆ ระวังการพึ่งพาแหล่งเงินทุนที่มีความผันผวนสูงและอาจถอนตัวออกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความไม่แน่นอน

บทเรียนอันดับสามคือความจำเป็นของการมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอและการจัดการความเสี่ยง (46.2%) ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติผ่านการสะสมเงินสำรองที่เพียงพอ

บทเรียนสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ความสำคัญของความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารเศรษฐกิจ (42.3%) ความสำคัญของความยืดหยุ่นในนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน (37.2%) และความสำคัญของการสื่อสารกับประชาชนและการสร้างความเชื่อมั่น (28.2%)

แฟ้มภาพ: ตลาดหุ้นไทย

ความพร้อมของประเทศไทยในปัจจุบัน

การประเมินความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจแบบเดียวกันแสดงให้เห็นภาพที่ค่อนข้างกังวล ผู้ตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 26.9 มองว่าประเทศไทยมีความพร้อมปานกลาง โดยยังมีจุดอ่อนบางประการ แต่ที่น่าวิตกคือมีผู้ตอบถึง 24.4% ที่มองว่าไม่ค่อยพร้อม โดยยังมีความเสี่ยงสูง ขณะที่มีผู้ตอบอีก 24.4% ที่มองว่าค่อนข้างพร้อม เนื่องจากมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง มีเพียง 7.7% เท่านั้นที่มองว่าประเทศไทยพร้อมมาก โดยมีระบบป้องกันที่แข็งแกร่ง ขณะที่มีผู้ตอบอีก 7.7% ที่มองว่าไม่พร้อมเลย และอาจเกิดวิกฤติซ้ำได้

การประเมินนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะผ่านมากว่า 28 ปีแล้ว แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศในการรับมือกับวิกฤติในลักษณะเดียวกัน

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงมีอยู่

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามมุมมองของผู้ตอบแบบสำรวจ โดยปัญหาอันดับหนึ่งคือระบบราชการและกฎระเบียบที่ซับซ้อน ซึ่งผู้ตอบให้ความเห็น 65.4% ปัญหานี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของเศรษฐกิจ

ปัญหาอันดับสองคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม (60.3%) ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางสังคมและการเติบโตที่ยั่งยืน

ปัญหาอันดับสามคือการขาดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี (59.0%) ซึ่งในยุคดิจิทัลนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ปัญหาสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกมากเกินไป (48.7%) การติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (39.7%) การขาดแคลนทักษะดิจิทัลและภาษาต่างประเทศ (37.2%) และปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ (35.9%)

ผลสำรวจ 28 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540

แนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เร่งด่วน

ผู้ตอบแบบสำรวจได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่เห็นว่าเร่งด่วนที่สุด โดยแนวทางอันดับหนึ่งคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา ซึ่งผู้ตอบให้ความเห็น 61.5% สะท้อนความตระหนักว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

นวทางอันดับสองคือการเสริมสร้างประสิทธิภาพภาครัฐ (57.7%) ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาระบบราชการที่ซับซ้อนที่กล่าวมาแล้ว

แนวทางอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมนวัตกรรมและ R&D (48.7%) การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (47.4%) การปฏิรูประบบภาษีและการคลัง (39.7%) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (38.5%) และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (37.2%)

ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

การประเมินระยะเวลาที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างแสดงให้เห็นความท้าทายที่แท้จริง ผู้ตอบส่วนใหญ่ 37.2% เห็นว่าต้องใช้เวลา 5-10 ปี ขณะที่ 29.5% เห็นว่าต้องใช้เวลา 10-15 ปี

น่าสนใจคือมีผู้ตอบถึง 16.7% ที่เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ สะท้อนความท้าทายของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก มีเพียง 5.1% ที่เห็นว่าต้องใช้เวลา 15-20 ปี และ 2.6% ที่เห็นว่าต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปี

การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

ผู้ตอบแบบสำรวจมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

กลุ่มใหญ่ที่สุด 43.6% มองว่าไทย “ฟื้นตัวเร็วกว่าแต่ยังมีจุดอ่อนเหมือนเดิม” ซึ่งสะท้อนว่าแม้ไทยจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติได้เร็ว แต่ปัญหาพื้นฐานยังคงอยู่

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบ 19.2% ที่มองในแง่ลบมากขึ้น โดยเห็นว่า “ฟื้นตัวช้าและยังมีปัญหาโครงสร้างมากกว่าประเทศอื่น” ขณะที่ 12.8% เห็นว่า “ฟื้นตัวในระดับเดียวกับประเทศอื่น”

มีเพียง 7.7% ที่มองในแง่บวกว่า “ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นและแข็งแกร่งกว่า” และอีก 7.7% ที่เห็นว่า “ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นแต่มั่นคงกว่า”

แฟ้มภาพบรรยากาศซื้อขายหุ้นไทย

ปัจจัยสำคัญสำหรับการหลุดพ้นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ผู้ตอบแบบสำรวจระบุปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยปัจจัยอันดับหนึ่งคือการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความต่อเนื่องในนโยบาย ซึ่งผู้ตอบให้ความเห็น 37.2%

ปัจจัยอันดับสองคือการลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (24.4%) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางแก้ไขที่เร่งด่วนที่กล่าวมาแล้ว

ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (16.7%) การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและความคิดของคนไทย (6.4%) การเปิดประเทศและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (3.8%) และการปฏิรูปการเมืองการปกครองให้โปร่งใสและป้องกันการทุจริต (1.3%)

ความสำคัญด้านต่างๆ ในอนาคต

ด้านการเงินการธนาคาร

ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการกำกับดูแลความเสี่ยงระบบ (Systemic Risk) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด (35.9%) ซึ่งสะท้อนบทเรียนจากวิกฤติ 2540 ที่เกิดจากการขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสม

รองลงมาคือการเสริมสร้างสถาบันการเงินขนาดกลางและเล็ก (25.6%) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) (15.4%) และการพัฒนาตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ (14.1%)

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

การส่งเสริม SMEs และ Startup ได้รับความสำคัญสูงสุด (35.9%) ซึ่งสะท้อนความตระหนักในการสร้างฐานเศรษฐกิจที่หลากหลายและยืดหยุ่น

รองลงมาคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) (34.6%) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (10.3%) และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (9.0%)

ด้านทรัพยากรมนุษย์

การปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานได้รับความสำคัญสูงสุด (33.3%) ซึ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาที่ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน

รองลงมาคือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) (23.1%) การพัฒนาผู้นำและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (19.2%) และการพัฒนาทักษะดิจิทัลและภาษาต่างประเทศ (15.4%)

ข้อเสนอแนะจากผู้ตอบแบบสำรวจ

การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจ ข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจมีความหลากหลาย โดยสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้

การปฏิรูประบบราชการและการต่อต้านการทุจริต เป็นประเด็นที่ผู้ตอบให้ความสำคัญสูงสุด มีความเห็นว่าต้อง “ปฏิรูประบบราชการ แก้คอรัปชั่น” “ลดการทุจริตและลดการดำเนินนโยบายประชานิยม” และ “บทลงโทษที่รุนแรงต่อกลุ่มคอรัปชั่นทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำแบบจีน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตและระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผู้ตอบเสนอให้ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” และ “ส่งเสริมค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องให้กับประชาชน เน้นพึ่งพาตนเองเป็นหลัก” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ภาพประกอบข่าว 28 ปีวิกฤติต้มยำกุ้ง

การลดการพึ่งพาภายนอก มีความเห็นว่า “กระจายแหล่งรายได้ของประเทศ กระจายตลาดส่งออก ไม่พึ่งพาตลาดใดมากเกินไป” และ “เร่งขบวนการโครงการ mega project เพื่อสร้าง new s curve เพื่อลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออก”

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้ตอบเน้นความสำคัญของ “Up skill Reskill” “การพัฒนาความรู้ด้านการออมและการลงทุน” และ “Transform human infra”

บทบาทของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง

ผู้ตอบแบบสำรวจมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชน โดยแบ่งเป็นสองมุมมอง หลัก

มุมมองที่เชิงบวก ผู้ตอบเห็นว่าภาคเอกชนควร “สร้างเครือข่ายพันธมิตร ภาคเอกชนควรเป็นผู้ร่วมออกแบบนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว” “ริเริ่ม เร่งรัด โดยไม่รอภาครัฐ” และ “ร่วมมือกับสภาหอการค้าฯ ในการทำงานร่วมภาครัฐ เสนอความเห็นที่เป็นทางออก”

