‘JIAN CHA’ ชื่อจีนแต่เป็นของคนไทย ฝันใหญ่มี 1,000 แห่งทั่วโลก ปีนี้บุกสเปน-สหรัฐ-ออสเตรเลีย
ตลาดอาหาร และเครื่องดื่มโดยเฉพาะร้านชาแข่งขันกันดุเดือดรุนแรงยิ่งกว่า “Red Ocean” มีคนเข้าออกจากตลาดตลอดเวลา มีร้านเกิดใหม่ และปิดตัวในทุกๆ วัน แต่สถานการณ์ที่ว่ามาไม่ได้ทำให้ “พลอย-พอลลี่ เฮสันต์” ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง “เจี้ยนชา” (JIAN CHA) ลังเลที่จะเดินเข้าสู่สมรภูมิร้านชา เพราะเชื่อว่า สินค้ามีคุณภาพมากพอที่จะทำให้คนไทยติดใจ รวมถึงคนต่างชาติทั้งบ้านใกล้เรือนเคียง และประเทศฝั่งยุโรปก็น่าจะชื่นชอบได้ไม่ยาก
“เจี้ยนชา” เปิดตัวสาขาแรกอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2567 ใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนก็พบว่า แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้รับการบอกต่อ และมีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำบ่อยๆ จนถึงตอนนี้ “เจี้ยนชา” มีทั้งหมด 40 สาขา และจะมีครบ 100 สาขาภายในสิ้นปีนี้ นับว่าเป็นสัดส่วนการขยายสาขาที่เร็วมาก “พลอย” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่เปิดตัวมา 1 ปี กับอีก 6 เดือนเศษๆ ยังไม่มีเดือนไหนที่ยอดขายตกลงแม้แต่เดือนเดียว รายได้รวมเติบโตขึ้น 10% สม่ำเสมอแทบทุกเดือน
-ชาองุ่นปั่นครีมชีส เมนูชื่อดังของร้านเจี้ยนชา-
จากร้านในชนบทจีน รีแบรนด์-ปรับสูตร มาเป็นชาแบบไทยๆ ของ “เจี้ยนชา”
ก่อนมาจับธุรกิจเครื่องดื่ม “พลอย” ทำอาหารเสริม และเสื้อผ้า ลองมาหลายอย่างจนตกผลึกได้ว่า จริงๆ แล้วความฝันของเธอ คือ การขยายธุรกิจไปถึงระดับโลก มองว่า “ของกิน” เข้าถึงคนได้ง่าย ถ้าทำรสชาติถึง โปรดักต์ดีจริง ก็น่าจะไปต่อได้ไม่ยากนัก จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ “พลอย” เรียนปริญญาโทแล้วได้รู้จักกับ“ปีเตอร์” เพื่อนชาวจีนที่เปิดร้านชาเล็กๆ ในเมืองเหอฉี เมืองเล็กๆ แถบชนบทของจีน เปิดมาแล้ว 2 ปี มีเพียง 1 สาขา
เห็นจากเทรนด์โลกที่กำลังมา “พลอย” ไม่รอช้า คุยกับปีเตอร์ว่า อยากนำร้านชาดังกล่าวมาเปิดที่ไทย แต่พอถึงเวลาจริงๆ ปรากฏว่า ทุกเมนู ทุกสูตรที่เคยมีต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด เพราะรสชาติแบบคนจีนไม่เข้ากับลิ้นคนไทย จากสเกลเล็กๆ ในที่ห่างไกลเมื่อนำเข้ามาอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด จะเรียกว่า สร้างแบรนด์ใหม่ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเจี้ยนชาที่จีนกับเจี้ยนชาที่ไทยไม่เหมือนกันแม้แต่นิดเดียว ยกเว้นชื่อร้านที่หยิบยกมาจากของเดิม
หลังตกลงนำ “เจี้ยนชา” มาปักหมุดที่กรุงเทพฯ “พลอย” ใช้เวลาพัฒนาเมนู-เตรียมความพร้อมหลังบ้านราว 2 เดือน เธอบอกว่า ชาแบบที่คนไทยชอบต้องมีรสชาติเข้มข้น เครื่องถึง ผลไม้แน่น แต่เมื่อนำทุกอย่างมารวมกันต้องไม่กลบรสชาติซึ่งกัน และกัน วัตถุดิบทุกอย่างที่เคยทำที่จีนต้องปรับเป็นของพรีเมียมทั้งหมดตามแผนการตลาดที่วางไว้ เมื่อนำมาขายในเมืองหลวง ทำราคาที่พอดีกับกลุ่มเป้าหมายจึงต้องใช้วัตถุดิบที่ตรงกับความต้องการ
