ปักธงรถไฟฟ้า20บาททุกสาย
หลังจากกระทรวงคมนาคมออกมาประกาศโรดแมปชัดเจนสำหรับการลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง ระบบ iOS และ Android นับเป็นอีกก้าวสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน มาตรการนี้ไม่ใช่แค่การลดหย่อนค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคมมั่นใจว่า การลงทะเบียนดังกล่าวระบบจะไม่ล่ม เนื่องจากจะใช้รูปแบบคล้ายกับการเปิดให้ลงทะเบียนนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 18 ล้านคน แต่ระบบสามารถรองรับได้ พร้อมทั้งย้ำว่าการลงทะเบียนจะไม่มีวันหมดอายุ และจะเริ่มมาตรการอย่างเป็นทางการใน วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 8 สาย 13 เส้นทาง 194 สถานี ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตรมั่นใจว่ายอดผู้โดยสารจะพุ่งขึ้นอย่างน้อย 20% หลังมาตรการนี้เริ่มใช้
ในระยะแรก ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้บัตร Rabbit Card กับรถไฟฟ้า 4 สาย ได้แก่ สายสีเขียว สีทอง เหลือง และชมพู ขณะที่บัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) จะใช้งานได้กับ 6 สาย คือ สายสีแดง สีน้ำเงิน ม่วง ชมพู เหลือง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) แม้ในเบื้องต้นการเดินทางข้ามสายอาจต้องใช้บัตรถึงสองใบ แต่ค่าโดยสารรวมยังคงไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย ซึ่งถือเป็นข้อดีที่ช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
หากประชาชนผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าข้ามสาย จะต้องถือบัตร 2 ใบ แต่ชำระค่าโดยสารเพียง 20 บาทตลอดสายเท่านั้น ส่วนในระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมเข้ามาใช้ในการพัฒนาระบบ อาทิ การสแกนจ่ายด้วย QR Code สแกนจ่ายค่าโดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น
พร้อมย้ำว่า กระทรวงฯ ประเมินว่าเมื่อเปิดใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว อัตราผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% เป็นประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากการประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และการลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีรถไฟฟ้าเป็นเส้นเลือดหลัก และมีรถเมล์และรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นเส้นเลือดฝอย ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงได้หารือร่วมกับ กทม.ในการจัดทำ ระบบขนส่งมวลชนที่เป็นฟีดเดอร์ (Feeder) การบริหารจัดการเพื่อให้มีความเหมาะสมตามกายภาพของพื้นที่ และถนนต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า
ขณะที่ ป้ายรถเมล์ มีทั้งเป็นของ กทม.และของหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีการหารือเพื่อดูตำแหน่งตั้งป้ายรถเมล์ที่เหมาะสม เพื่อเสริมให้ใช้บริการรถไฟฟ้าได้สะดวกไร้รอยต่อ และมีเทคโนโลยีบอกระยะเวลาสายรถเมล์ที่จะมาถึงป้าย โดยใช้ระบบ GPS เชื่อม นอกจากนี้จะร่วมกับ ขบ.ในการกำกับดูแลรถแท็กซี่ การจอดรับในจุดต่างๆ กรณีไม่กดมิเตอร์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างเป็นธรรม
ดังนั้นรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายถือเป็น “นโยบายเรือธง”ที่กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าผลักดัน ไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ยังช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดอุบัติเหตุ และลดปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย และเป็นสัญญาณที่ดีว่าระบบขนส่งสาธารณะของประเทศกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เข้าถึงง่ายและเป็นมิตรกับทุกคนอีกด้วย.
กัลยา ยืนยง