มุมมองที่สะท้อนปัญหา มีผู้ตอบที่แสดงความผิดหวังว่า “เอกชน(สภาหอการค้าฯ)พยายามทำอยู่แล้วแต่ภาครัฐไม่มีความจริงใจตั้งใจที่จะทำ” และ “เอกชนได้ทำบทบาทในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเต็มความสามารถ แต่ขาดระบบสนับสนุนทั้งกฎหมายและข้าราชการที่ดี”

ข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ ผู้ตอบเสนอให้ภาคเอกชน “การupskillองค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ” “ลงทุนทำR&Dเอง ปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่เองด้วย” และ “ไม่ฉกฉวยโอกาสจากความอ่อนแอในระบบของภาครัฐ ต้องผลักดันปฏิวัติการทำธุรกิจที่เท่าเทียมยุติธรรม”

ข้อเสนอแนะสำหรับการป้องกันวิกฤติในอนาคต

ผู้ตอบแบบสำรวจให้ข้อเสนอแนะที่ครอบคลุมหลายมิติ

การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน “รื้อระบบราชการใหม่หมด โละกฎหมายเก่าๆทิ้งไปแล้วเขียนใหม่ เอาสั้นๆเน้นบทลงโทษให้หนักสำหรับผู้กระทำผิด” และ “ลดขนาดระบบราชการ เน้นการส่งเสริมสนับสนุน แทนการควบคุมกำกับ”

การบริหารความเสี่ยง “มีระบบเตือนภัย ความยืดหยุ่นและปรับตัว” “การบริหารความเสี่ยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ” และ “ภาครัฐควรมีขบวนการเฝ้าระวังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและหาทางป้องกันก่อนเกิดปัญหาอย่างจริงจัง”

การพัฒนาขีดความสามารถ “การปรับขีดความสามารถในการแข่งขันแบบยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญมาก ไทยต้องพึ่งพิงจากเศรษฐกิจในประเทศที่สอดคล้องกับความชำนาญของเรา” และ “กำหนดนโยบายและแผนงานพัฒนาเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เป็นแผ่นแม่บท 20 ปี”

ความคิดเห็นเพิ่มเติมและบทเรียนจากวิกฤติ

ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นที่สะท้อนบทเรียนสำคัญหลายประการ

บทเรียนด้านการบริหารความเสี่ยง “บทเรียนสำคัญคือการนำเงินคงคลังสำรองของประเทศไปต่อสู้ค่าเงินบาท และเอกชนไม่ควรไปกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศมาฝากในประเทศ” และ “วินัยการเงิน และการมีกลยุทธ์รองรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที”

บทเรียนด้านการพึ่งพาตนเอง “ไทยไม่ควรพึ่งพาเศรษฐกิจตะวันตกฝั่งเดียว เมื่อถูกโจมตีค่าเงินบาท ทำให้เกิดความเสียหายมาก ควรพึ่งพาตนเองและเศรษฐกิจตะวันออกด้วย”

ภาพประกอบข่าว 28 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง

ความกังวลต่อปัจจุบัน “ต้มยำกุ้งเกิดแผลที่ลุกลามจากการกู้ต่างประเทศของภาคเอกชน แต่บัดนี้เอกชนไม่ได้กำลังก่อปัญหา แต่กลายเป็นนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐที่กำลังไม่แก้ปัญหาและจะเป็นปัญหาเสียเอง”

ความผิดหวังต่อระบบ “บทเรียนผ่านแล้วผ่านไปสำหรับประเทศไทย ไม่เคยมีผู้นำที่มีความคิดจะปฏิรูปกฎหมายอะไร มาแค่กอบโกยแล้วก็ไป” สะท้อนความรู้สึกของภาคส่วนหนึ่งที่มีต่อการเมืองไทย

ข้อเสนอเชิงบวก “Early warning system, scenario planning คือสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความยืดหยุ่น ไม่พึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งอย่างเดียวมาจนเกินไป”

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหาร ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการเกี่ยวกับวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 สามารถสรุปประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะได้ดังนี้

การกำกับดูแลทางการเงิน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ทั้งในฐานะสาเหตุหลักของวิกฤติและบทเรียนที่ได้รับ ประเทศไทยจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบกำกับดูแลที่เข้มแข็งและทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการบริหารความเสี่ยงเชิงระบบ

การปฏิรูประบบราชการและการต่อต้านการทุจริต เป็นข้อเสนอแนะหลักจากผู้ตอบแบบสำรวจ ที่เห็นว่าเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ การปฏิรูปต้องครอบคลุมการลดขั้นตอนที่ซับซ้อน การเพิ่มความโปร่งใส และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ความเปราะบางจากการพึ่งพาภายนอก เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งการพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ การพึ่งพาการส่งออก และการพึ่งพาการท่องเที่ยว ผู้ตอบเสนอให้กระจายความเสี่ยงและสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการแข่งขันในอนาคต ผู้ตอบเน้นความสำคัญของการ upskill, reskill และการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ต้องได้รับการปรับปรุง ผู้ตอบจากภาคเอกชนแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือ แต่ต้องการให้ภาครัฐมีความจริงใจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ยังคงมีอยู่หลายประการต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะระบบราชการที่ซับซ้อน ความเหลื่อมล้ำ และการขาดความสามารถทางเทคโนโลยี การแก้ไขต้องมีความต่อเนื่องและใช้เวลายาวนาน

ความพร้อมในการรับมือวิกฤติ ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล แม้จะมีการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มเติม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยและแผนฉุกเฉิน

ข้อเสนอแนะเฉพาะจากผู้ตอบแบบสำรวจ ที่มีความโดดเด่น ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ การสร้างโครงการ mega project เพื่อลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออก และการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาที่มีภาคเอกชนและนักวิชาการเข้าร่วม

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างระบบการเงินให้แข็งแกร่ง การลดการพึ่งพาภายนอก การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง การปฏิรูประบบราชการ และการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก

วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่งสำหรับประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ การนำบทเรียนเหล่านี้มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง พร้อมกับการฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์โดยตรง จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป.

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ฐานเศรษฐกิจ

กยศ. แนะ 3.5 ล้านบัญชี ชำระหนี้ใน 5 ก.ค. ส่งต่ออนาคตรุ่นน้อง

32 นาทีที่แล้ว

เรือเฟอร์รี่อินโดนีเซียล่มใกล้เกาะบาหลี ดับแล้ว 4 สูญหายอีกเพียบ

49 นาทีที่แล้ว

ชำแหละค่าไฟไทยแพงเพราะอะไร การซื้อไฟเอกชนแบบลับ-ลวง-พราง

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

แกนนำ 5 พรรคฝ่ายค้านโชว์ผนึกกำลังตรวจสอบรัฐบาลเต็มที่

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสังคมอื่นๆ

ลูกศิษย์วัด แจงปมถูกตัดน้ำ-ไฟ 2 วัน รวมถึงการเมืองภายในทำวัดเสื่อม

สยามนิวส์

กูลิโกะ ประกาศยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ไอศกรีม ในประเทศไทย

สยามนิวส์

กทพ. มอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนรอบเขตทางพิเศษทั่วทุกสายทาง จำนวน 41 โรงเรียน ทุนการศึกษามูลค่า 892,500 บาท

สวพ.FM91

กันเดือด! เผยค่าหัวแพ็กเกจ นำเข้าขอทานเขมรเข้าไทย ลั่นผมพร้อมจัดหนัก โซเชียลแห่ถล่มไลค์

สยามนิวส์

จากไรเดอร์สู่ผู้ร้าย ย่องขโมยกระเป๋ากลางวันแสกๆ

สยามนิวส์

ชำแหละค่าไฟไทยแพงเพราะอะไร การซื้อไฟเอกชนแบบลับ-ลวง-พราง

ฐานเศรษฐกิจ

กัน จอมพลัง ลุยล่าหัวขอทานกัมพูชา ลั่นแรงจำใส่หัวไว้โดนแบบนี้เพราะทหารกัมพูชาทำตัวไม่น่ารัก

สยามนิวส์

สุดทะเทือนใจ! สาวตามหาแมวหายจากบ้าน เจออีกทีถูกนำไปย่าง เอาผิดไม่ได้

สยามนิวส์

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...