ไต่สวน 'คดีชั้น 14' หมอรับอาการ 'ทักษิณ' ไม่วิกฤติ เรือนจำไม่เคยติดตาม
18 ก.ค.2568 ความคืบหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งนัดไต่สวนพยาน คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 โดยอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ส่วนจำเลยคือนายทักษิณ ชินวัตร กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือคดีชั้น 14 เป็นครั้งที่ 5
โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานกลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา รวม 6 คน นับแต่วันที่ 23 ส.ค.2566 จนนายทักษิณได้รับการพักโทษ 17 ก.พ. 2567 รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเวชระเบียน หรือบันทึกการรักษา รวมถึงประวัติการรักษาตัว ที่ต่างประเทศของนายทักษิณ ทั้งหมด ที่่ทนายความเตรียมมา
สำหรับพยานจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย
1.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร.
2.พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่ (สบ 8)
3.พล.ต.ต.สามารถ ม่วงศิริ รอง พตร.
4.พล.ต.ต.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล นายแพทย์ (สบ 7)
5.พ.ต.อ.ชนะ จงโชคดี นายแพทย์ (สบ 5)
6.พล.ต.ท.สุรพล เกษประยูร
อ้างห้องพักแยกตั้งแต่โควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนในช่วงเช้าวันนี้ ศาลได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก เป็นอดีตนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ แพทย์ใหญ่ของ รพ.ตำรวจคนปัจจุบัน และแพทย์ผู้ทำการรักษานายทักษิณ ที่เข้าเวรช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 23 ส.ค.2566
พยานปากแรก อดีตนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ในช่วงเวลาที่รับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ เข้าเบิกความต่อศาล ในประเด็นการรับนายทักษิณเป็นคนไข้ สู่กระบวนการรักษาเป็นไปตามระเบียบการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลหรือไม่ โดยเฉพาะการให้ไปอยู่ในห้องพักชั้น 14 โดยอ้างว่า ห้องพักชั้น 14 เป็นห้องแยกการรักษาในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องใช้ห้องพักผู้ป่วยทุกห้อง แต่พยานปากนี้ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรักษา เพียงแต่รับทราบจากการรายงานของแพทย์ที่รับตัว
ศาลถามด้วยว่า มีนักโทษรายอื่นจากเรือนจำได้ไปรักษาตัวที่ รพ.ชั้น 14 อีกหรือไม่ พยานยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ และแจ้งว่าจะส่งให้ศาลภายหลัง
นอจากนี้ ศาลยังไต่สวนเกี่ยวกับใบเสร็จรับเงิน ที่สืบเนื่องไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา ทั้งยารักษาโรค ห้องพักผู้ป่วย ที่พบว่าจากใบเสร็จ 27 ใบ มีข้อมูลเกี่ยวกับยารักษาโรคเพียง 9 ใบ ที่เหลือเป็นใบเสร็จเกี่ยวกับ ค่ายา และสารอาหารทางเส้นเลือด และค่าห้องพัก
ปมผ่าตัดรักษา ข้อมูลย้อนแย้ง
ต่อด้วย พยานอีกราย คือ แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ที่เข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2566 เป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับในช่วงที่นายทักษิณไปรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งนั้นเป็นนายแพทย์ สบ.8 โดยการไต่สวนเป็นประเด็นเดียวกันกับปากแรก ซึ่งพยานปากนี้เบิกความต่อศาลประเด็นห้องพักรักษาของนายทักษิณว่า เป็นห้องพิเศษ ซึ่งเป็นการเบิกความขัดกันกับพยานก่อนหน้านี้ที่ให้ข้อมูลต่อศาล
