Didi เปิดตัวสถานีชาร์จ EV กำลังไฟ 1600 kW ชาร์จ 1 นาที วิ่งได้ 100 กม.
วงการยานยนต์ไฟฟ้ากำลังลุกเป็นไฟอีกครั้ง เมื่อ Orange Charging บริษัทในเครือ Didi ยักษ์ใหญ่ด้านบริการเรียกรถจากจีน ได้เปิดตัวเทคโนโลยีเครื่องชาร์จกำลังสูงรุ่นใหม่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม
ด้วยกำลังไฟสูงสุดถึง "1,600 kW" พร้อมระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว ซึ่งทางบริษัทอ้างว่าสามารถเพิ่มระยะทางวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง "1 นาที" เท่านั้น
เป้าหมายของเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความสะดวกสบาย แต่เป็นการปฏิวัติประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้รวดเร็วจนไม่ต่างจากการแวะเติมน้ำมันในปั๊มเชื้อเพลิงทั่วไป
เบื้องหลังการทำงานของระบบนี้คือ "Orange Charging Unicorn OS Intelligent system" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการจ่ายพลังงานมหาศาลได้อย่างยืดหยุ่น
ทำให้สถานีชาร์จสามารถจัดสรรกำลังไฟสูงสุดให้กับรถที่รองรับได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถให้บริการรถคันอื่นที่มีความต้องการกำลังไฟน้อยกว่าไปพร้อมๆ กัน
ปัจจุบัน Orange Charging มีเครือข่ายสถานีชาร์จอยู่แล้วกว่า 46,000 แห่ง โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเครื่องชาร์จที่มีกำลังไฟตั้งแต่ 180 kW ขึ้นไป การเปิดตัวเทคโนโลยี 1,600 kW จึงเป็นก้าวต่อไปที่ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาด
ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแส "Megawatt Flash Charging" ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรมในจีน ก่อนหน้านี้ BYD ได้เปิดตัวเครื่องชาร์จกำลังไฟ 1,000 kW
ส่วน Huawei ก็ได้เผยข้อมูลเครื่องชาร์จ 1.5 MW ที่มุ่งเป้าไปที่ตลาดรถบรรทุกไฟฟ้า ในขณะที่แบรนด์รถยนต์พรีเมียมอย่าง Zeekr ก็ได้เริ่มให้บริการสถานีชาร์จ V4 กำลังไฟ 1.2 MW แล้วเช่นกัน
เทคโนโลยีกำลังสูงนี้มาพร้อมกับความท้าทายครั้งใหญ่ ประเด็นแรกคือภาระอันหนักหน่วงต่อโครงข่ายไฟฟ้าในพื้นที่ เนื่องจากเครื่องชาร์จ 1,600 kW หนึ่งเครื่อง "ใช้พลังงานเทียบเท่ากับชุมชนขนาดเล็ก" การติดตั้งใช้งานในวงกว้างจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานครั้งใหญ่
ประเด็นถัดมาคือต้นทุนที่สูงลิ่ว ทั้งราคาของตัวเครื่องซึ่งอยู่ที่ประมาณ 80,000 - 120,000 หยวน (361,735 - 542,565 บาท) และยังไม่รวมค่าติดตั้ง การเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษา โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายของเหลวหล่อเย็นที่มีราคาสูง
และคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ ผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพของ "แบตเตอรี่" ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่แพงที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้า
แม้จะมีการพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และ AI เพื่อลดความเสียหาย แต่ผลลัพธ์ของการอัดประจุด้วยความเร็วสูงเป็นประจำต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่นั้น ยังคงเป็นคำถามที่ต้องรอการพิสูจน์ในระยะยาว
ที่มา : ArenaEV