เจาะลึกธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว รวมพลังฝ่าวิกฤติ
สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว จัดงาน “เจาะลึกธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว รวมพลังฝ่าวิกฤติ” เพื่อให้ข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของตลาดรถยนต์มือสองในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า
วิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของธุรกิจรถยนต์ใช้แล้วในประเทศไทยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจ ราคาสินค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ทั้งจำนวนรถยนต์ใช้แล้วที่เข้าสู่ตลาด ยอดขาย และการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลของสมาคมฯ พบว่า จำนวนรถยนต์ใช้แล้วที่เข้าสู่ตลาดในปี 2567 มีเฉลี่ยเดือนละ 25,000 คัน หรือประมาณ 300,000 คันต่อปี แต่ในปี 2568 ลดลงเหลือเฉลี่ยเพียงเดือนละ 18,458 คัน หรือคิดเป็นการลดลงกว่า 28%
ด้านยอดขายรถยนต์ใช้แล้ว ปี 2566 มียอดขายรวม 406,000 คัน ปี 2567 ลดลงเหลือ 316,000 คัน หดตัวประมาณ 22% ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 มียอดขายรวม 285,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 10%
นอกจากนี้ ยอดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินสำหรับรถยนต์ใช้แล้ว ลดลงจากปี 2566 ถึง 2567 กว่า 25%และในปี 2568 ยังลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 10%
สมาคมฯ เผยสถานการณ์ปัจจุบันสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการปรับตัวให้ทันต่อบริบทใหม่นี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ รัฐบาล และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถฟื้นตัว และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ภายใต้แนวคิด “มาตรฐานนำอุตสาหกรรม” สมาคมฯ ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้แล้ว โดยส่งเสริมให้มีการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์และจัดเกรดรถยนต์ทุกคันก่อนการจำหน่าย เพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดรถยนต์ใช้แล้ว พร้อมกันนี้ สมาคมยังเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะและคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำบทบาทการเป็นองค์กรกลางในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่รถไฟฟ้า (EV) เป็นอีกแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ต้องเตรียมรับมือ ไม่เพียงแต่ในด้านธุรกิจ แต่รวมถึงผลกระทบต่อแรงงานและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เสวนาพิเศษหัวข้อ “EV กับความเชื่อมั่นของ Eco System” จึงเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองโดยผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์และสื่อ ได้แก่ สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) จาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ และพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ แอคทิวิตี้ จำกัด
รวมทั้งการนำเสนอแผนดำเนินงานเพื่อยกระดับมาตรฐานและสร้างความโปร่งใสในธุรกิจ ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนการเติบโตอย่างมีธรรมาภิบาลของตลาดรถยนต์ใช้แล้ว โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
การรวมพลังจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น ความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงแนวทางสนับสนุนจากสถาบันการเงิน จะช่วยเสริมสภาพคล่องและทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวได้เร็วขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในระยะยาว