เปิดคำวินิจฉัย ศาลรธน. ฉบับเต็ม หลังรับคำร้อง-สั่งนายกฯ อิ๊งค์ หยุดปฏิบัติหน้าที่
เปิดคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับเต็ม หลังรับคำร้อง และมีมติสั่งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ด้วยมติ 7 ต่อ 2 จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับ ฮุน เซน
(วันที่ 1 กรกฎาคม 2568) จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องพิจารณาถอดถอน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมีมติ 7 ต่อ 2 สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 จากกรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฯ ฮุน เซน นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุผลการพิจารณา ไว้ว่า
(4) ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 18/2568)
สมาชิกวุฒิสภา รวม 32 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่า ปรากฏคลิปเสียงการสนทนาระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) กับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาแห่งกัมพูชา เผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 ซึ่งผู้ถูกร้องแถลงข่าวยอมรับว่าเป็นเสียงการสนทนาของตนกับสมเด็จ ฮุน เซน จริง แม้ผู้ถูกร้องจะแถลงข่าวในเวลาต่อมาว่าเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์แบบส่วนตัวโดยมีเจตนาที่จะเจรจาต่อรองอย่างนุ่มนวลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและอธิปไตยของไทยก็ตาม แต่ผู้เข้าชื่อเสนอคำร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องแสดงออกถึงความนิ่งเฉยและไม่ปฏิบัติหน้าที่โต้ตอบหรือกำหนดมาตรการรวมถึงการเจรจาระหว่างประเทศด้วยตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่บุคคลผู้มีอยู่ในสภาวะ วิสัย และพฤติการณ์แห่งความเป็นนายกรัฐมนตรีที่พึงกระทำ เพราะเหตุแห่งความสัมพันธ์ส่วนตัวในลักษณะเป็นเรื่องเดียวกันกับกัมพูชา
พร้อมที่จะทำตามหรือจัดการตามที่ฝ่ายกัมพูชาต้องการมาโดยตลอด ส่วนแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ถูกร้องเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ถูกร้องไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องนี้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง