รู้ทันหมากเกม ‘พรรคส้ม’ หนุน ‘อนุทิน’ นั่งนายกฯ เพื่อบีบให้นายกฯพท.ยุบสภาก่อน
4 ก.ค.2568 - ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าตามข่าววงในที่อาจมีรัฐบาลใหม่ที่มีคุณอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นไปได้หรือ ?
ขณะที่พรรคประชาชนประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับใครเลย !
คำตอบ คือ เป็นไปได้ หาก
1.รัฐบาลแพฯจบลง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดตาม และไม่มีการยุบสภา
2.จากนั้น ตามรัฐธรรมนูญ จะต้องหานายกฯใหม่ และหากมีการจับขั้วกันใหม่ในสภา โดยมีพรรคประชาชนร่วมลงคะแนนให้คุณอนุทิน จนได้เสียงไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภา
โดยพรรคประชาชนไม่ขอร่วมเป็นรัฐบาล
ถือเป็นการให้ความร่วมมือเฉพาะกิจ
แต่หลังจากนั้น ในการลงมติผ่านร่างกฎหมายใดๆ ก็ว่ากันเป็นครั้งๆไป
อย่างไรก็ตาม หมากเกมนี้ของพรรคประชาชน เชื่อว่า จะบีบให้นายกฯเพื่อไทยชิงยุบสภาก่อนจะพลิกผันกลายเป็นฝ่ายค้าน
อีกทั้ง การเป็นพรรคที่มี สส มากที่สุด สามารถคว่ำรัฐบาลอนุทินเสียเมื่อไรก็ได้
และเป้าหมายที่พรรคประชาชนตั้งไว้แต่แรก คือ ยุบสภา ก็อยู่ในการบีบและกดปุ่มของพรรคยามเมื่อถึงเวลา
(ส่วนเพื่อไทย ภูมิใจไทยจะแก้เกมอย่างไรนั้น ขอยังไม่กล่าว เดี๋ยวจะยาว คนไม่อ่านกัน)
…….
ปรากฏการณ์การลงคะแนนให้ได้นายกฯ แต่ไม่ร่วมรัฐบาลของพรรคประชาชนที่กล่าวไปข้างต้นเกิดขึ้นในประเทศระบบรัฐสภาในยุโรป ไม่ใช่ของใหม่ ของแปลกเช่น อังกฤษ
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดได้สมาชิกสภาเกินครึ่งของสภาสามัญ
รัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นอาจจะเกิดจากการหารือตกลงกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ หากไม่สามารถตกลงกันจนได้เสียงข้างมากเกินครึ่งของสภาฯ
รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้น มี 3 แบบ แต่ขอกล่าวแค่ 2 ได้แก่
1. รัฐบาลเสียงข้างน้อยพรรคพรรคเดียว โดยพรรคการเมืองดังกล่าวอาจจะได้รับการสนับสนุนจากข้อตกลงเฉพาะหน้าในแต่ละประเด็นจากพรรคการเมืองอื่นบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน
2. รัฐบาลเสียงข้างน้อยพรรคเดียว โดยมีข้อตกลงที่เป็นทางการระหว่างพรรคการเมือง
ดังกรณีของการทำข้อตกลงระหว่างพรรคเสรีนิยมกับพรรคแรงงานในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1977-1978
ที่เรียกว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย หมายถึง ในวันที่โหวตนายกฯ ได้เกินครึ่ง แต่หลังจากนั้น ไม่เกินครึ่ง ครับ
——
ข้างต้น ถือเป็นความรู้เบื้องต้นการเมืองระบบรัฐสภาภายใต้ระบบหลายพรรคในปัจจุบันครับ