เวิลด์แบงก์คาดการณ์จีดีพีไทยโต1.8%-แนะใช้ดิจิทัลเพิ่มศักยภาพ-หนุนศก.โต
ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ Thailand Economic Monitor: Digital Pathways to Growth พร้อมประเมินจีดีพีไทยปี 2568 เติบโต 1.8%(จากเดิม 2.9%) และปี 2569 ที่ 1.7% จากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก-ส่งออก-การบริโภคที่ชะลอตัว และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวในระดับปานกลาง แนะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค-เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนภาครัฐ-ขยายความร่วมมือทางการค้าเชิงลึก รวมถึงยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วยในช่วงที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอน
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ของไทยคาดว่าจะชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2568 และ 1.7% ในปี 2569 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำและสะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอการบริโภคที่ชะลอตัว และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น GDP อาจเติบโตได้ 2.2% ในปี 2568 และ 1.8% ในปี 2569
"การปรับลดจีดีพีดังกล่าวมาจาก 3 ปัจจัยได้แก่ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการค้าโลก รวมถึงความอ่อนแอจากปัจจัยภายในของประเทศไทยโดยความไม่แน่นอนมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก-การลงทุนซึ่งมีสัดส่วนในจีดีพีสูง และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้เราปรับลดตัวเลขนักท่องเที่ยวจากประเทศปีนี้มาที่ 37 ล้านคน ส่วนประเด็นพื้นที่ทางการคลังนั้น แม้จะแคบลงแต่ก็อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่หากในระยะถัดไปหนี้สาธารณะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยไปก็นำไปสู่การชะลอตัวของจีดีพีประเทศ การกดดันด้านภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อภาระการใช้จ่ายภาครัฐได้ อย่างไรก็ตาม ในด้านของเสถียรภาพถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 7% อัตราเงินเฟ้อที่แตะ 0%ถือว่าต่ำสุดในเอเชีย แต่ยังคงต้องระวังในเรื่องความผันผวนของเงินทุนไหลออก และราคาน้ำมัน"
นายเกียรติพงศ์กล่าวอีกว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังมีความ แข็งแกร่ง ช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการส่งออกล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การปรับการลงทุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการขยายความร่วมมือทางการค้าในเชิงลึก จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ก็ยังมีโอกาสในความท้าทายนั้น ซึ่งรายงานฉบับใหม่ของเวิลด์แบงก์มองถึงโอกาสทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของไทย ซึ่งจะสามารถช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ หากมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างทักษะให้กับแรงงานไทย ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะย้อนกลับช่วยลดหนี้สาธารณะของไทยด้วย
ทั้งนี้ รายงาน Thailand Economic Monitor: Digital Pathways to Growth ฉบับใหม่ของธนาคารโลกได้ชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเป็นตัวเร่งการเติบโตและสร้างงาน ยกระดับคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้ ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน
นางสาวเมลินดา กู้ด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 256 การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือ การประชุมระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ บริการดิจิทัล การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจการเกษตร และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนมีส่วนกำหนดอนาคตของประเทศไทย"
ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่าราว 6% ของ GDP และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน โดยอุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทศ ซอฟต์แวร์ และวิศวกรรม ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ดังนั้น ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะด้านดิจิทัล ที่นับว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค การใช้ดิจิทัล ID และระบบการชำระเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย (เช่น ThaiD และ PromptPay) ได้วางรากฐานที่แข็งแกร่ง สำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินและการขยายตัวของรัฐบาลดิจิทัลและอีคอมเมิร์ช โดยอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ชมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO