โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

โชว์ผลงานสุดปัง '404 Error' เปิดมุมคิดนักออกแบบมืออาชีพ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดกิจกรรมโชว์ผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาภาคพิเศษ เสาร์ อาทิตย์ รุ่นที่ 4 ณ DPU Makerspace โดยนำเสนอผลงานสร้างสรรค์กว่า 30 โครงการ ภายใต้ธีม “404 Error” ซึ่งสะท้อนแนวคิด “ข้อผิดพลาดไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียใหม่ๆ” ทุกไอเดีย มักเริ่มจากความผิดพลาด แล้วเรียนรู้ที่จะพัฒนา ผ่านกระบวนการคิดอย่างมีระบบ โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา

การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมนี้คือ การเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้นำเสนอผลงานปลายทางที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ตลอดหลักสูตร โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานควบคู่ไปกับการเรียน ทางคณะฯ จึงได้วางแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของนักศึกษา พร้อมส่งเสริมให้แต่ละคนพัฒนาโครงงานจากแรงบันดาลใจเฉพาะตัว เพื่อเชื่อมโยงอย่างแท้จริงกับทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สจล.ปั้น 'พยาบาลนวัตกร' เชี่ยว AI -Design Thinking แก้ขาดแคลน

DPU ชวนคนทำงาน! 'Grad Master Plan'ต่อยอด ป.โท-เอก รับมือ AI

“404 Error” เข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อผิดพลาด”

สำหรับผลงานที่จัดแสดงในงานยังมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ NODE 01 – EXPERIMENTAL EXHIBITION: พื้นที่ของการทดลอง ความกล้าคิด และการออกแบบนอกกรอบNODE 02 – BRANDING | PRINTING MEDIA | ILLUSTRATION | BOARD GAME: สื่อสารแนวคิดผ่านภาพ วัสดุ และประสบการณ์จริง และ NODE 03 – PUBLICATION | E-BOOK | MOTION: พื้นที่แสดงงานสื่อสิ่งพิมพ์ ดิจิทัล และงานภาพเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

อาจารย์กิรติ ศรีสุชาติ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ DPU เปิดใจว่า การเรียนการสอนไม่ได้เน้นเพียงแค่การออกแบบ แต่รวมถึงการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและความเข้าใจว่าแต่ละผลงานถูกออกแบบมาเพื่ออะไร และเพื่อใคร โดยเฉพาะธีม “404 Error” ในปีนี้ ซึ่งหมายถึง “รุ่น 4” ของนักศึกษาภาคพิเศษ และ “Error” ที่สะท้อนถึงบทเรียนจากความผิดพลาดตลอดกระบวนการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อผิดพลาด” คือจุดตั้งต้นสำคัญของการคิด วิเคราะห์ และพัฒนางานให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

การเรียนยืดหยุ่น และเชื่อมโยงบริบทเฉพาะแต่ละคน

แนวทางการสอนของคณะจึงไม่ได้เน้นผลลัพธ์ปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่นักศึกษาต้องเผชิญระหว่างการพัฒนาผลงาน ตั้งแต่โจทย์ ลองผิดลองถูก และคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาภาคพิเศษซึ่งต้องทำงานควบคู่กับการเรียน รูปแบบการเรียนรู้จึงถูกวางให้มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับบริบทเฉพาะของแต่ละคน พร้อมการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณาจารย์ที่ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความรู้ แต่เป็น “Mentor” ที่คอยรับฟัง สนับสนุน และช่วยให้ผู้เรียนค้นพบแนวทางของตนเองทั้งในด้านการสร้างสรรค์และการจัดการชีวิตให้สมดุล

“เราวางตำแหน่งอาจารย์ไว้ ไม่ได้แค่ให้ความคิดเห็นในเรื่องงานออกแบบเท่านั้น แต่เราดูแลชีวิตของนักศึกษาในภาพรวม ตั้งแต่การวางแผน การกระตุ้น และการอยู่เคียงข้างในวันที่เขาแบกอะไรไว้เงียบๆ เราเป็นที่ปรึกษา ทั้งเรื่องเรียน เรื่องใจ และเรื่องส่วนตัวที่เขาไว้ใจจะพูดด้วยได้ หน้าที่ของเราคืออยู่กับเขาให้ตลอดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของชิ้นงานและการเติบโตในชีวิตจริง” รองคณบดี กล่าว

หนึ่งในผลงานเด่นคือ “Loei-Loei Go” โดย น.ส.กาญจนา สงวนชาติชาย ซึ่งเป็นการออกแบบแบรนด์เชิงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้อย่างร่วมสมัย โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากความสนใจในการศึกษา ตุ๊กตาอับเฉา ประติมากรรมหินจากจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้ว่าตุ๊กตาเหล่านี้จะเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในยุคนั้น และด้วยน้ำหนักของมันจึงทำหน้าที่ถ่วงเรือโดยปริยาย แต่กลับยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่ นางสาวกาญจนาจึงเกิดแนวคิด “Live to Wander” ขึ้น เพื่อปลุกชีวิตให้ตุ๊กตาหินเหล่านี้กลับมา “เดินทาง” ในโลกปัจจุบัน ผ่านการตีความใหม่ในฐานะนักเดินทางข้ามกาลเวลา

ผลงานพัฒนาเป็นสินค้าของที่ระลึกกลุ่มการท่องเที่ยว เช่น พาสปอร์ตโน้ตบุ๊ก กระเป๋าผ้า โปสการ์ด พวงกุญแจ และสติกเกอร์ โดยใช้สีโทนน้ำเงิน เหลือง และส้ม สื่ออารมณ์แห่งการเดินทาง พร้อมออกแบบมาสคอต 4 ตัว ได้แก่ ขุนพลอี๋, มู่เหมียว, เซอร์ชาร์ล และมาดามเจิน ซึ่งถูกออกแบบให้มีบุคลิกสะท้อนกิจกรรมแบบไทยๆ เพื่อเติมชีวิตชีวาให้กับศิลปะโบราณในมิติที่เข้าถึงง่าย

“ก่อนเริ่มโครงการนี้ไม่เคยรู้จักตุ๊กตาอับเฉาเลย แต่พอค้นคว้าแล้วถึงกับทึ่งว่ามีความเชื่อและเรื่องราวมากมายอยู่เบื้องหลัง ทุกชิ้นงานมีคุณค่าแฝงอยู่ ไม่ใช่แค่ความสวยงามภายนอก ทั้งนี้ หนูใช้เวลาประมาณ 6–7 เดือน จุดที่ยากคือเรื่องคอนเซ็ปต์เลยค่ะ กว่าจะได้ก็แก้แล้วแก้อีก คิดจนกว่าจะได้เรื่องออกมา บางทีก็รู้สึกว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้นะ แต่ก็ได้กำลังใจจากอาจารย์ที่คอยแนะนำและจากที่บ้านให้ฮึดสู้จนจบได้”

ปัจจุบัน น.ส.กาญจนา ทำงานด้านการตลาด และชี้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “การทำแบรนด์” สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงเพื่อ “ควบคุมแบรนด์ให้อยู่ในจุดที่เราต้องการ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับความสนใจคือ “Infinizweed” โดย น.ส.ปริยาภัทร สายบัวต่อ ซึ่งสะท้อนการออกแบบสื่อสร้างสรรค์ที่ผสานอารมณ์ ความทรงจำ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยโครงการนี้เริ่มจากความผูกพันกับวง Zweed n’ Roll ที่ประกาศพักวงเมื่อปี 2567 จนนำไปสู่แนวคิด “Wave of Reverie” เพื่อรักษาความรู้สึกของเสียงดนตรีให้คงอยู่ในใจผู้ฟังตลอดไป

โดยชิ้นงานยังประกอบด้วย Photobook, CD, พวงกุญแจที่สแกนเพื่อฟังเพลง และของสะสมอื่นๆ โดยการออกแบบกล่องที่เปิดจากตรงกลาง พร้อมปั๊มนูนลายคลื่นเสียงเพื่อให้สัมผัสได้จริง โทนสีน้ำเงินเข้ม ดำ และขาว สื่อถึงภวังค์และการเยียวยา ข้อมูลคลื่นเสียงจริงจากบทเพลงถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบกราฟิก เสริมประสบการณ์ที่มีทั้งความรู้สึกและความหมาย

