โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

คดีตำรวจ-ทหารทำผิด อาจ “ลอยนวล” หมด ถ้าผ่านนิรโทษกรรมฉบับรวมไทยสร้างชาติ

iLaw

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว • iLaw

9 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีกำหนดนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งวาระเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาก่อนตามแนวทางของรัฐบาล คือ กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมสี่ฉบับ ที่รอการพิจารณามาตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งเสนอให้ยุติการดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและการชุมนุมย้อนหลังไป 20 ปี โดยข้อถกเถียงสำคัญที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันมีอยู่สองประเด็น คือ ขอบเขตของการนิรโทษกรรมจะรวมคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 หรือไม่ และจะยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จงใจใช้กำลังทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบด้วยหรือไม่

คณะรัฐมนตรีที่นำโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาล แต่ใช้ร่างที่เสนอโดยสส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ตั้งชื่อว่า ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เป็นร่างหลักในการพิจารณา และในร่างฉบับนี้เสนอให้นิรโทษกรรมคดีของบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง โดยให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาและทางแพ่ง แต่ไม่ให้รวมคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่รวมคดีมาตรา 112 และไม่รวมคดีที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งหมายความว่า จะนิรโทษกรรมให้กับคดีที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหายด้วย

ทั้งที่หลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข เขียนไว้ว่า การกระทำต่างๆของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมหรือร่วมแสดงออกทางการเมืองแม้จะกลายเป็นการกระทำความผิดโดยสภาพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นการกระทำความผิดที่แท้จริงแล้วผู้กระทำมิได้มีเจตนาชั่วร้าย หากแต่เป็นเพียงเจตนาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพียงเพราะต้องการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองหรือเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว … หากยึดถือตามหลักการนี้ กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธจงใจใช้กำลังต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่การทำไปเพราะต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรมด้วย แต่โดยตัวบทมาตรา 6 แล้วก็จะรวมทุกคนด้วย

ในช่วงปี 2563-2564 มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยจงใจ ซึ่งมีการเก็บรวบรวมข้อมูลคดีไว้และดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่อย่างเป็นระบบ แต่คดีความยังไม่ถึงที่สุด หากร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ถูกประกาศใช้ คดีความเหล่านี้ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการนิรโทษกรรม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็อาจจะลอยนวลพ้นผิดได้ตลอดไป

1. คดียิงกระสุนยางใส่นักข่าว

18 กรกฎาคม 2564 มีการนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อผู้ชุมนุมได้เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยางกับผู้ชุมนุม บริเวณสี่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ, บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ถึงโรงเรียนราชวินิตมัธยม, บริเวณสี่แยกนางเลิ้ง, บริเวณสี่แยกเทวกรรม และบริเวณสี่แยกอุรุพงษ์ เหตุตามกฎหมายมีเพียงการควบคุมโรคโควิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Plus Seven และช่างภาพจากสำนักข่าว The Matter ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของตำรวจ แม้ว่าทั้งสองคนจะอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนและสวมปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจนก็ตาม โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่าสื่อมวลชนทั้งสองคนใช้ความรุนแรง หรือเข้าร่วมเป็นผู้ชุมนุม และก่อนที่ตำรวจจะใช้กระสุนยางก็ไม่ได้มีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมก่อน ซึ่งขัดกับหลักการสากลของการใช้อาวุธที่ต้องมีการแจ้งเตือนก่อนและจะต้องใช้ต่อผู้ก่อความรุนแรงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวทั้งสองคนยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเหตุการณ์ต่อศาลแพ่ง ฐานความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และเรียกค่าเสียหายรวม 1,412,000 บาท ต่อมา 26 กันยายน 2566 ศาลแพ่งพิพากษาว่า การยิงปืนดังกล่าวมิใช่การกระทำโดยเฉพาะเจาะจงต่อเป้าหมายหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันให้พ้นจากภยันตราย ขัดกับแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตำรวจมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางการใช้กระสุนยางและความระมัดระวังในการใช้กระสุนยางควบคุมฝูงชน จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานการปฏิบัติหน้าที่ ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 42,000 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาท

หลังศาลแพ่งพิพากษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นอุทธรณ์ และคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ยังไม่เคยได้รับเงินค่าเสียหายตามคำสั่งศาล

2. คดียิงแก๊สน้ำตา หน้าสภา #ม็อบ17พฤศจิกา

17 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมรัฐสภามีนัดพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างที่จะพิจารณามีทั้งหมด 7 ฉบับ เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านและภาคประชาชนที่เสนอโดยการรวบรวมรายชื่อมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ มีผู้ชุมนุมที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนัดหมายรวมตัวกันชุมนุมหน้ารัฐสภา แต่ตำรวจนำแบริเออร์มากั้นและฉีดน้ำแรงดันสูง ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ไม่ให้เข้าไปถึงบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาได้ ผู้ชุมนุมจึงได้แต่กระจายตัวอยู่โดยรอบบนถนนทางไปอาคารรัฐสภา ตำรวจฉีดน้ำและแก๊สน้ำตารวมกันเป็นเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง คือ เริ่มฉีดครั้งแรกเวลา 14.22น. และครั้งสุดท้ายเวลา 19.22 น มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 18 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้แก๊สน้ำตา, มีแผลตามร่างกายจากการโดนลวดบาด, ถูกฉีดน้ำ และมีผู้ชุมนุมศีรษะแตก 1 คน ในวันดังกล่าวยังมีการปะทะกันโดยมีผู้ชุมนุมสวมเสื้อสีเหลืองที่ทำร้ายผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ มีการใช้ระเบิดปิงปองและปืนยิงกระสุนจริง มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

6 มกราคม 2564 ประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์จำนวน 11 คน นำโดยชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อังคณา นีละไพจิตร ซึ่งต่อมาได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องยุติการใช้กำลังที่รุนแรงเกินสมควร พร้อมชดใช้ค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพผู้ชุมนุม ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมีเจตนารมณ์ให้ศาลแพ่งมีเขตอำนาจพิจารณา

คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ศาลปกครองสั่งรับฟ้องคดีนี้

ระหว่างรอศาลปกครองวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ผู้ชุมนุมเก้าคน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งพิพากษาเมื่อ 28 ธันวาคม 2566 ให้โจทก์ชนะคดี โดยศาลแพ่งเห็นว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังคงชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การที่เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา ที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางได้และไม่ประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมได้ทราบ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับก่อน การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้สัดส่วนต่อความรุนแรงไม่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่บริเวณดังกล่าวรับความเสียหายด้วย อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และให้ชดใช้ค่าเสียหายผู้ชุมนุมแต่ละคนเป็นจำนวนไม่เท่ากัน ระหว่าง 22,000-126,775 บาท

ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

3. คดีสลายกิจกรรม "ช่วยเกษตรกรขายกุ้ง"

31 ธันวาคม 2563 ในวันปีใหม่ระหว่างที่ราคากุ้งในตลาดตกต่ำ กลุ่ม We Volunteer ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จังหวัดนครปฐม จึงซื้อกุ้งมา 3,172 กิโลกรัม เพื่อนำมาขายให้กับประชาชนบริเวณท้องสนามหลวง โดยไม่มีการปราศรัยหรือแสดงสัญลักษณ์โจมตีรัฐบาล ตำรวจควบคุมฝูงชนหลายร้อยนายได้ใช้กำลังเข้าสลายกิจกรรมและจับกุมสมาชิกกลุ่มโดยอ้างว่า กิจกรรมขายกุ้งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฝ่าฝืนต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมาเมื่อย้ายไปปักหลักขายกุ้งที่อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว ก็ยังถูกตำรวจตามไปสลายการชุมนุมอีก

ณัฐพงษ์ มะลิซ้อน หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม We Volunteer เล่าว่า ระหว่างเข้าจับกุมเขาถูกตำรวจใช้กำลังทำร้าย โดยมีการเตะตัดขา จนทำให้ศีรษะไปชนกับรั้วเหล็ก จากนั้นถูกชายซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามารุมทำร้ายร่างกาย และโดนตำรวจควบคุมฝูงชนอุ้มไป เป็นเหตุให้สมาชิกกลุ่มสามคนยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติฐานความรับผิดฐานละเมิดของเจ้าหน้าที่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1282/2564 กล่าวหาว่าการเข้าจับกุมของตำรวจ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เกินสัดส่วน เกินความจำเป็น และเป็นการเลือกปฏิบัติ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สิน

20 ธันวาคม 2566 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง โดยศาลให้เหตุผลว่า สนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ไม่มีการขออนุญาตใช้สถานที่ กิจกรรมอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค การจัดกิจกรรมหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลาฯ ก็ไม่ขออนุญาตหน่วยงานใด การที่ตำรวจใช้วิธีการเตะตัดขาเพื่อการสกัดไม่ให้หลบหนี ย่อมเกิดขึ้นได้ และไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่ปรากฏว่าเกิดการทำร้ายร่างกายในลักษณะอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าตำรวจผู้จับกุมมีเจตนา หรือประมาท

