"สมศักดิ์" กางแผน 3 ระยะพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์
22 กรกฎาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษในการประชุมเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมงาน ณ อิมแพค เมืองทองธานี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี สะดวก และปลอดภัย ผ่านการยกระดับบริการ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่แม่นยำและปลอดภัยจะช่วยลดความผิดพลาดและภาวะเเทรกซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical & Wellness Hub
ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์จำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 16 ยูนิต แบ่งเป็น โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลราชวิถี 1 ยูนิต โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 12 ยูนิต ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชน 3 ยูนิต โดยมีบริการหลัก คือ ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ทรวงอก ศีรษะและลำคอ นารีเวช และศัลยกรรมทั่วไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการรองรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บริการด้านการแพทย์ กำลังคน ข้อมูล การเงิน เทคโนโลยี และธรรมาภิบาล โดยแบ่งแผนการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ปี 2568 - 2570 พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนำร่อง กำหนดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติโดยจะดำเนินการในโรงพยาบาลนำร่อง 5 ภาค
ระยะที่ 2 : ปี 2571 - 2572 ขยายผลการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม
ระยะที่ 3 : ปี 2573 เป็นต้นไป ประเมินผลลัพธ์ ปรับปรุงระบบ และสร้างความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยี
"เชื่อมั่นว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่จะนำรูปแบบบริการปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ใปใช้ในหน่วยบริการทำให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและขอให้ช่วยกันยกระดับบริการสุขภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยสามารถตอบสนองกับปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป" นายสมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่จะนำปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไปให้บริการนั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มากเชื่อว่าไม่อันตราย มีเครื่องมือป้องกันทำให้การใช้งานสะดวกและเครื่องผ่าตัดที่ใช้ AI เครื่องเดียวสามารถผ่าตัดได้หลายจุดในร่างกายด้วย