ผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ ความท้าทายของการรักษาดุลยภาพนโยบายการเงิน
ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ท่าทีด้านนโยบายการเงินของฝ่ายบริหารมีความแตกต่างจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างชัดเจน โดยฝ่ายรัฐบาลมีแนวโน้มสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการผลักดันให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดภาระหนี้ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ และเป็นการเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ ธปท. และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงยึดแนวทางแบบเข้มงวด โดยให้ความสำคัญกับการรักษาขีดความสามารถเชิงนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และเลือกที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่าภาวะเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างแท้จริง
ความเสี่ยงสำคัญของท่าทีที่คงความเข้มงวดมากเกินไป คือโอกาสที่นโยบายการเงินอาจ “ตกขบวน” (behind the curve) กล่าวคือ ไม่สามารถตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริบทที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากหลายด้านทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง คือ "การแข็งค่าของเงินบาท" ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะชะลอตัวลงในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเห็นได้ชัด แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ขณะเดียวกันก็เอื้อให้การนำเข้าเติบโต ซึ่งอาจกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศในระยะยาว
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบางยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน โดยเฉพาะระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงควบคู่กับการชะลอตัวของศักยภาพในการหารายได้ของประชาชน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินสู่อัตราดอกเบี้ยในภาคธนาคารพาณิชย์ทำงานได้อย่างจำกัด เช่น แม้ในช่วงที่ผ่านม กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวม 0.75% แต่ธนาคารพาณิชย์กลับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพียง 0.02–0.1% ภายในระยะเวลา 3–4 ไตรมาส
การแต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่แทนที่คู่แข่งที่เป็นลูกหม้อจากภายในองค์กร จึงมองได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายการเงินในอนาคต โดยคาดกันว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายอาจมีลักษณะผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการปรับ "ลดอัตราดอกเบี้ย" การจัดการกับปัญหา "ค่าเงินบาท" ที่แข็ง และการนำเสนอนโยบายการเงินแบบนอกกรอบ (unconventional monetary policies) เช่น การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อรองรับปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่เรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม การมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถแปลงไปสู่ความสำเร็จเชิงนโยบายได้เสมอไป โดยเฉพาะเมื่อแนวทางที่แตกต่างจากกรอบเดิมอาจกลายเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด หรือในทางกลับกัน อาจเป็นนโยบายที่ขาดความเหมาะสมและซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิมก็เป็นได้
ในบริบทนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะสถาบันหลักด้านนโยบายการเงิน ยังคงมีบทบาทสำคัญในการรักษาดุลยภาพเชิงนโยบาย โดยเฉพาะท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ "กับดักประชานิยมทางการเงิน" (monetary populism trap) การมีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลภายในองค์กรที่เข้มแข็งจึงมีความจำเป็น เพื่อค้ำจุนการกำหนดนโยบายให้คงความยั่งยืน และสามารถตอบสนองต่อความท้าทายของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว