หากไทยโดนภาษีสหรัฐฯสูงกว่าเพื่อนบ้าน เสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้าโตแค่ 0.4%
ประเทศในอาเซียนเริ่มทยอยปิดดีลภาษีกับสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก่อนถึงเส้นตาย 1 ส.ค.68 ล่าสุดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อยู่ที่ 19% เวียดนาม 20% ส่วนในเอเชียอย่างญี่ปุ่น โดนภาษี 15% ทำให้ลุ้นว่าแล้วประเทศไทยจะโดนภาษีกี่%
ความน่าห่วงคือ ภาษีที่สูงกว่าประเทศอื่นจะส่งผลต่อขีดความสามารถทางการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯอย่างมาก แต่หากอยากให้สหรัฐฯลดภาษีให้ไทยจาก 36% ให้ต่ำกว่า 20% ก็หมายถึง ข้อแลกเปลี่ยนจากไทยที่ทำให้ทรัปม์พึงพอใจ เช่น เปิดตลาดการค้ากับสหรัฐฯแบบไม่เก็บภาษีสหรัฐฯเลย แต่นั่นก็ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่เพราะผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยหนักเอาการ
ดังนั้นหลายฝ่ายจึงประเมินสถานการณ์อัตราภาษีสหรัฐฯจะปิดดีลกับไทยอาจสูงกว่า 20% ก็มีความเป็นไปได้ และสมมติฐานนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังให้ชะลอตัวลงไปอีก รวมถึงส่งผลกระทบลากยาวไปจนถึงเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 68 กระทบหนักคาดซึมยาวถึงปี 69
ข้อมูลจาก SCB EIC ประเมินว่า แม้ภาครัฐไทยจะพยายามเจรจาสหรัฐฯ ขอปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าไทยก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 แต่ความเสียเปรียบยังคงอยู่
- ภาษีไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าเด่นของไทยในตลาดอเมริกา
- ไทยเร่ง “ส่งออกล่วงหน้า” ไปพอสมควรตั้งแต่ปลายปี 67 ทำให้ดูเหมือนส่งออกยังไปได้ในช่วงต้นปี แต่ ครึ่งปีหลังจะเริ่มเห็นผลกระทบหนักขึ้น
- สินค้าบางกลุ่มเริ่มโดนภาษีแบบเฉพาะราย (Specific tariffs) แล้ว เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอาจขยายไปยังยาและทองแดงในอนาคต
ผลคือ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังพอขยายตัวได้ที่ 1.5% ในกรณีเจรจาลดภาษีได้บางส่วน แต่ถ้าแย่สุดคือเจรจาไม่สำเร็จและโดนภาษีเต็มอัตรา 36% GDP ไทยอาจโตแค่ 1.1% เท่านั้น
สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือปี 2569 เพราะผลจากกำแพงภาษีจะยิ่งชัดเจนขึ้น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตแค่ 1.2% และอาจลดลงถึง 0.4% หากสหรัฐฯ เดินหน้าเก็บภาษีไทย 36% โดยที่คู่แข่งอย่างเวียดนามยังจ่ายแค่ 20% ภาค การส่งออก และ การลงทุนเอกชน จะหดตัวหนัก เพราะต้นทุนค้าขายกับสหรัฐฯ เพิ่มสูง สินค้าไทยอาจเจอมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ยิ่งเสียเปรียบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่น
การเปิดเสรีการค้า…ไม่ใช่เรื่องง่าย
สหรัฐฯ อาจเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น หมู, ไก่เนื้อ และข้าวโพด ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว
- ต้นทุนของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ มาก
- ไทยยังพึ่งพาการผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
- เกษตรกรรายย่อยเสี่ยงถูกกระทบแรง
SCB EIC คาดว่า หากไทยต้องยอมเปิดตลาดจริงรัฐจะต้องมี มาตรการช่วยเหลือชัดเจน เช่น การอุดหนุนรายได้ การเพิ่มขีดความสามารถเกษตรกร หรือปรับโครงสร้างต้นทุน
สารพัดความเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจไทย
นอกจากภาษีที่เป็นปัญหาใหญ่กระทบเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กดดัน
- นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ และเศรษฐกิจโลกยังผันผวน ทำให้รายได้ท่องเที่ยวยังไม่แน่นอน
- ความตึงเครียดทางการเมืองไทย-กัมพูชา ที่อาจกระทบการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนในพื้นที่ชายแดน
- ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในประเทศ ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568–2569 ซึ่งอาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจชะลอ
ดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องลดมากกว่าคาด
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาด SCB EIC คาดว่า กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) อาจต้องลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ (2568) เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ และหากเจรจากับสหรัฐฯ ล้มเหลว อาจต้องลดมากกว่านั้น
สิ่งที่ต้องจับตาทางเศรษฐกิจ
- ข้อเสนอใหม่ของไทยในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ – จะยอมเปิดตลาดหรือไม่?
- การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก – โดยเฉพาะ Fed ที่ยังลังเลจะลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจน
- การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ต่อประเทศอื่น – ภาษีใหม่จะครอบคลุมสินค้ากลุ่มใดอีก?
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก – โดยเฉพาะการนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มต่ำกว่าปกติจากการเร่งนำเข้าล่วงหน้า
ปี 2568 คือ “ปีของการตั้งรับ” ส่วนปี 2569 อาจเป็น “ปีของการซึมยาว” หากไทยไม่สามารถลดความเสียเปรียบในการค้ากับสหรัฐฯ ได้ทันเวลา ขณะที่ภาคเกษตรกำลังถูกท้าทายให้ปรับตัวสู่โลกใหม่ที่แข่งขันกันด้วยต้นทุนและข้อกติกาใหม่
ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเจรจาเชิงนโยบาย และมาตรการเยียวยาภายในประเทศ เพื่อไม่ให้แรงกระแทกจากสงครามภาษีลุกลามกลายเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจใหม่” ในปีหน้า
อ้างอิงข้อมูล SCB EIC