น.ส.ปริยาภัทร เล่าถึงความท้าทายว่า เคยเจอภาวะ burnout ช่วงกลางโปรเจกต์ค่ะ เพราะไม่แน่ใจว่าจะสื่อสารแนวคิดเรื่องเพลงให้คนอื่นเข้าใจได้ยังไง จนต้องพักงานไปประมาณ 1 เดือน ตอนนั้นอาจารย์ก็แนะนำให้ไปดูงานนิทรรศการเยอะๆ ไปศึกษาคลื่นความถี่ในมิติต่างๆ ซึ่งช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งด้านการออกแบบและความเข้าใจในตัวเอง ทำให้หนูกลับมาทำงานต่อได้

ผลงานนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารและเยียวยา พร้อมสะท้อนระบบการเรียนรู้ที่เน้นการค้นหาตัวเองผ่านแนวคิดที่ลึกซึ้งและการประยุกต์ใช้ซึ่งสามารถนำไปสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งทำให้ผู้ที่มาชมผลงานต่างชื่นชมว่าเป็นงานที่ "รวมทุกอย่าง" ไว้ในที่เดียว นอกจากนี้นางสาวปริยาภัทร ยังหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้คน จดจำบทเพลงและวงนี้คงอยู่ตลอดไป

อย่างไรก็ดี ภายในงานครั้งนี้ยังมีโครงการออกแบบนิทรรศการเชิงประสบการณ์ ภายใต้แนวคิด “THE แบก” ของนางสาว ณัฐธยาน์ บวรโชติถวัลย์ ที่นำเสนอในรูปแบบศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ สื่อสารเรื่องภาระชีวิตและสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมสะท้อนความรู้สึก และเรียนรู้การปล่อยวางความคาดหวังที่ไม่จำเป็นต้องแบกไปตลอดเส้นทางชีวิต โดยผลงานนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และถือเป็นตัวอย่างของการใช้ศิลปะเพื่อเยียวยาอารมณ์อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ยังได้เตรียมนำผลงานบางส่วนไปจัดแสดงสู่สาธารณชนที่ห้างสรรพสินค้า The Mall Lifestore Ngamwongwan ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้สัมผัสแนวคิดการเรียนรู้ผ่านศิลปะอย่างเป็นระบบ พร้อมตอกย้ำบทบาทของการออกแบบในฐานะเครื่องมือสร้างคุณค่าให้สังคมร่วมสมัย

อาจารย์กิรติ ยังเน้นย้ำถึงแก่นสารของกิจกรรมศิลปนิพนธ์ในปีนี้ว่า ทุกความตั้งใจและการฝ่าฟันของนักศึกษาได้สะท้อนผ่านผลงานอย่างชัดเจน และเป็นบทพิสูจน์ของการเรียนรู้เชิงลึกในชีวิตจริง

"ปลายทางของงานศิลปนิพนธ์แต่ละชิ้น ไม่ใช่แค่การได้แสดงผลงาน แต่มันคือคุณค่าที่เขาจะได้รับกับงานชิ้นนั้น กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ มันไม่ง่ายเลยครับ แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ คือบทสรุปของความตั้งใจ ความอดทน และความกล้าในการพัฒนา ไม่ใช่แค่ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ แต่คือกระบวนการเรียนรู้ที่เขาจะติดตัวไปใช้ได้จริงในชีวิต"

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

เอสซี กางยุทธศาสตร์ ‘3B’ ฝ่าวิกฤติอสังหาไร้สัญญาณฟื้น

20 นาทีที่แล้ว

สัมพันธ์'บ้านโล่สถาพรพิพิธ-บิ๊กเนมภท.' ไม่ใช่คนอื่นไกล?

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘ทักษิณ’ ประกาศ กลางวง พรรคร่วมฯ ‘เลือกตั้ง’ แล้ว จับมือกันต่อ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ถึงเวลาที่ ธปท.จะ ‘เปิดประตูหอคอย ฟังเสียงบ้านนา’ ไม่ใช่แค่สนทนา ในกรอบสถิติ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสุขภาพอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...