-พลอย-พอลลี่ เฮสันต์ ผู้บริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านเจี้ยนชา-
“เจี้ยนชา” เปิดพร้อมกันทีเดียว 2 สาขา คือ สาขา The Up พระราม 3 และสาขาสยามพารากอน เหตุผลในการเลือกโลเกชันส่วนหนึ่งเพราะอยากพิสูจน์โมเดลที่แตกต่างทั้งใน และนอกห้าง ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน “เจี้ยนชา” ก็มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆ จึงตัดสินใจไปต่อกับสาขาที่ 3 “พลอย” บอกว่า เธอมั่นใจตั้งแต่เริ่มต้นเพราะมีจุดเด่นเรื่องรสชาติ และใช้ของพรีเมียม ราคาที่ตั้งจึงทำให้ลูกค้าเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบายว่า ทำไมจึงตั้งราคาขายแก้วละ 150 บาท
“พลอยชอบรับประทานชาอยู่แล้ว แล้วเราก็เห็นช่องว่างในไทยว่า ยังไม่มีชาแบบนี้ จริงๆ ก็มีชาจีนเข้ามาในไทย หลายแบรนด์แต่ไม่ได้เป็นคนไทยทำ ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า รสชาติแบบคนไทยเป็นยังไง เรามองเห็นโอกาสว่า ถ้าทำแล้วเป็นของยุคใหม่ก็น่าจะมีโอกาสไปต่อได้ พลอยละเอียดทุกขั้นตอน ชาต้องต้มทุก 4 ชั่วโมง ใช้ใบชาสดเท่านั้น ไม่ใช้ผลไม้กระป๋อง ใช้นมสด ครีมต้องเป็นแดรี่โปรดักต์ ทุกอย่างเป็นของสดจริงๆ”
ถ้าไม่คิดระดับโลก แล้วเมื่อไหร่จะได้เป็น “Global Brand”
ปี 2567 “เจี้ยนชา” เปิดร้านไปทั้งหมด 29 สาขา ปีนี้เปิดเพิ่มอีก 10 กว่าสาขา รวมทั้งหมดในไทยตอนนี้ขยายไปแล้ว 40 สาขา จนถึงสิ้นปี “พลอย” บอกว่า จะไปจบที่ตัวเลข 100 สาขา เท่ากับว่า เหลือเวลาอีก 5 เดือนเศษๆ เจี้ยนชาจะเปิดเพิ่มอีก 60 สาขา ที่เปิดได้เร็วขนาดนี้ส่วนหนึ่งเพราะใช้โมเดลแฟรนไชส์ กินสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนสาขาทั้งหมดที่มีอยู่
“พลอย” บอกว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ยอดขายที่ร้านทุกสาขาเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เธอมีเวลาหันไปโฟกัสกับการนำ “เจี้ยนชา” บุกต่างประเทศ โดยในปีนี้เราจะได้เห็นเจี้ยนชาประจำการ 3 ประเทศพร้อมกัน ได้แก่ สิงคโปร์ 2 แห่ง ออสเตรเลีย 2 แห่ง และสเปน 2 แห่งเป็นความตั้งใจของ “พลอย” ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่ๆ จากจุดที่เริ่มเห็นพัฒนาการของทีมงานที่แข็งแรงมากขึ้น มีศักยภาพสูง จึงมั่นใจว่า“เจี้ยนชา” บุกตลาดโลกได้ไม่ยาก
เมื่อถามว่า ทำไมต้องเป็น 3 ประเทศนี้ สำหรับ“สเปน” ไม่ใช่ประเทศแรกที่หมายมั่นปั้นมือ แต่เกิดจากการไปยุโรปแล้วเห็นว่า เป็นกลุ่มประเทศที่ต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจยากมาก เป็นความท้าทายที่ทดไว้ในใจว่า ถ้าพา “เจี้ยนชา” เข้าไปได้ก็น่าจะช่วยยกระดับ-สร้างความพรีเมียมให้แบรนด์ไปอีกขั้น บวกกับโอกาสของตลาดชาที่สเปนที่ยังไม่เติบโตมากนัก เทรนด์เรื่องชายังช้ากว่าฝั่งเอเชียหลายปีจึงมาลงเอยที่สเปน หากธุรกิจไปได้ดีก็ตั้งใจจะขยายทั่วยุโรปเป็นสเตปถัดไป
