Wellness Tourism เทรนด์เที่ยวที่ตอบโจทย์โลกการทำงานของคนรุ่นใหม่
เมื่อการพักร้อนแบบเดิมไม่พอฮีลใจ เคยรู้สึกไหมว่าลาพักร้อนไปหนึ่งสัปดาห์ แต่กลับมาทำงานวันแรกก็รู้สึกว่าพลังชีวิตติดลบเหมือนเดิม ? ความรู้สึกเหนื่อยล้าที่กัดกินลึกไปถึงจิตใจ อาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังต้องการอะไรที่มากกว่าแค่การเปลี่ยนที่นอนหรือการเที่ยวชมเมืองแบบเดิม ๆ
Wellness Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ จนกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโต ในยุคที่ภาวะหมดไฟ (Burnout) และความเครียดสะสมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน การเดินทางจึงมีโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม นั่นคือทำอย่างไรให้การพักผ่อนครั้งต่อไปสามารถ “ฟื้นฟู” เราได้อย่างแท้จริง
แล้ว Wellness Tourism คืออะไรกันแน่ ?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันว่า Wellness Tourism ไม่ใช่การท่องเที่ยวสำหรับคนป่วย แต่เป็นการเดินทางโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการดูแลสุขภาพ เพื่อรักษาสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวม ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยผสมผสานประสบการณ์การท่องเที่ยวเข้ากับกิจกรรมเพื่อสุขภาพ อย่างการเข้าสปา โยคะ การทำสมาธิ การอยู่กับธรรมชาติ หรือการเข้ารับการบำบัดเฉพาะทาง เพื่อช่วยให้ร่างกายและจิตใจกลับมาสมดุลและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอีกครั้ง
แล้วเทรนด์ท่องเที่ยวสุขภาพเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทรนด์ Wellness Tourism ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา แต่มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
- ผลกระทบระยะยาวจาก COVID-19 หลังจากโรคระบาดจาก COVID-19 ผู้คนหันมาใส่ใจ ตระหนักถึงความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย สร้างภูมิที่ดีทั้งกายและใจ
- วัฒนธรรมการทำงานที่หนักหน่วง ภาวะหมดไฟและความเครียดกลายเป็นเรื่องยอดฮิตของคนวัยทำงาน ทำให้เกิดความต้องการการพักผ่อนที่ไม่ใช่เพื่อผ่อนคลายเท่านั้นแต่ต้องเยียวยาจิตใจได้ด้วย
- การเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ค่าเฉลี่ยของคนที่อายุเกิน 60 ปีในไทย ปี 2564 อยู่ที่ 20% หรือประมาณ 13 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและพร้อมลงทุนกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาว
- เทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูล ผู้คนสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและการดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้น ทำให้ต้องการประสบการณ์ที่เฉพาะบุคคล (Personalized) และตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้จริง
กิจกรรมฮีลใจ ช่วยเติมไฟอีกครั้ง
หลายคนอาจจะนึกถึงการนวดหรือสปา แต่ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีก เช่น
- ค้นหาความสงบภายใน ผ่านโยคะและการทำสมาธิเป็นการมุ่งเน้นสุขภาวะทางใจ เพื่อช่วยให้เกิดความสมดุลทางอารมณ์ จิตใจสงบปลอดโปร่งมากขึ้น
- เติบโตผ่านการแบ่งปัน ลองเข้าร่วมเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดผ่านการพูดคุยในหัวข้อพัฒนาตัวเอง ซึ่งนอกจากจะได้แนวทางใหม่ ๆ ยังได้พลังบวกและมิตรภาพดี ๆ อีกด้วย
- ให้ธรรมชาติบำบัด ลองเปลี่ยนจากการเที่ยวในเมืองมาเป็นเดินชมธรรมชาติที่ไม่เพียงแค่การเดินป่าแต่คือการซึมซับพลังจากธรรมชาติอย่างช้า ๆ เพื่อลดความเครียดและความวิตกกังวล
- สร้างพลังบวกผ่านกิจกรรม หากรู้สึกหมดไฟ ลองหากิจกรรมใหม่ ๆ อย่าง การออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน หรือเข้าคลาสเต้น ช่วยปลดปล่อยพลังงานและหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้ร่างกายและจิตใจแจ่มใส
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของเทรนด์ Wellness Tourism ?
ด้วยจุดแข็งที่มาจากวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์และทรัพยากรที่เหมาะสม เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาหาร กีฬาพื้นบ้าน สมุนไพร หรือแพทย์แผนไทยที่เป็นมิตรและครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
ข้อมูลจากรายงานของ Global Wellness Institute (GWI) ปี2022 ชี้ว่าประเทศไทย คือผู้เล่นคนสำคัญในสนามนี้ โดยเศรษฐกิจเชิงสุขภาพของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึงราว 1.4 ล้านล้านบาท
ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งครองอันดับ 4 ของเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ติดอันดับ 7 ของภูมิภาค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมและวัฒนธรรมการดูแลที่เป็นเอกลักษณ์คือจุดแข็งสำคัญของเรา
แต่ภาพจำของหลายคนอาจมองว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคือการไปนวดหรือทำสปา แต่ในความเป็นจริง เทรนด์ปี 2025 ได้ขยายขอบเขตของกิจกรรมให้หลากหลายและน่าสนใจกว่านั้นมาก
ธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของ Wellness Economy
เมื่อผู้คนโหยหาที่พักใจ ใครคือผู้เล่นที่ได้โอกาสจากเทรนด์นี้ ?
เปิดรายได้จากแต่ละภาคส่วนในปี ค.ศ. 2023
- การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 415,000 ล้านบาท
- อาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการ 308,900 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและความงาม 242,000 ล้านบาท
- การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก 118,000 ล้านบาท
- ฟิตเนสและกิจกรรมทางกาย 113,400 ล้านบาท
- เวชศาสตร์ป้องกันและการแพทย์เฉพาะบุคคล 91,500 ล้านบาท
- สปา 53,840 ล้านบาท
- สุขภาพจิต (Mental Wellness) 22,500 ล้านบาท
- อสังหาริมทรัพย์เชิงสุขภาพ (Wellness Real Estate) 17,800 ล้านบาท
- Wellness ในสถานที่ทำงาน 3,700 ล้านบาท
Wellness Economy ของไทยในอนาคตมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 7-10% ต่อปี ตัวเลขนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตในภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ หากได้ความร่วมมือจากทางภาครัฐและเอกชนที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นก็จะช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสในการสร้างรายได้และช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว เทรนด์ Wellness Tourism นอกจากจะช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตก็จริง แต่ยังเปิดมุมมองให้ย้อนกลับมาดูว่า “เรากำลังอ่อนล้าจากชีวิตการทำงานที่ขมปี๋” การเที่ยวเพื่อพักผ่อนแบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป และการหยุดเพื่อพักใจคือการลงทุนที่สำคัญที่สุด เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันทางร่างกายและจิตใจที่สมดุลและแข็งแรง