รวมถึงประเด็นการรักษาว่า กรณีนายทักษิณเป็นผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤติ ส่งตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อมาถึง รพ.ตำรวจ ไม่ได้ไปห้องฉุกเฉิน หรือห้องไอซียู แต่ส่งตัวไปชั้น 14 เนื่องจากมีการประสานส่งตัวไว้
รวมถึงการไต่สวนประเด็นอาการป่วยของนายทักษิณ ที่แพทย์จากเรือนจำได้ส่งประวัติมารักษา แต่ในข้อเท็จจริง การรักษาอ้างอิงจากโรคที่ระบุมานั้น ไม่มีการผ่าตัดกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือโรคที่อ้างอิงตามใบแจ้งจากแพทย์เรือนจำ แม้ว่าแพทย์คนนี้จะทำแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกคอ แต่สุดท้ายไม่ได้มีการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่มีการผ่าตัดในอาการอื่น โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างที่มารักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ คือ การผ่าตัดนิ้วล็อก และการผ่าตัดเส้นเอ็นไหล่ฉีก ซึ่งข้อมูลการผ่าตัดนิ้วล็อกนั้น แพทย์เบิกความย้อนแย้งกัน ระหว่างแพทย์ที่อ้างอิงอาการจากเรือนจำพิเศษ กับแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ
แพทย์ผู้รักษาชี้ บางอาการไม่ถึงวิกฤติ
ต่อมาพยานรายที่ 3 เป็นแพทย์ประจำ รพ.ตำรวจ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ทำการรักษา หลังจากรับตัวนายทักษิณเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 พยานปากนี้ศาลใช้เวลาไต่สวนชั่วโมงครึ่ง โดยเเพทย์รายนี้ ระบุว่า เหตุที่เป็นผู้รักษา เพราะเป็นเเพทย์ที่รับนายทักษิณเป็นคนเเรก โดยศาลซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับการรับตัวนายทักษิณเข้ารับการรักษา กระบวนการรักษา ตั้งแต่รับตัวนายทักษิณไปจนถึงวันที่ออกจากโรงพยาบาล
โดยศาลให้พยานรายนี้ อ่านบันทึกการรักษา และพบว่าบางอาการไม่ได้มีบันทึกไว้ และศาลยังถามถึงอาการด้วยว่า เข้าขั้นป่วยวิกฤตหรือไม่ และสามารถกลับได้หรือไม่ ซึ่งแพทย์รายนี้ ให้ความเห็นว่า บางอาการถือว่าไม่วิกฤติ พอรักษาไปสักพัก ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัว สามารถส่งกลับไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ได้ และขณะที่เวลาเข้าตรวจนายทักษิณ บางครั้งจะนอนอยู่บนเตียงคนไข้ และบางครั้งจะนั่งที่โซฟาภายในห้องพัก
ในการเบิกความของพยานรายนี้ ได้อ้างว่า ได้มีการโทรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทางหัวใจระหว่างการรักษานายทักษิณด้วย และนายทักษิณ มีอาการป่วยด้วยโรคอื่น แพทย์แนะนำให้ผ่าตัด แต่นายทักษิณปฏิเสธการผ่าตัด
นอกจากนี้ ศาลยังสอบถามถึงการใช้ยารักษาอาการป่วย ที่ไม่ปรากฎอยู่ในใบเสร็จค่ารักษา และศาลยังได้ถามถึง การเขียนใบความเห็นแพทย์ เรื่องการขยายเวลารักษาตัว 120 วัน
รวมถึงสอบถามในประเด็นที่ว่า มีเจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์ได้ประสานสอบถามอาการของผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งแพทย์รายนี้ บอกว่า ไม่เคยมีใครสอบถามมา นอกจากนี้ ศาลยังสอบถามถึงผู้คุมว่า ได้ปฏิบัติการอยู่ตลอดหรือไม่ พยานปากที่ 3 บอกว่า พบผู้คุมทั้งในห้อง และหน้าห้อง โดยก่อนเข้าตรวจ จะต้องถูกเก็บโทรศัพท์ไว้
ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล
ทั้งนี้ แพทย์รายนี้ ยืนยันว่า ได้ให้การรักษาตามจรรยาบรรณแพทย์ ไม่รู้เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับการส่งตัว หรือการส่งกลับผู้ป่วยที่มาจากเรือนจำ
ศาลถามถึงการคำนึงเรื่องข้อกฎหมาย และความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งพยานรายนี้ ตอบว่า “คิดแค่ว่าเป็นหมอรักษาผู้ป่วย ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล” ก่อนจะใช้มือปาดน้ำตา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการเบิกความของพยานปากนี้ เจ้าตัวมีท่าทีเคร่งเครียด ตั้งแต่เข้าไปในห้องพิจารณาคดีบริเวณคอกพยาน โดยเจ้าตัวได้ขอกระดาษปากกาเพื่อจดคำถามของศาล และบางช่วงที่ศาลซักถาม เจ้าตัวได้ยกมือพนม ตลอดเวลาที่ตอบคำถาม
ทั้งนี้ ในตอนท้าย ศาลได้ขอให้พยานรายนี้ ส่งหลักฐานเอกสารเพิ่มเติม 2 เรื่อง คือ 1.ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษที่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และ 2.เอกสารบันทึกการรักษาของแพทย์
“ชาญชัย”โชว์ค่ารักษา จับพิรุธป่วยวิกฤติ
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ก่อนเข้าห้องพิจารณา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายสมชาย แสวงการ เดินทางมาเข้าฟังการไต่สวนในคดี โดยนายชาญชัย นำใบเสร็จการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 มาแสดงต่อสื่อมวลชน เป็นใบเสร็จการรักษาตัวของนายทักษิณ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.2566 ถึง 19 ก.พ.2567 รวม 26 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 2,475,276 บาท
นายชาญชัย ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาของตำรวจ ได้สั่งให้ รพ.ตำรวจ รายงานว่า กรณีนายทักษิณ เข้าพักรักษาตัวใช้สิทธิประเภทใด ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ต้องขังเป็นจำนวนเงินเท่าใด ผู้ใดเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งขอเอกสารการใช้สิทธิที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยนายทักษิณย้ายจากราชทัณฑ์ไป รพ.ตำรวจ วันที่ 23 ส.ค.2566 แต่มีการเก็บเงินในวันที่ 4 ก.ย.2566 เป็นครั้งแรก มีการเก็บค่าสารอาหารทางเส้นเลือด 150 บาท นอกนั้นจะเป็นค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางพยาบาล และค่าห้องราว 140,000 บาท ไม่มีค่ายา แต่กลับอ้างว่าป่วยวิกฤติ
นายชาญชัย ยืนยันว่า ใบเสร็จนี้ไม่ใช่เวชระเบียน เป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ ตนท้าให้มาตรวจสอบ เพราะใบเสร็จนี้เป็นของจริง หากดูตามใบเสร็จจะพบว่า ไม่มีอาการของโรคที่จะต้องรักษาด้วยยาเลย หากดูในใบเสร็จในวันที่ 19 ก.พ.2567 จะพบว่า มีค่าอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค 11,461 บาท ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา 47,324 บาท ค่าห้องและค่าอาหาร 57,350 บาท ซึ่งหลังจากนั้น 7 วันก็ออกไปเดินฉุยๆ ได้แล้ว
จ่อส่งใบเสร็จ-ข้อมูลให้ศาลเพิ่ม 25 ก.ค.
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การใช้กฎหมายพิเศษ แต่เป็นเรื่องการพิจารณาโทษว่า มีการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ หากมีการละเมิดอำนาจศาล ศาลก็ต้องหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนกระบวนความ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องที่จะไปกลั่นแกล้งใคร เป็นเรื่องกระบวนการตามกฎหมาย ศาลก็ใช้วิธีการไต่สวนโดยเปิดเผย
ส่วนเอกสารและใบเสร็จเหล่านี้ ตนได้มาโดยชอบ และข้อมูลทั้งหมดจะส่งให้ศาลอีกครั้งในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อจะใช้มัดนายทักษิณว่า สั่งการอะไรที่เกี่ยวข้องกับการไม่จำคุกตามคำพิพากษา
“ถ้าเขาไม่พอใจก็มาฟ้องผมเอา ผมพร้อมที่จะขึ้นศาลกับเขาอีกรอบ และผมจะกระชากลากเอกสาร ที่เป็นเรื่องลับออกมาอีกรอบ เอาให้มันกระจุยไปเลย แน่จริงมาเลยไม่เป็นไร แต่ขอให้ความจริงปรากฏต่อศาล บ้านเมืองจะได้สงบ ผมไม่ได้มาทำเพื่อการเมือง เพราะผมไม่ได้เล่นการเมืองแล้ว” นายชาญชัย กล่าว