ตลาดรถยนต์ใช้แล้วครึ่งปีหลัง 2568 หดตัว 28% รับมือความท้าทาย EV-เศรษฐกิจ
รถมือสองไทยร้อนแรงน้อยลง ยอดขาย-สินเชื่อหดตัวหนัก สมาคมฯ เตือนถึงจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง
วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว จัดงานแถลงข่าว “เจาะลึกธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว รวมพลังฝ่าวิกฤติ” เพื่อนำเสนอแนวโน้มตลาดรถยนต์มือสองไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง และกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบในทุกมิติ
นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า ธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วกำลังเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ส่งผลให้ปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่ตลาด และยอดขายรวม ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 มีรถยนต์ใช้แล้วเข้าสู่ตลาดเฉลี่ยเพียง 18,458 คันต่อเดือน ลดลงกว่า 28% จากค่าเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 25,000 คันต่อเดือน
ด้านยอดขายรวมก็ไม่สู้ดี ปี 2566 ขายได้ 406,000 คัน ปี 2567 ลดลงเหลือ 316,000 คัน ส่วนในครึ่งแรกของปี 2568 ทำได้เพียง 285,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกราว 10% โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังยังคงต้องเฝ้าระวังจากปัจจัยซ้อนหลายด้าน
นอกจากนี้ สินเชื่อรถยนต์มือสองจากสถาบันการเงินยังหดตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2567 ยอดปล่อยสินเชื่อลดลงกว่า 25% และในปี 2568 ยังคงลดลงอีกประมาณ 10% สะท้อนถึงความเข้มงวดของธนาคารต่อความเสี่ยงของผู้ซื้อและผู้ขาย
ความร่วมมือคือทางรอด สมาคมฯ ชี้ต้องยกระดับมาตรฐาน และสร้างความโปร่งใส
จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ ย้ำว่า อุตสาหกรรมรถยนต์มือสองไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเชิงโครงสร้าง ไม่เพียงแค่ในด้านยอดขายหรือสินเชื่อ แต่รวมถึงการยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของระบบโดยรวม ภายใต้แนวคิด “มาตรฐานนำอุตสาหกรรม”
หนึ่งในแนวทางคือการตรวจสอบและจัดเกรดรถยนต์อย่างชัดเจนก่อนการจำหน่าย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถรับมือกับบริบทใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แรงกระเพื่อมจาก EV รถไฟฟ้าท้าทายทั้งธุรกิจ แรงงาน และห่วงโซ่อุปทาน
อีกประเด็นสำคัญในงานคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเริ่มส่งแรงสะเทือนมาสู่อุตสาหกรรมรถมือสองไทย โดยเฉพาะในแง่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การจัดการซัพพลายเชน และอนาคตของแรงงานในระบบดั้งเดิม
เสวนาในหัวข้อ “EV กับความเชื่อมั่นของ Eco System” นำโดยตัวแทนจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT), ผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ และสื่ออาวุโสทางด้านยานยนต์ ต่างเห็นตรงกันว่า อุตสาหกรรมต้องรีบเตรียมความพร้อมก่อนที่การเปลี่ยนผ่านจะกลายเป็นแรงต้าน
รัฐ-เอกชนเดินหน้าเคลื่อนอุตสาหกรรม หวังมาตรการสนับสนุนกระตุ้นความเชื่อมั่นในระยะยาว
ในงานยังมีการหารือจากภาครัฐและภาคการเงิน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่เข้าร่วมนำเสนอแนวทางในการสร้างระบบตรวจสอบที่โปร่งใส และป้องกันปัญหาที่อาจกระทบต่อผู้บริโภคในอนาคต
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหลัก ๆ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารเกียรตินาคินภัทร ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยืดหยุ่น และเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยได้จริง เพื่อประคองตลาดไม่ให้ทรุดลงลึกกว่าเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทำไม เนต้า NETA ล้มละลาย ขายดีแต่เป็นหนี้หมื่นล้านหยวน หวั่นจุดชนวนวิกฤต ลุกลามอุตสาหกรรมอีวีจีน
- รถ EV อเมริกา Lucid Air ทำสถิติโลก ชาร์จครั้งเดียววิ่งได้ 1,205 กม. !
- เปิดตัว E-bike สุดแปลกจากแคนาดา วิ่งไกลกว่า 200 กม. ด้วยการชาร์จรอบเดียว
- ทำไม "BYD" ยอดขายกระฉูด! ท่ามกลางสงครามราคา EV l การตลาดเงินล้าน
- ช่างรถอิตาลี DIY รถยนต์ EV ที่แคบที่สุดในโลก ! ขับได้จริง วิ่งไกลสุด 25 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