ชำแหละหุ้น DV8 ตัวตึงในตำนาน มหากาพย์รายย่อยบาดเจ็บช้ำซาก
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้เห็นปรากฏการณ์ที่แปลกตาและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อ บริษัท ดีวี8 จำกัด (มหาชน) หรือ DV8 ประกาศว่ามีกลุ่มนักลงทุน 8 ราย แจ้งเจตนาเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ จำนวน 1,319.92 ล้านหุ้น หรือ 100% ด้วยราคาเสนอซื้อ 0.56 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวม 742.17 ล้านบาท ในขณะที่ราคาหุ้นในตลาดอยู่เหนือระดับ 5 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเกือบ 10 เท่า
สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น คือ ในวันถัดมา 4 กรกฎาคม ราคาหุ้น DV8 กลับพุ่งขึ้นไปแตะ 6.30 บาท ก่อนจะปิดที่ 5.10 บาท แทนที่จะลดลงตามกลไกปกติของการทำ Tender Offer ที่ราคาต่ำกว่าตลาด
ปรากฏการณ์นี้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับตลาดทุนไทย และเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องออกมาตรการควบคุมการซื้อขายในระดับที่ 2 ทันที
ปฐมบท "ตัวตึงในตำนาน"
เพื่อจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ในชื่อ "บริษัท อ่าวขามไทย จำกัด (มหาชน)" ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท ประกอบกิจการให้บริการรับชมภาพและฟังเสียงจากสัญญาเสียงระบบดิจิตอล ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ล้ำสมัยในยุคนั้น
ชะตากรรมของบริษัทเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายทศวรรษ 2530 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 หลังบริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ซิโนไทยรีซอร์สดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)" และต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ปรับปรุงชื่อเป็น "บริษัท ซิโน-ไทย รีซอร์เซส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)" หรือที่นักลงทุนรู้จักในชื่อ STRD
วิกฤติเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 ได้กระทบกับ STRD อย่างหนัก ส่งผลให้บริษัทถูกตลาดหลักทรัพย์พักการซื้อขาย และถูกย้ายไปยังหมวด REHABCO สำหรับบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ช่วงเวลานี้นับเป็นจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ที่หลายคนคิดว่าอาจไม่มีวันกลับมา
แต่เรื่องราวกลับพลิกผันอย่างน่าทึ่ง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555 บริษัทได้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า จำกัด (มหาชน)" หรือ AJP โดยยังคงประกอบธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและสื่อวิทยุกระจายเสียง ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการทำให้บริษัทสามารถมีกำไรสุทธิประมาณ 24 ล้านบาทในปี 2555 ส่งผลให้พ้นเหตุจากการถูกเพิกถอน และตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้กลับมาซื้อขายได้ในวันที่ 11 กันยายน 2556
การกลับมาของ AJP ในครั้งนั้นถือเป็นตำนานที่นักลงทุนยังคงจดจำจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากราคาวันแรกที่กลับมาซื้อขายอยู่ที่ 16-17 บาท หรือสูงกว่า 6,000% จากราคาปิดครั้งสุดท้ายในชื่อ STRD ความสำเร็จนี้ทำให้ AJP กลายเป็น "ตัวตึงในตำนาน" ที่หลายคนพูดถึงในแวดวงนักเล่นหุ้น
เรื่องราวไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น วันที่ 7 สิงหาคม 2558 บริษัทเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "บริษัท ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" หรือ DCORP ในช่วงปี 2561 ราคาหุ้นเคยไล่ขึ้นไปสูงสุดที่ 3.96 บาทต่อหุ้น ก่อนจะทรุดลงต่ำสุดที่ 45 สตางค์ เป็นแบบนี้หลายรอบ ทำให้นักลงทุนรายย่อยบาดเจ็บช้ำซาก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 เมื่อบริษัทลดทุนจดทะเบียนเป็น 1,430,416,192 บาท พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท ดีวี8 จำกัด (มหาชน)" หรือ DV8 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มาพร้อมกับการปรับเปลี่ยนประเภทธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2563 ที่เปลี่ยนเป็น "กิจกรรมของตัวแทนขายสื่อโฆษณา" จากเดิม "ประกอบกิจการให้บริการรับชมภาพและฟังเสียงจากสัญญาเสียงระบบดิจิตอล"
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา DV8 ได้เปลี่ยนแปลงประเภทธุรกิจและวัตถุประสงค์รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ตั้งแต่การเป็น "ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและขายโฆษณา" ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ต่อมาเป็น "ธุรกิจขายโฆษณา" ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 แล้วกลับไปเป็น "ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและขายโฆษณา" อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2566 และล่าสุดเปลี่ยนเป็น "กิจกรรมของบริษัทโฆษณา" ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 การเปลี่ยนแปลงที่บ่อยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการหาทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ยังไม่ชัดเจน
เปลี่ยนแปลงทุนหลายสิบครั้ง!!
ไม่เพียงแค่ประเภทธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนของ DV8 ก็เป็นอีกเรื่องราวที่น่าติดตาม ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยทุน 200 ล้านบาทในปี 2537 บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนทุนหลายครั้ง โดยเฉพาะในปี 2558 ที่มีการเพิ่มลดทุนถึง 5 ครั้งภายในปีเดียว จากการเพิ่มทุนเป็น 300 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม ขยายเป็น 391.78 ล้านบาทในเดือนมกราคม ต่อด้วย 655.55 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ แล้วลดลงเหลือ 558.49 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม และเพิ่มขึ้นเป็น 590.55 ล้านบาทในวันถัดมา
การขยายตัวครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2562 เมื่อบริษัทเพิ่มทุนจาก 587.41 ล้านบาทเป็น 1,762.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในวันเดียว แต่ต่อมาก็ต้องลดทุนลงเป็น 1,430.42 ล้านบาทในปี 2563 และในปี 2566 ก็มีการลดทุนอย่างมากลงมาเหลือ 429.12 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มกลับขึ้นเป็น 1,072.81 ล้านบาทในเดือนถัดมา
โครงสร้างการบริหารก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่นางสาวนาตยา อุ่ยวิรัช เข้ามาเป็นกรรมการใหม่ ต่อด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อนายณัฐพล เกษมวิลาศ และนายปกรณ์ ลี้สกุล เข้ามาใหม่ ขณะที่นางสาวสุรีย์ภรณ์ อุดมผลวณิช และนายธนัย ชรินทร์สาร ออกจากตำแหน่ง
การเปลี่ยนแปลงยังคงดำเนินต่อไปในเดือนเมษายน 2565 เมื่อนายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ และนายประวุฒิ ถาวรศิริเข้ามาใหม่ ขณะที่นางสาวนาตยา อุ่ยวิรัช ออกจากตำแหน่ง และในเดือนมิถุนายน 2566 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์และนายณรงค์ ฉัตรวรกิจพาณิช เข้ามาเป็นกรรมการ ขณะที่นายโชติพันธุ์ เตียวิวัฒน์ และนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ออกจากตำแหน่ง
ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2568 นางสาวกัญญา ชัยสาธิตพร เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่นายณัฐพล เกษมวิลาศ ออกจากตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากนางสาวกัญญาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 95 ล้านหุ้น หรือ 7.20%
ขาดทุนสะสมกว่า 110 ล้าน
เมื่อมองไปที่ผลการดำเนินงานทางการเงิน ภาพที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทเผชิญอยู่ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา DV8 มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสะสมกว่า 110 ล้านบาท โดยมีกำไรเพียงปีเดียวในปี 2567 จำนวน 3.43 ล้านบาท ส่วนปีอื่นๆ ล้วนขาดทุนทั้งสิ้น ตั้งแต่ขาดทุน 14.32 ล้านบาทในปี 2565 ขาดทุน 35.71 ล้านบาทในปี 2566 และล่าสุดในไตรมาส 1 ของปี 2568 ก็ขาดทุน 20.14 ล้านบาท
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 นับเป็นบทใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ราคาหุ้น DV8 ได้พุ่งขึ้นจาก 0.51 บาทในวันเปิดตลาดวันแรกของปี เป็น 5.50 บาทในวันที่ 3 กรกฎาคม หรือเพิ่มขึ้น 978.43% ในระยะเวลาเพียง 122 วันทำการ ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ระดับ 7,259.57 ล้านบาท และเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 7.35 บาทในวันที่ 16 มิถุนายน 2568
การเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องออกมาตรการกำกับการซื้อขายระดับที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 2-22 กรกฎาคม 2568 ซึ่งรวมถึงการห้าม Net Settlement การห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย การใช้ Cash Balance และการซื้อขายแบบ Auction เท่านั้น เหตุผลสำคัญคือ อัตราหมุนเวียนการซื้อขาย มูลค่าการซื้อขาย และราคาซื้อขายที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน เช่น อัตราส่วน P/E ที่สูงผิดปกติ
การวิเคราะห์โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2568 พบว่า นายบุญชัย เกษมวิลาศ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 362.29 ล้านหุ้น หรือ 27.45% ตามด้วยนางสาวสุนันท์ งามอัครกุล ที่ 170.33 ล้านหุ้น หรือ 12.90% และนางสาวกัญญา ชัยสาธิตพร ที่ 95 ล้านหุ้น หรือ 7.20% ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
น่าสังเกตว่า กลุ่มตระกูล "เกษมวิลาศ" ถือหุ้นรวมกันประมาณ 33.77% เมื่อรวมสัดส่วนของนายบุญชัย เกษมวิลาศ นายณัฐพล เกษมวิลาศ และนางสาวกิ่งกมล เกษมวิลาศ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่มากพอในการควบคุมทิศทางของบริษัท
เมื่อมองภาพรวมของ DV8 ในช่วงกว่า 31 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริษัทแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของหุ้นเก่าในตำนานที่ผ่านวิกฤติและการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากธุรกิจระบบดิจิตอลในยุคแรกสู่สื่อโฆษณาในยุคปัจจุบัน
การเปลี่ยนชื่อ 5 ครั้ง การปรับเปลี่ยนทุนจดทะเบียนหลายสิบครั้ง การเปลี่ยนแปลงกรรมการอย่างต่อเนื่อง และการปรับเปลี่ยนประเภทธุรกิจ 5 ครั้งในรอบ 4 ปี ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและการหาทิศทางที่ยังไม่ชัดเจน
ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ของบริษัทก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวและสร้างผลตอบแทนที่สูงมากในบางช่วงเวลา เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุค AJP ที่สามารถสร้างผลตอบแทนมากกว่า 6,000% ให้กับนักลงทุน กลิ่นอายของหุ้น "ตัวตึงในตำนาน" ยังคงปรากฏให้เห็นใน DV8 และเหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นเพียงอีกหนึ่งบทในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทแห่งนี้
สำหรับนักลงทุนที่สนใจศึกษา DV8 จำเป็นต้องทำความเข้าใจทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง การศึกษาประวัติศาสตร์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา รวมถึงการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบริษัทแห่งนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเสมอมา และสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่ต่างจากสิ่งที่เราได้เห็นมาในอดีตมากนัก