ขยะไม่ไร้ค่า! จีนเดินหน้าเปลี่ยน ‘ขยะ’ เป็น ‘ไฟฟ้า’ รักษ์สิ่งแวดล้อม
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 8 ก.ค. (ซินหัว) — ณ โรงงานเผาขยะในเมืองซินเซียง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน มีกรงเล็บเหล็กขนาดใหญ่คอยยกย้ายกองภูเขาขยะจากชุมชนเข้าสู่ห้องหมักชีวภาพอย่างนุ่มนวล โดยขยะที่ถูกแบ่งส่วนให้มีขนาดเล็กลงอย่างเพียงพอแล้วจะถูกป้อนเข้าสู่เตาเผา ที่ซึ่งความร้อนจัดจะเปลี่ยนน้ำเป็นไอน้ำเพื่อขับเคลื่อนกังหันผลิตกระแสไฟฟ้า
หวังลี่หมิน เจ้าหน้าที่โรงงานเผาขยะแห่งนี้ กล่าวว่าที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์กลางทางพลังงานของเมือง แต่ละวันมีการแปลงขยะ 1,800 ตันให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอันล้ำสมัยของจีนที่เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง นำสู่การจ่ายไฟฟ้าสะอาดแก่ครัวเรือนและช่วยลดปล่อยคาร์บอน
อดีตจีนใช้วิธีฝังกลบเป็นแนวทางหลักในการกำจัดขยะ ซึ่งก่อเกิดความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดิน แหล่งน้ำใต้ดิน และอากาศ ทำให้เกิดความพยายามเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์การจัดการขยะตามความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีการส่งเสริมเทคโนโลยีเผาขยะที่สะอาดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปัจจุบันจีนมีโรงงานเผาขยะขนาดใหญ่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสามารถแปรรูปขยะมากกว่า 1.1 ล้านตันต่อวัน เทียบเท่ากับการเติมน้ำลงสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 440 สระ (สระละ 2,500 ตัน) ขณะเดียวกันจีนสร้างความก้าวหน้าระดับโลกในด้านระบบควบคุมการเผาไหม้ การบำบัดก๊าซไอเสีย และการเฝ้าติดตามการปล่อยมลพิษแบบเรียลไทม์
มาตรฐานการปล่อยมลพิษระดับชาติสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของจีนสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานล่าสุดของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้ของจีนจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเข้มงวดมากที่สุดในโลก โดยบางภูมิภาค อาทิ ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง ได้ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับท้องถิ่นที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปด้วย
หม่าเคอจวิน รองผู้จัดการทั่วไปของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในเขตใหม่ซีเสียน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เผยว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีเตาเผาตะแกรงที่พัฒนาภายในประเทศและมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งช่วยบรรลุประสิทธิภาพทางความร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากทศวรรษก่อน โดยขยะถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ที่อุณหภูมิเกือบ 1,000 องศาเซลเซียส มีการปล่อยสารไดออกซินเพียงหนึ่งในสิบของเพดานจำกัดของสหภาพยุโรป
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ยังขยับขยายสู่ต่างประเทศ โดยกลุ่มบริษัทจีนมีส่วนร่วมหรือทำสัญญาในโครงการเผาขยะในต่างประเทศ 79 โครงการ ครอบคลุมเอเชีย แอฟริกา ยุโรป โอเชียเนีย อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ เมื่อนับถึงเดือนพฤษภาคม 2025
เซี่ยอวี้หง รองประธานและเลขานุการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศจีน กล่าวว่าอุตสาหกรรมการเผาขยะของจีนพัฒนาจาก “กำจัดอย่างไม่เป็นพิษเป็นภัย” สู่ “ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูง” โดยเซี่ยยังกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตขยะทั่วโลก
จางจิ้งหนิง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเผาขยะที่เพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้เกิดการสร้างขยะได้ตามอำเภอใจ โดยการเผาขยะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งใช้ต้นทุนทางการเงินและสิ่งแวดล้อมสูงกว่าการลดขยะอันเป็นต้นเหตุ
หม่าเหวินเชา ศาสตราจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทียนจิน ระบุว่าการเติบโตที่รวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ บริการจัดส่งอาหาร และพัสดุด่วน นำสู่ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เนื่องจากการผลิตพลาสติกอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งวัฏจักรชีวิตของพลาสติกตั้งแต่ผลิตจนถึงเผาทำลาย ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลที่เร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอันตรายเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลเสียต่อคนรุ่นเราแต่ยังต่อเนื่องถึงคนรุ่นหลังด้วย การเพิ่มความพยายามลดขยะที่ต้นทางและปรับปรุงการคัดแยกขยะจึงเป็นสิ่งจำเป็น
แนวคิด 3อาร์ (3R) ได้แก่ ลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ที่แพร่หลายทั่วโลกนั้นถือเป็นแนวทางการจัดการขยะที่ยั่งยืน และจีนกำหนดหลัการเดียวกันนี้ไว้ในกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2008 ทำให้เป็นประเทศที่สามในโลกที่ออกกฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่าจีนสามารถลดขยะจากต้นทางและปรับปรุงระบบคัดแยกขยะด้วยการส่งเสริมแนวคิด 3อาร์อย่างจริงจัง เพื่อเร่งสร้างความก้าวหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน