‘นฤมล’เดินเครื่องแก้หนี้-ลดภาระ หลังล่องใต้ฟังเสียงครู-น.ร.สะท้อนปัญหา จี้‘ก.ค.ศ.’ปรับวิทยฐานะตอบโจทย์
‘นฤมล’เดินเครื่องแก้หนี้-ลดภาระ หลังล่องใต้ฟังเสียงครู-น.ร.สะท้อนปัญหา จี้‘ก.ค.ศ.’ปรับวิทยฐานะตอบโจทย์
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ในจ.นครศรีธรรมราช และจ.สุราษฎรธานี เมื่อวันที่ 18-20 กรกฏาคมที่ผ่านมานั้น ก็ได้พบว่ามีครูที่สะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ภาระงานของครู ซึ่งครูส่วนใหญ่ระบุว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องของ อัตรากำลังในสายสนับสนุน เพื่อให้ครูสามารถทุ่มเทเวลาและความสามารถในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ และยังสามารถจัดทำผลงานทางวิชาการได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพครูผ่านการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ
“ในเรื่องของการขอวิทยฐานะครูหลายคนได้สะท้อนความคิดเห็นถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการประเมินผลงานว่า ควรสอดคล้องกับลักษณะของผลงานที่ครูแต่ละระดับได้จัดทำขึ้น เนื่องจากลักษณะงานของครูแต่ละระดับ เช่น ครูในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือในสายอาชีวศึกษา มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของบริบท รูปแบบ และภาระหน้าที่ ดังนั้นเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะจึงควรมีความยืดหยุ่นและปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สะท้อนผลงานที่แท้จริงและเป็นธรรมกับครูทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม จึงได้มอบหมายให้นายธนู ขวัญเดช เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะดังกล่าว อีกทั้งผู้ประเมินผลงานก็ควรเป็นบุคคลที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันมาก่อน เพื่อให้สามารถเข้าใจเนื้อหาของผลงานที่ครูแต่ละคนเสนอเข้ามาได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน”นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ได้รับการสะท้อนจากครูก็คือ เรื่อง ภาระด้านเศรษฐกิจ ซึ่งครูจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นผู้รับผิดชอบปรับปรุงสวัสดิการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งวางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ทั้งนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารของสกสค. ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ เพื่อออกแบบแนวทางและมาตรการแก้ไขหนี้สินของครูให้เกิดความชัดเจน
นายธนู กล่าวว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทีการหารือ แนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ โดยในส่วนของคณะกรรมการผู้ประเมิน ซึ่งเดิมจะประเมินจะมาจากการคัดเลือก จากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ แล้วนำมารวมไว้ในระบบเพื่อทำการสุ่มคัดเลือกโดยที่ผู้รับการประเมินจะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน แต่จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการศธ. ที่มีแนวทางให้กรรมการผู้ประเมิน มีคุณสมบัติสอดคล้องกับผู้ขอรับการประเมิน ดังนั้น จะปรับปรุงในส่วนของคณะกรรมการประเมิน โดยให้แต่ละหน่วยงงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ฯลฯ ก็เสนอรายชื่อกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกมา ที่ สำนักงาน ก.ค.ศ.
“สำหรับอัตราครูเกินเกณฑ์ กว่า 600 อัตรา เป็นมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้จัดสรรในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2)บรรจุในโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ทั้ง 11 แห่ง ก่อน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการบรรจุอัตราดังกล่าว ก.ค.ศ.จึงได้มาดำเนินการต่อเนื่อง และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ที่มีรัฐมนตรีว่าการศธ.ให้ความเห็นชอบ เพื่อจัดสรรต่อไป” นายธนูกล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘นฤมล’เดินเครื่องแก้หนี้-ลดภาระ หลังล่องใต้ฟังเสียงครู-น.ร.สะท้อนปัญหา จี้‘ก.ค.ศ.’ปรับวิทยฐานะตอบโจทย์
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th