โจทก์ยื่นอุทธรณ์คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

4. คดีสลายการชุมนุมค้าน APEC 2022

18 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มประชาชนในนาม "ราษฎรหยุดAPEC2022" นัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ในระหว่างที่มีการประชุมผู้นำนานาชาติ เพื่อคัดค้านแนวทางการพัฒนาแบบ "ฟอกเขียว" หรือ BCG Model ตำรวจวางกำลังปิดกั้นตั้งแต่ถนนดินสอไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเส้นทางไปได้ แม้ว่าบริเวณดังกล่าวยังอยู่ห่างไกลจากศูนย์ประชุมมาก มีการใช้กำลังในสองระลอก ครั้งที่หนึ่ง เวลาประมาณ 10.00 น. จากเหตุผู้ชุมนุมเปิดแนวรถกระบะที่จอดกีดขวางอยู่ และครั้งที่สอง ระหว่างที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่พักทานอาหารและคนทำกิจกรรมแสดงออกเผาพริกเผาเกลือ โดยตำรวจใช้กระบองตี ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมยังไม่ได้ใช้ความรุนแรงก่อน เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายคน ณัฐพร อาจหาญ หัวโนชัดเจนจากการถูกยิงกระสุนยางเข้าที่ศีรษะ พายุ บุญโสภณ ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่ดวงตา ทำให้ตาบอดหนึ่งข้างในทันที ทั้งที่ตามหลักสากลการใช้กระสุนยางต้องยิงเข้าที่ส่วนล่างของลำตัวเท่านั้น

5 กรกฎาคม 2566 ผู้ชุมนุม 19 คน ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจที่เกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุต่อศาลปกครอง ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 12 ล้านบาท ฐานใช้กำลังและใช้ความรุนแรงเกินจำเป็น ใช้กระสุนยางโดยไม่มีเหตุและขัดต่อหลักการสากล โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นฝ่ายก่อความรุนแรง และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บังคับบัญชาตำรวจที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้มีการ ปิดกั้นขัดขวางและหรือใช้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะที่รุนแรงเกินจำเป็น

คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

5. คดีตำรวจซ้อม "ทะลุแก๊ซ" ที่สน. ดินแดง

ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 มีการชุมนุมของกลุ่ม "ทะลุแก๊ซ" ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งชื่อกลุ่มมีที่มาจากเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง และผู้ชุมนุมเหล่านี้ซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยอยู่บริเวณแฟลตดินแดงไม่ได้เกรงกลัวและไม่ล่าถอย จนมีการปะทะกันหลายครั้งและมีผู้เสียชีวิต วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเสียชีวิตของวาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ซึ่งถูกยิงเข้าที่บริเวณท้ายทอยระหว่างการชุมนุมของทะลุแก๊ส ที่บริเวณสถานีตำรวจนครบาลดินแดง โดยกิจกรรมนี้จัดเพื่อเรียกร้องให้ตำรวจติดตามคนร้ายผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว แต่ก็ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกและจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งเข้าไปในสน.ดินแดง

อรรถสิทธิ์ นุสสะ และวีรภาพ วงษ์สมาน ก็เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เขาถูกตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุมตัว และในระหว่างสอบสวนได้ใช้กำลังในลักษณะทรมานร่างกาย วีรภาพเล่าว่า เขาถูกเอาตัวเข้าไปในห้องที่ตำรวจเรียกว่า ห้องมืด บังคับวีรภาพถอดกางเกงออกทั้งหมดแล้วใช้เท้าเหยียบบริเวณอวัยวะเพศ มีการกระทืบเข้าที่บริเวณหน้าอกหลายครั้ง จนนายวีรภาพมีอาการเลือดออกจากปาก เบื้องต้นวีรภาพได้ร้องทุกข์ไว้ต่อตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายบาดแผลและใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน

เนื่องจากทั้งสองมีความห่วงกังวลต่อความไม่โปร่งใสและขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุอย่างยิ่ง จึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการหาผู้กระทำผิดแทน แต่ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษก็สั่งยุติเรื่อง

คดียังไม่มีความคืบหน้า

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

คดีมาตรา 112 ของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยใน #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภา

13 ชั่วโมงที่ผ่านมา

“นิรโทษกรรมประชาชน” เดินทางสู่นัดสำคัญในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568

18 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม