ThaiBMA หั่นเป้าหุ้นกู้ออกใหม่ปี 68 เหลือ 8 แสนลบ. บจ.ใหญ่เรทติ้ง AAA หันกู้แบงก์
ThaiBMA หั่นเป้าหุ้นกู้ออกใหม่ปี 68 เหลือ 8 แสนล้านบาท หลังบจ.ใหญ่เรทติ้ง AAA หันไปกู้แบงก์ ไฮยีลด์บอนด์ แผ่ว
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ปรับลดคาดการณ์หุ้นกู้เอกชนออกใหม่ในปี 2568 เหลือ 8 แสนล้านบาท จากเดิมคาดคาดว่าจะมีมูลค่า 8.5-9 แสนล้านบาท
สำหรับครึ่งปีแรกเอกชนออกออกหุ้นกู้ระยะยาวมูลค่ารวม 398,820 ล้านบาท ลดลง 19.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 494,371 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ Investment Grade มูลค่า 372,697 ล้านบาท ลดลง 19.7% และ หุ้นกู้ High Yield มูลค่า 26,123 ล้านบาท ลดลง 13.2%
ทั้งนี้ครึ่งปีแรกของปี 2567 มีการออกตราสารหนี้ 4.9 แสนล้านบาท แต่ครึ่งแรกปีนี้ไม่ถึง 4 แสนล้านบาท ลดลดไป 19% เหรือเกือบ 1 แสนล้านบาท เป็นการลดลงของหุ้นกู้ Investment Grade เกือบ 20% แต่ยังมีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ออกสูงกว่าปีที่แล้ว
สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยสิ้นไตรมาส 2/68 มูลค่าคงค้างท่ากับ 17.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 93% ของ GDP) เพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่ผ่านมา
นางสาวอริยา กล่าวว่า สาเหตุที่หุ้นกู้ Investment Grade มีทางเลือกมากกว่าเนื่องจากสภาพปัจจุบันมีจังหวะดอกเบี้ยผันผวน ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เรทติ้ง AAA หันไปใช้สินเชื่อธนาคารแทน
“ในช่วงครึ่งปีแรกหุ้นกู้เรทติ้ง AAA ออกมาเสนอขาย 23,700 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ออกหุ้นกุ้ 48,900 ล้านบาท”
ส่วนหุ้นกู้เรทติ้ง AA ก็ลดลงมาที่ 35,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 111,060 ล้านบาท โดยบริษัทขาดใหญ่อยางไทยเบฟเวอเรจก็ไม่ออกหุ้นกู้มาในปีนี้
อย่างไรก็ดี หุ้นกู้เรทติ้ง A ยังมีการออกเพิ่มขึ้นเป็น 258,600 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 242,624 ล้านบาท และระดับ BBB ออกมา 55,397 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนในช่วงเดียวกันที่ออกมา 65,143 ล้านบาท อาทิ BTS, SIRI ออกมาทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
ส่วนหุ้นกู้ High Yield หรือหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับก็ออกลดลงเช่นกัน ครึ่งแรกของปีนี้มีมูลค่า 15,533 ล้านบาท จากปีก่อนช่วงเดียวกัน 17,218 ล้านบาท เนื่องจากบางรายที่ขอยืดการชำระหนี้หุ้นกู้ชุดเดิม ทำให้ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้
นางสาวอริยา กล่าวว่า ในครึ่งหลังปี 2568 มีหุ้นกู้ระยะยาวจะครบกำหนดรวมมูลค่า 414,810 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ Investment Grade จำนวน 365,923 ล้านบาท และหุ้นกู้ High Yield มูลค่า 48,887 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/68 หุ้นกู้ครบกำหนดมูลค่ารวม 194,385 ล้านบาท และในไตรมาส 4/68 มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 220,424 ล้านบาท
ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2568 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระรวมมูลค่า 2,337 ล้านบาท จากผู้ออก 4 ราย
ส่วนหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.2568 มีมูลค่ารวม 17,540 ล้านบาท จากผู้ออก 14 ราย
นางสาวอริยา กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์หุ้นกู้ภาคเอกชนยังน่ากังวล เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวนาน และยังมีประเด็นภาษีของสหรัฐฯที่จะเข้ามาซ้ำเติม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ก็อาจจะกระทบถึงบริษัทขนาดใหญ่ได้ด้วย
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า จากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กังวลถึงความสามารถการทำกำไรของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีหุ้นกู้ขอยืดหนี้มากขึ้น หรือบางรายผิดนัดชำระหนี้ (Default) ทำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุน ดังนั้นต้องเลือกบริษัทที่มีความเชื่อมั่น หลีกเลี่ยงไม่ลงทุนในบริษัทที่อาจมีความเสี่ยง
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 32,331 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 โดยเดือน ม.ค.ขายสุทธิ 11,989 ล้านบาท จากนั้นเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.พ.-เม.ย. รวม 79,240 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับมาขายสุทธิเดือน พ.ค.-มิ.ย.รวม 34,921 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/68 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของมูลค่าคงค้างโดยรวม
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) ปรับตัวต่ำลงทั้งเส้นในช่วงครึ่งแรกของปี 68 ตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลดลง 62-70 bps. จากสิ้นปี 67 มาอยู่ที่ระดับ 1.40%, 1.40% และ 1.60% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2/68
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสสุดท้ายอีก 1 ครั้ง 0.25% ลงมาที่ 1.50% จากปัจจุบัน 1.75%
ส่วนคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามของ ThaiBMA คาดว่ารุ่นอายุ 5 ปีและ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะลดลงเฉลี่ยราว 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 2/68 จากปัจจัยทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจโลกและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