จีนดัน 5 เมืองหลักสู่ศูนย์กลางการบริโภคระดับโลก
จีนดัน 5 เมืองหลักสู่ศูนย์กลางการบริโภคระดับโลก
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จีนเดินหน้ายกระดับเศรษฐกิจการบริโภคภายในประเทศให้มีศักยภาพระดับโลก ด้วยการผลักดัน 5 เมืองหลัก ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว เทียนจิน และฉงชิ่ง ให้กลายเป็น “ศูนย์กลางการบริโภคระดับโลก” ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่เริ่มเมื่อปี 2021 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง ผ่านมาตรการเชิงนโยบาย สิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเดินทางระหว่างประเทศ และการออกแบบประสบการณ์การบริโภคที่ครอบคลุมทั้งสินค้า บริการ และวัฒนธรรม
การเลือก 5 เมืองนี้ ดูจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และความสามารถในการเป็นผู้นำด้านการค้าปลีกของจีน ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ยอดค้าปลีกของ 5 เมืองนี้รวมกันคิดเป็นกว่า 1 ใน 8 ของยอดค้าปลีกทั่วประเทศ ขณะที่สัดส่วนของร้านค้าที่สามารถคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึงกว่า 60% ของทั้งประเทศ โดยมีร้านคืนภาษีในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งมากกว่า 1,400 แห่ง และในกวางโจวมากกว่า 500 แห่ง
หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จคือการพัฒนารูปแบบการบริโภคใหม่ๆ เช่น การมีนโยบาย “คืนภาษี” การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด และการส่งเสริม “เศรษฐกิจกลางคืน” โดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองนำร่องในการทดลองมาตรการที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคต่างชาติ เช่น การคืนภาษีทันทีเมื่อซื้อสินค้าในร้าน และการใช้เทคโนโลยี QR code เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงิน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก
นอกจากนี้ 5 เมืองนี้ยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดแบรนด์ระดับโลก โดยเฉพาะผ่านกลยุทธ์ First-store Economy ที่ดึงดูดแบรนด์ต่างชาติและแบรนด์จีนให้เปิดตัวในพื้นที่เมืองหลวงและมหานครสำคัญ ข้อมูลจากทางการกรุงปักกิ่งระบุว่า ตั้งแต่ปี 2023 มีแบรนด์ต่างชาติมากกว่า 3,100 แบรนด์เปิดสาขาใหม่ในเมือง ขณะที่ในฉงชิ่ง ตัวเลขแบรนด์ที่เปิดสาขาแรกในเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนติดอันดับหนึ่งในเมืองที่แบรนด์เลือกเปิดสาขาใหม่มากที่สุด 3 ปีซ้อน
ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของนโยบายนี้ยังเกิดจากการสร้าง “ประสบการณ์การบริโภคเชิงวัฒนธรรม” ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การซื้อสินค้าเท่านั้น แต่รวมถึงกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ เช่น การจัดนิทรรศการระดับโลก การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา การเปิดโซนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้กลายเป็นแรงดึงดูดของนักท่องเที่ยว เช่น ปักกิ่งพัฒนาย่านต่างๆอย่าง Wangfujing Xidan Qianmen และ Sanlitun ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ ขณะที่กวางโจวส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านเส้นทางเรือสำราญจากท่าเรือนานาชาติในเขตหนานซา ซึ่งปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าออกมากกว่า 100,000 คน
ในด้านนโยบายระดับชาติ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกว่า 20 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการบริโภค รวมถึงการเพิ่มจุดคืนภาษี การเร่งพัฒนาเขตปลอดภาษี การปรับปรุงกระบวนการยื่นขอวีซ่าให้สะดวกขึ้น และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ระบบ e-Visa และแอปพลิเคชันแปลภาษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ข่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้
ความสำเร็จของ 5 เมืองนี้ นอกจากเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังแสดงถึงความสามารถของจีนในการออกแบบระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่สามารถดึงดูดทั้งผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตรัฐบาลจีนคาดหวังว่า 5 เมืองนี้จะมีศักยภาพสูงที่จะก้าวสู่ระดับเดียวกับมหานครสำคัญของโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว โดยไม่เพียงแต่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม นวัตกรรม และประสบการณ์การบริโภคที่เชื่อมจีนกับโลกอย่างเต็มรูปแบบ
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN