จับตาครึ่งปีหลังความเสี่ยงเยอะ ส.ประกันวินาศภัยมั่นใจ ทั้งปีเบี้ยยังโตเฉียด 3 แสนล้าน
นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจประกันวินาศภัยในครึ่งปีหลัง คาดจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงเข้ามามาก และมีแนวโน้มขยายตัวได้น้อยกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตได้ 3.81% แต่สมาคมยังมั่นใจว่าธุรกิจประกันภัยมีความแข็งแกร่ง และคาดการเติบโตทั้งปีไว้ที่ 1.5-2.5% มีเบี้ยประกันภัยรวมอยู่ที่ 2.91-2.94 แสนล้านบาท สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบมาก ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้ง ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง การเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
ทั้งนี้ หากจำแนกในส่วนประกันภัยรถยนต์ มีแนวโน้มที่ทั้งปีจะไม่เติบโต เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามราคารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการที่มีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าบางรายในจีนยื่นล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น และมียอดสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าชะลอลง จึงกระทบต่อยอดประกันรถยนต์โดยภาพรวม ส่วนภาพรวมของไตรมาสแรก เบี้ยประกันภัยรถยนต์อยู่ที่ 42,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.36%
ส่วนประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จะได้รับผลกระทบเยอะจากปัญหาสงครามการค้า ภาษีตอบโต้จากสหรัฐ ซึ่งจะทำให้การค้าและการส่งออกไทยชะลอตัวในครึ่งปีหลัง และมีผลให้ประกันภัยทางทะเลอาจติดลบได้ตลอดทั้งปี หลังจากช่วงไตรมาสแรกมีเบี้ยแล้ว 1,668 ล้านบาท ลดลงไป 4.91% เช่นเดียวกับประกันภัยเบ็ดเตล็ด แม้ไตรมาสแรกเบี้ยจะทำได้ 29,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.01% แต่ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัว ตามยอดการลงทุนของภาครัฐที่ลดลง และการลงเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ประกันภัยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือ ประกันอัคคีภัย ซึ่งไตรมาสแรกมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงแล้ว 2,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83% และช่วงที่เหลือของปีน่าจะขยายตัวได้อีก โดยเป็นผลจากการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนตื่นตัวหันมาซื้อประกันอัคคีภัย ซึ่งมีส่วนความคุ้มครองของภัยธรรมชาติ และแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น
ด้านความคืบหน้าการจ่ายค่าสินไหมจากเหตุแผ่นดินไหว ขณะนี้บริษัทประกันที่เป็นสมาชิกสมาคมประกันวินาศภัยฯ ได้เร่งจ่ายเคลมไปแล้ว 1.5 แสนกรมธรรม์ คิดเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะมีผู้แจ้งความเสียหายเพิ่มเติมอีก แต่คาดว่าความเสียหายโดยรวมจะไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การจ่ายเคลมกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมตรวจสอบข้อมูลความเสียหาย โดยได้ว่าจ้างบริษัททำการประเมิน รวมถึงการยื่นขอข้อมูลไปกับ สตง. ไป แต่ทางสตง.ยังไม่ให้ข้อมูลกลับมา
“เบื้องต้นประเมินความเสียหายจริงน่าจะไม่เกิน 1,000 ล้านบาท แต่ในการจ่ายเคลมประกันจริงจะต้องดูหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงด้วย หากการถล่มมีสาเหตุมาจากความผิดการออกแบบและการก่อสร้าง ก็จะไม่ได้รับคุ้มครอง แต่ถ้าเสียหายจากแผ่นดินไหวจริง บริษัทก็พร้อมจ่ายเคลมให้ความคุ้มครอง”