ธนาธร แนะรื้อวิธีการจัดสรรงบประมาณ แก้เศรษฐกิจ เพิ่มขีดแข่งขัน
วันนี้ (18 ก.ค.) ในงาน “55 ปี NATION :ผ่าทางตันประเทศไทย กับ 3 ผู้นำทางความคิด : Chapter 2 ผ่าทางตันกับ 3 บก. โดยแขกรับเชิญได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ณ ห้องพญาไท 4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์พญาไท กทม.
ดำเนินรายการโดย 3 บก.สมชาย มีเสน รองประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), บากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), และประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด,วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น
นายธนาธรกล่าวตอนหนึ่งว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เผชิญปัญหาฝังรากลึกมานานไม่สามารถแก้ไขได้ หากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและโครงสร้างอำนาจที่ฉุดรั้งประเทศมาตลอด 2 ทศวรรษ
นายธนาธรได้นำเสนอข้อมูลด้วยว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาขยายตัวน้อยลงเรื่อยๆ โดยการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากช่วงทศวรรษ 2530: เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มาถึงช่วงทศวรรษ 2540: GDP ลดลงเหลือเฉลี่ย 5.3% ต่อปี ทศวรรษ 2550 GDP ลดลงเหลือเฉลี่ย 3.2% ต่อปี มาถึงทศวรรษปัจจุบัน (หลังปี 2560) GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปี
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำแบบนี้ ไม่ใช่วิกฤตที่เกิดขึ้นแล้วฟื้นตัว แต่มันคือการที่เศรษฐกิจของประเทศเราเติบโตช้าลงเรื่อยๆ ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้รวมกับปัญหาภาษีสหรัฐ ซึ่งทำให้เห็นว่าเราแข่งขันกับโลกไม่ได้ โดยเหตุการณ์เรื่องภาษีทรัมป์เหมือนเรื่องของน้ำลดตอผุด
ทั้งนี้แนวทางในการแก้ปัญหาต้องแก้ไขทั้งเศรษฐกิจและการเมือง โดยในทางเศรษฐกิจรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ เพราะการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ และทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ไม่ได้ตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ของโลก เช่น AI, Climate Change หรือกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ
“จากประสบการณ์การเป็นกรรมาธิการงบประมาณมา 2 สมัยเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด อย่างที่เห็นช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ หรือ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ยังคงมีรูปแบบและเนื้อหาเหมือนเดิม”
โดยการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณต้องมุ่งไปที่ 2 เป้าหมายหลักควบคู่กัน ได้แก่
1.สร้างความมั่นคงในชีวิตให้ประชาชน โดยลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง แล้วนำมาเพิ่มสวัสดิการ เพื่อให้คน "กล้าเสี่ยง" (Take Risk) กล้าคิด กล้าเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างนวัตกรรมของประเทศ
2.สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเอกชนในประเทศ ที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี การจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการแข่งขันในอนาคตของประเทศ
“ไม่มีนโยบายระยะสั้นที่จะแก้ปัญหาระยะยาว เช่น การอัดฉีดเงินเข้าระบบ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ได้ การแก้ปัญหาต้องใช้เวลาเป็นสิบปีผ่านการสร้างขีดความสามารถของประเทศให้แข่งขันกับโลกได้จริง จะแก้ปัญหานี้ต้องใช้เจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่แน่วแน่ของฝ่ายบริหารที่จะผลักดันให้ทรัพยากรของประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง"นาย ธนาธร กล่าว