นักวิทย์พบ ‘เครื่องมือไม้’ เก่า 3 แสนปีในจีน คาดคนโบราณใช้ขุดราก-ลำต้นพืช
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 5 ก.ค. (ซินหัว) — เครื่องมือไม้สภาพดีที่มีอายุย้อนกลับไปราว 3 แสนปีก่อน จำนวน 35 ชิ้น ถูกขุดพบในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งช่วยมอบข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีของมนุษย์ยุคแรกในเอเชียตะวันออก และยังพบโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เครื่องมือหิน ค้อนหัวอ่อนทำจากเขากวาง ฟอสซิลสัตว์ และซากพืช
การค้นพบที่แหล่งโบราณคดีกานถังชิ่งในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องมือไม้ที่ซับซ้อนในเอเชียตะวันออก โดยมีการเปิดเผยรายละเอียดในผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (4 ก.ค.)
รายงานของทีมนักวิจัยนานาชาติซึ่งนำโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล (IVPP) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยว่าเครื่องมือไม้ส่วนใหญ่ใช้สำหรับหาอาหารจากรากและลำต้นของพืช โดยแม้ว่ามนุษย์ยุคแรกจะใช้ไม้มานานกว่าล้านปีแล้ว แต่สิ่งประดิษฐ์จากไม้กลับค่อนข้างหายากในบันทึกทางโบราณคดี โดยเฉพาะในยุคไพลสโตซีนตอนต้นและตอนกลาง
ทีมนักวิจัยระบุว่ากิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นี้เกิดขึ้นระหว่าง 3.6 แสนปีถึง 2.5 แสนปีก่อน ซึ่งตอกย้ำความหลากหลายและความซับซ้อนของการผลิตและกลยุทธ์การเอาชีวิตรอดของมนุษย์ยุคแรก
เครื่องมือไม้ที่ทำขึ้นจากไม้สนส่วนใหญ่มีรอยตัดและขูด ซึ่งบ่งบอกถึงการใช้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การตัดแต่งกิ่งไม้และการตัดแต่งรูปทรง ส่วนเศษดินที่พบบนปลายเครื่องมือบางชิ้นมีเมล็ดแป้งจากพืช บ่งชี้ว่าเครื่องมือไม้เหล่านี้ใช้ขุดอาหารจากพืชใต้ดินเป็นหลัก
การวิจัยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของไม้ไผ่และเครื่องมือไม้ในชีวิตของมนุษย์ยุคโบราณในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อเทียบกับแหล่งเครื่องมือไม้ในยุโรป ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นอุปกรณ์ล่าสัตว์ขนาดกลาง แหล่งโบราณคดีกานถังชิ่งโดดเด่นกว่าในแง่เป็นแหล่งรวมเครื่องมือขนาดเล็กแบบถือด้วยมือ
การใช้เครื่องมือไม้ยังสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้หินมาเป็นเครื่องมือไม้ เนื่องจากทรัพยากรหินมีอยู่จำกัด
เกาซิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันฯ ระบุว่าชิ้นส่วนเขากวาง 4 ชิ้นที่พบว่าถูกใช้เป็น “ค้อนหัวอ่อน” มีร่องรอยการใช้งานชัดเจน ซึ่งบ่งชี้ว่าเทคโนโลยีเครื่องมือหินในเอเชียตะวันออกในยุคหินเก่าตอนต้นและตอนกลางมีความก้าวหน้ามากกว่าที่เคยคาดไว้ และท้าทายแนวความเชื่อที่ว่าภูมิภาคแห่งนี้มีเทคโนโลยีล้าหลังกว่าตะวันตกอย่างมาก