พลิกโฉม“สาหร่ายผักกาดทะเล” แปรรูปเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหาร
น.ส.พิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กล่าวว่า “สาหร่ายผักกาดทะเล” จัดว่าเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพสูงสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอาหารฟังก์ชัน หรือ Functional Foods ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารและส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภครักสุขภาพ กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ จึงได้ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย นำสาหร่ายผักกาดทะเลมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารหลากหลายเมนู ได้แก่ บะหมี่สาหร่ายผักกาดทะเล ที่มีโปรตีนและใยอาหารสูงขึ้น กัมมี่เยลลี่สาหร่ายผักกาดทะเล เพิ่มคุณประโยชน์ให้กับขนมขบเคี้ยว โดยการเติมสาหร่ายผักกาดทะเลพร้อมเสริมคุณค่าทางอาหารด้วยอินนูลิน วิตามินซี และคอลลาเจน เยลลี่พร้อมดื่ม (Jelly Drink) ผสมสาหร่ายผักกาดทะเล รสมะนาว ผลิตภัณฑ์ที่เสริมใยอาหารและโปรตีนจากสาหร่ายผักกาดทะเล และวิตามินซีถึงร้อยละ 180 และ เจลลีสติป (Jelly Strip) ผสมสาหร่ายผักกาดทะเล รสองุ่น เพิ่มคุณค่าทางอาหารจากสาหร่ายผักกาดทะเล คอลลาเจนไตรเปปไทด์ และวิตามินซี
สำหรับสาหร่ายส่วนที่เหลือจากการคัดแยก เนื่องจากเกินอายุการเลี้ยงหรือมีความไม่สมบูรณ์จะถูกนำไปสกัดสารอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและลดการเกิดขยะ (Zero waste) โดยใช้เอนไซม์โบรมิเลนสกัดโปรตีนไฮโดรไลเซทจากสาหร่ายผักกาดทะเล ทำให้โปรตีนมีขนาดเล็กลง ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เพื่อผสมลงในเมนูต่าง ๆ ได้แก่ เมอแรงค์สูตรลดน้ำตาลผสมโปรตีนไฮโดรไลเซทจากสาหร่ายผักกาดทะเล ซึ่งช่วยให้เนื้อสัมผัสแน่นคงตัวและมีกลิ่นรสเฉพาะของสาหร่ายผักกาดทะเล ซอสทสึยุผสมโปรตีนไฮโดรไลเซทจากสาหร่ายผักกาดทะเล โดยใช้แทนดาชิที่เป็นส่วนผสมหลัก ปราศจากสารปรุงแต่งอื่น ๆ และใยอาหารจากสาหร่ายผักกาดทะเล นำมาผลิตเป็น Jelly Strip เสริม
สารสกัดใยอาหารจากสาหร่ายผักกาดทะเล ที่มีใยอาหารสูงถึง 8 กรัม ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Thai Recommended Daily Intakes หรือ Thai RDI) ซึ่งช่วยให้ระบบขับถ่ายมีการทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผลิตเป็น บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ทดแทนการใช้พลาสติกสังเคราะห์และโฟมในอุตสาหกรรมอาหาร โดยสกัดและฟอกสีสาหร่ายผักกาดทะเลผสมกับเยื่อทางใบปาล์มแล้วนำไปขึ้นรูปด้วยเครื่องกดอัด (Compression Molding) จนได้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่มีความแข็งแรง ทนต่อการดูดซึมน้ำ และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง พร้อมผลักดันให้เป็นวัสดุทางเลือกใหม่สำหรับผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่ใช้เวลาในการเพาะปลูกหมุนเวียนสั้น ย่อยสลายได้ง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
โดยในอนาคตทางกองฯ มีแผนที่จะต่อยอดและขยายผลงานวิจัยดังกล่าวไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจันทบุรี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายผักกาดทะเลและส่วนที่เหลือจากการคัดแยก สำหรับเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจนำงานวิจัยไปต่อยอดสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เบอร์โทรศัพท์ 0 2940 6130 ต่อ 45