ชัวร์ก่อนแชร์ : 12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์ จริงหรือ ?
บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ 12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์ ตั้งแต่ตัวเหลืองผิดสังเกต ไปจนถึงมีน้ำไหลออกจากรูหู จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ พญ.ลลิตวดี ทังสุภูติ กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ – งานทารกแรกเกิด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
“12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์” สามารถเชื่อถือได้บางส่วน และต้องมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละอาการ
สัญญาณข้อ 1 : ตัวเหลืองผิดสังเกต ?
“ตัวเหลือง” เป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ในเด็กทารกแรกเกิด แต่การดูเด็กทารกแรกเกิด “ตัวเหลือง” ด้วยสายตานั้น ความน่าเชื่อถือค่อนข้างน้อย เนื่องจากแต่ละคนมีการประเมินไม่เท่ากัน
อาการตัวเหลืองของเด็กทารกแรกเกิดที่พบมักจะเหลืองจากศีรษะลงไปที่เท้า ดังนั้น ถ้าเห็นว่าลูกมีอาการตัวเหลืองมากขึ้น แนะนำว่าควรพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 2: สะดือมีกลิ่นเหม็น มีหนองหรือมีเลือดออก ?
ภาวะนี้จะต้องสงสัยเรื่องของ “สะดืออักเสบ” เป็นอาการที่จะต้องพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 3: ลูกซึม ไม่ยอมดูดนม ?
“ซึม” และ “ไม่ยอมดูดนม” เป็นอาการที่ค่อนข้างกว้าง เกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ
สาเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้จากอาการ “ซึม” และ “ไม่ยอมดูดนม” ก็คือเรื่องการติดเชื้อ ความเจ็บป่วย ไม่สบาย
ถ้าเด็กมีอาการซึมลง คุณแม่ปลุกลูกแล้วลูกไม่ยอมรับนมเลย หรือว่าดูดนมได้น้อยลง และเวลาดูดนมหลับตลอดเวลา ก็ควรพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 4 : อาเจียน ?
การอาเจียนของเด็กทารกพบได้หลากหลาย ในเด็กบางคนอาเจียนแหวะนมเป็นปกติ แต่ถ้าเด็กอาเจียนร่วมกับมีอาการท้องอืดมาก ซึม ไม่ถ่ายอุจจาระด้วย พวกนี้เป็นอาการที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุว่ามีเรื่องภาวะลำไส้อุดตันร่วมด้วยหรือไม่
สัญญาณข้อ 5: ท้องเสีย ถ่ายหลายครั้งต่อวัน ?
เรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าปกติเด็กทารกแรกเกิดจะมีอาการถ่ายได้บ่อยอยู่แล้ว
โดยเฉลี่ยเด็กทารกแรกเกิดอาจจะถ่ายประมาณ 4-8 ครั้งต่อวัน แต่การสังเกตลักษณะของอุจจาระเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น อุจจาระที่มีเลือดปน มีมูกปน ลักษณะของสีที่เปลี่ยนไป เช่น สีซีดลง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินดูว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง
สัญญาณข้อ 6: ท้องอืด ?
อาการ “ท้องอืด” ของเด็กทารกเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก เช่น เด็กที่ดูดนมจะดูดลมเข้าไปด้วย จึงทำให้มีอาการท้องอืดได้ สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วยการอุ้มเรอ หรือจัดท่าการเข้าเต้าให้ถูกต้อง
หลังจากแก้ไขเบื้องต้นแล้วอาการท้องอืดยังไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาเจียน ไม่ถ่ายอุจจาระ อาจจะเป็นเรื่องของลำไส้อุดตัน
อาการท้องอืดในเด็กทารกที่เกิดขึ้นนั้นเด็กมักร้องกวนตลอดเวลา ไม่ยอมรับนม ดูดนมไม่ได้เลย ควรพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 7: ฝ้าขาวในปาก ?
“ฝ้าขาวในปาก” ที่พบมีทั้งเป็นลักษณะปกติและผิดปกติ
ปกติมักพบฝ้าขาวในเด็กที่กินนมแล้วเหลือคราบนมติดอยู่บริเวณลิ้น เบื้องต้นแนะนำให้ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดออก แต่ถ้าเป็นฝ้าขาวจำนวนมาก หนา เช็ดไม่ออก จะต้องเฝ้าระวังภาวะการติดเชื้อราในช่องปากและควรพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 8: มีน้ำไหลออกจากรูหู ?
เด็กทารกที่พบ “น้ำไหลออกจากรูหู” ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ
พ่อแม่จะต้องสังเกตลักษณะของน้ำที่ไหลออกมา ว่ามีกลิ่นผิดปกติหรือไม่ ลักษณะเป็นหนองหรือไม่ เพราะโดยปกติหูไม่ควรจะมีน้ำไหลออกมาได้
ดังนั้น ถ้ามีน้ำไหลออกมาได้ต้องสงสัยเรื่องภาวะการอักเสบติดเชื้อในช่องหู ควรพาไปพบแพทย์
สัญญาณข้อ 9: มีไข้สูง หรืออุณหภูมิต่ำผิดปกติ ?
อุณหภูมิปกติของเด็กทารกแรกเกิด อยู่ที่ประมาณ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส
เมื่อไหร่ก็ตามที่อุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ร้องกวน งอแง ซึมลง บ่งชี้ได้ว่าน่าจะมีเรื่องของการติดเชื้อเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน อุณหภูมิต่ำผิดปกติของเด็กทารกแรกเกิดก็เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับเรื่องของการติดเชื้อเหมือนกัน
สัญญาณข้อ 10: มีอาการชัก ?
ทารกแรกเกิดบางคนอาจจะมีอาการกระตุก ขยับสั่น หรือผวาเกิดขึ้นได้ แต่อาการเหล่านี้ต้องแยกออกจากอาการ “ชัก”
ถ้าเป็นอาการ “ปกติ” จับแล้วมักจะหยุด ถ้าเป็นอาการ “ชัก” ให้สังเกตว่าเด็กทารกอาจจะเกร็งเฉย ๆ มีลักษณะตาลอยค้าง หรืออาจจะมีลักษณะปั่นจักรยานหรือว่ายน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าพบลักษณะแบบนี้แนะนำให้จับลูกนอน ถ้าในปากมีนมหรือมีอะไรอยู่ให้พยายามจับเด็กตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก ถ้าไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอาการชักหรือไม่ ให้รีบพาลูกไปโรงพยาบาล
สัญญาณข้อ 11: ลูกดูดนมจนเหนื่อยหอบ ?
เด็กทารกแรกเกิด ถ้าดูดนมแล้วมีอาการแตกต่างไปจากเดิม เช่น ระหว่างดูดนมเด็กมีอาการตัวเขียว หรือดูดนมแล้วหายใจหอบมากขึ้น แสดงว่าอาจจะมีภาวะผิดปกติเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจเกิดขึ้นได้ จะต้องรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที
สัญญาณข้อ 12 : โรคตาที่พบในเด็ก ?
พ่อแม่จะต้องระวังเรื่องภาวะ “เยื่อบุตาขาวอักเสบ” ให้สังเกตจากขี้ตา ดูว่ามีสีเหลือง หรือสีเขียว และบริเวณตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือเปลือกตาบวม จะต้องพาไปพบแพทย์
📌สรุป : จริง ✅ สามารถแชร์ต่อได้ ✅ แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่พ่อแม่ดูแล้วควรจะต้องปรึกษากุมารแพทย์ควบคู่กัน เพื่อจะได้แก้ไขอาการต่าง ๆ ที่เกิดกับเด็กทารกได้อย่างถูกต้องและทันเวลา
สัมภาษณ์โดย ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์ จริงหรือ ?