คุยกับเด็กอย่างไร ในความขัดแย้ง สำรวจวิธีสื่อสารกับเด็กเพื่อสร้างความเข้าใจ เมื่อต้องรับรู้ข่าวสารความขัดแย้ง กับ รศ.นพ.สุริยเดว
'เด็ก’ ควรจะเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ไหม และอย่างไรบ้าง?
เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดขึ้น จนมีข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต ที่ทั้งข่าวและแนวคิดต่างๆ ถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นความกังวลถึงความเท่าทันข้อมูลข่าวสารที่อาจนำมาซึ่งผลกระทบทางลบต่อไปได้
โดยเฉพาะในกลุ่ม ‘เด็ก’ ที่ไม่ว่าจะหลีกเลี่ยงเพียงใด ก็อาจได้รับรู้ข่าวสารจากทั้งการได้รับฟังเสียงโทรทัศน์หรือการพูดคุยกันในบ้าน การแลกเปลี่ยนของครูและเพื่อนที่โรงเรียน ไปจนถึงการเล่นโซเชียลมีเดีย ที่มีทั้งข้อเท็จจริง กับข่าวปลอม รวมถึงข้อคิดเห็น ความเชื่อ อุดมการณ์ จากคนหลากหลายความคิด
เช่นนี้แล้ว การพูดคุยกับเด็กในสถานการณ์เช่นนี้ควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเข้าใจในความขัดแย้ง?
The MATTER ชวนไปสำรวจมุมมองและวิธีการรับมือการสื่อสารกับเด็ก กับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ว่าควรปลูกฝังเด็กอย่างไร และผู้ใหญ่เองควรสื่อสารอย่างสันติอย่างไรบ้าง
*เนื้อหาในบทความเรียบเรียงจากคำตอบในการสัมภาษณ์ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2568
เรื่องความขัดแย้ง ควรปกปิด หรือหยิบยกมาพูดคุย
เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดคุยอะไรเลย เพราะอย่างไรก็จะต้องได้รับรู้ข่าวสารจากสื่อ และโลกทุกวันนี้มีความขัดแย้งทั้งนั้น สิ่งสำคัญจึงเป็นการเรียนรู้บนความขัดแย้ง แต่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่าเรื่องไหนเป็นข้อเท็จจริง เรื่องไหนเป็นข่าวปลอม จึงจะได้รู้เท่าทันและไม่เชื่อข้อมูลอะไรง่ายๆ กลายเป็นภูมิคุ้มกันที่จะติดตัวต่อไป และกลายเป็นเกราะกําบังของเขาได้
โดยวิธีการสร้างความเข้าใจอาจขึ้นอยู่กับอายุ การพูดคุยกับเด็กเล็ก หรือเด็กโต จะต้องใช้วิธีการที่แตกต่างกัน หากเป็นเด็กเล็กเนี่ย ที่เป็นวัยแห่งจินตนาการ อาจวิธีการในการเล่าเรื่องเปรียบเทียบให้เห็นความขัดแย้งในชีวิตประจำวันก่อน เช่น เมื่อพี่กับน้องทะเลาะกัน หรือเมื่อทะเลาะกับเพื่อน จะมีมีวิธีการป้องกัน และจัดการได้อย่างไร ที่ไม่ให้เกิดความรุนแรง
สำหรับเด็กโต ไปจนถึงวัยรุ่น ก็อาจจะเรียนรู้กับการจัดการความขัดแย้งในเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตรงได้โดยมีความเป็นเหตุเป็นผลมากยิ่งขึ้น และชวนทำความเข้าใจว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไร ทัศนคติต่อความขัดแย้งมีอะไรบ้าง ที่นำไปสู่เหตุการณ์ของความขัดแย้งในสังคมที่เรากําลังเผชิญ
ผลกระทบทางจิตใจที่อาจเกิดในเด็ก
เด็กที่อยู่ในที่เกิดเหตุ จะมีผลกระทบทางด้านร่างกายจิตใจ สังคม อารมณ์สูงมาก การอยู่ในเหตุการณ์ การได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน อาจทำให้เขามีความรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ต่างๆ จนกลายเป็นโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder - PTSD) ได้ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต อย่างการโจมตีครั้งล่าสุดที่มีรายงานว่ามีเด็กอายุ 8 ปีเสียชีวิต ซึ่งผิดหลักการสากล
และสำหรับเด็กที่ไม่อยู่ในพื้นที่ แต่ก็กําลังบริโภคสื่อ ได้รับรู้จากการเห็นข้อความในโลกออนไลน์ หรืออาจได้ยินพ่อแม่คุยกัน ผลกระทบแรก ก็คือผลกระทบทางด้านจิตใจและความเปราะบาง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากสําหรับเด็กทั่วไป
เขาอาจจะต้องเกิดการเรียนรู้ว่า จากข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะมีวิธีการอย่างไรในการจัดการได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจใช้กระบวนการพูดคุยกันกับลูกเพื่อให้เขาเรียนรู้การจัดการอารมณ์ รวมถึงการจัดการทางด้านจิตใจ
โดยเฉพาะเด็กที่มีความเปราะบางทางอารมณ์ อ่อนไหวง่าย มักเกิดภาวะเครียดอยู่ประจำ รวมถึงกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้า คุณพ่อคุณแม่ยิ่งควรจะต้องสังเกตดูจากพฤติกรรมในประจําวันนี่แหละ พฤติกรรมประจำวันว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่ โดยหมอจะแบ่งเป็นสัญญาณสีเขียว สีเหลือง และสีแดง
สัญญาณเขียว คือปลอดภัยและปกติ สัญญาเหลือง คือเริ่มมีอาการทางร่างกายปรากฏ เช่น ไม่กิน ไม่นอน กระสับกระส่าย ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดหัว อาการเหล่านี้อาจสะท้อนว่ามีภาวะเครียดสะสม
แต่หากไปถึงขั้นเริ่มมีอาการบ่น อาการเพ้อถึงควาสมเป็นไปของโลก เช่น “ทําไมความรุนแรงมันเกิดขึ้นทุกหนระแหงเลย” และอยากแยกตัวอยู่คนเดียว ก็อาจเป็นสัญญาณสีแดง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนจะต้องได้รับการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่หรือสมาชิกในบ้าน
วิธีการผ่อนอารมณ์ที่หนักให้กลายเป็นเบา สำคัญคือการ ‘รับฟัง’ ว่าเด็กมีความไม่พอใจหรือไม่ไม่สบายใจอะไรบ้าง และขั้นต่อไปคือการ ‘สัมผัส’ ให้ถึงใจ ทำให้เกิดความรู้สึกว่ายังมีคนข้างๆ เพื่อให้เขามีความรู้สึกว่าสังคมนี้ยังมีความปลอดภัยอยู่ และลดความหวั่นไหว
และขั้นที่ยิ่งไปกว่านั้น คือการรับฟังและ ‘เหลาความคิด’ ไปด้วยกัน โดยพูดคุยว่าเราควรจะมีวิธีการจัดการในชีวิตประจำตัวของเราเองอย่างไรบ้าง
พูดคุยอย่างสันติ เปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่างอย่างปลอดภัย
ใช้หลัก ‘สุนทรียสนทนา’ พูดคุยกันในบ้าน หรือเป็นการสนทนาด้วยสันติวิธี โดยมี 5 หลักการด้วยกัน คือ
ให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่กําลังสนทนาต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ให้กําหนดกติการ่วมกัน ให้ควบคุมบรรยากาศ หากบทสนทนาดำเนินไปด้วยอารมณ์ให้หยุดพัก หรืออาจตกลงกันว่าค่อยคุยกันในวันอื่น ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ให้ไม่ตัดสิน
โดยคุณพ่อคุณแม่ อาจใช้โอกาสนี้ในการทำความเข้าใจกับลูกว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องยาก แต่ลูกลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เพราะในชีวิตเราก็มีความขัดแย้งกับเพื่อน กับรุ่นพี่ รุ่นน้อง กับเพื่อนร่วมงาน
และหากเราอยากจะเรียนรู้และไม่ให้เกิดความขัดแย้งและอาจกลายเป็นอุปนิสัยในตัวเรา ให้ลองใช้หลัก ‘สุนทรียสนทนา หรือ 5 ให้’ และพิจารณาว่ามีความขัดแย้งกันเพราะทัศนคติไม่ตรงกัน ระบบไม่ดีและมีปัญหา หรือเป็นเพราะบุคคล
ไม่เพียงเท่านั้น การรับรู้ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีวิธีการในการ ‘พักก่อนโพสต์’ โดยเฉพาะเมื่อกำลังมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์แล้วอยากแสดงความคิดเห็น อาจพิมพ์ไว้ก่อน และเมื่อเวลาผ่านไปค่อยกลับมาพิจารณาและแก้ไข เป็นเหมือนการดึงสติตัวเองให้ทบทวนว่าเป็นเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อนหรืออาจทำให้ใครเสียหายหรือไม่
ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก
สามารถเรียนรู้ได้ในหลายเรื่อง เช่น ประวัติศาสตร์ ที่มาของความขัดแย้ง การคัดกรองข่าวปลอมและกลลวงที่หลอกให้เชื่อ ทัศนคติที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งการจะหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากว่า แล้วเราเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ที่จะต้องทำให้ไม่เกิดความขัดแย้ง และไม่ไปรุกรานใครจนเกิดผลกระทบกับประชาชน
ดังนั้น การพูดพูดคุยบนสันติวิธีนี้ย่อมจะดีกว่า และหลีกเลี่ยงการปะทะกัน การสาดโคลน การล่อลวงด้วยข่าวปลอม หากมีการถอดบทเรียอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารกันอย่างสันติได้
รวมถึงสิ่งที่อยากฝากกับทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน คือในการบริโภคสื่อนั้น จะต้องรู้จัการหาจังหวะหยุดหรือพัก เพื่อป้องกันไม่ให้การรับข่าวสารนั้นนํามาสู่ความเครียดสะสมจนกระทบกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนที่อาจมีอารมณ์อ่อนไหว ที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
editor: Thanyawat Ippoodom