ส่วน “สิงคโปร์” เป็นการลงทุนรูปแบบ “Joint Venture” แม้จะเป็นประเทศเล็ก ขยายได้เต็มที่ไม่เกิน 30 แห่ง แต่ที่นี่มีนักลงทุนเยอะ เศรษฐกิจดี เป็นอีกโอกาสที่อย่างไรก็ต้องไป ฝั่ง “ออสเตรเลีย” เห็นถึงพฤติกรรมการดื่มชาที่เพิ่มขึ้น มีคนเอเชียรวมถึงคนไทยหนาแน่น จึงเห็นโอกาสเติบโตที่ค่อนข้างแข็งแรง “พลอย” แง้มด้วยว่า ถัดจากทั้ง 3 ประเทศนี้ จะพาร้านชาจีนของคนไทยไปบุก “สหรัฐ” ภายในปีนี้เช่นกัน
มีสาขาเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ปักธงหัวเมืองใหญ่ครบทุกภูมิภาคด้วยซ้ำ แต่ “พลอย” เชื่อว่า สามารถทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กันได้ เพราะความฝันของตนไม่ได้หยุดแค่เป็นร้านชาระดับประเทศ ถ้าไม่คิดแบบ “Global” ก็คงไม่ได้ไประดับโลกสักที หมุดหมายที่ตั้งใจไว้และเป็น “Mission” ของทีม คือ การพาแบรนด์กระจายกว่า 1,000 สาขาทั่วโลก ภายในปี 2573
“ในไทยเราแข็งแรงระดับหนึ่งแล้ว ทีมเราค่อนข้างแข็งแรงเขาเอาอยู่ ทีมเก่งจริงๆ พลอยถึงมีเวลาไปดูส่วนอื่น เรามีความฝันที่ใหญ่ เราอยากขึ้นเป็นแบรนด์ระดับโลก ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็น Global แล้วเมื่อไหร่จะได้เป็น Global ถ้าอยู่แค่ในไทยอาจจะเห็นแค่ภาพตรงนี้ ทุกอย่างเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ เป้าหมาย คือ ต้องมี 1,000 สาขาทั่วโลกภายใน 5 ปีนับจากนี้ ถ้าอยากไปก็ต้องพร้อมบุกตั้งแต่ตอนนี้”
ลอยตัววิกฤติเผาจริง ยอดขายโตตลอด ทำธุรกิจให้ดีเดี๋ยวรายได้ตามมาเอง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากของธุรกิจร้านอาหาร แต่สำหรับเจี้ยนชา “พลอย” ระบุว่า แบรนด์ไม่ได้รับกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อที่หดตัวลง ตนไม่เคยหวั่นเกรงกับวิกฤติแต่ก็ไม่ได้ชะล่าใจ วางแผนเตรียมรับมือ-ป้องกันเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
มองย้อนกลับไปนี่ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรก “Big Crisis” แทบจะเกิดขึ้นทุกๆ สิบปีด้วยซ้ำไป สุดท้ายเราเห็นโอกาสอะไรจากตรงนั้น และจะเตรียมแผนวิเคราะห์ประมวลผลอย่างไรเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับธุรกิจ
สำหรับแบรนด์เจี้ยนชาภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจี้ยนชา จำกัด พบว่า ปี 2567 มีรายได้“78 ล้านบาท” กำไรสุทธิ “1.8 ล้านบาท” (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์) เมื่อถามว่า ปีนี้ที่มีจำนวนสาขามากขึ้นกว่าเดิมอีกสองเท่า เธอตั้งตัวเลขไว้ในใจอย่างไร ไปถึงหลัก 100-200 ล้านบาทเลยหรือไม่
“พลอย” บอกว่า ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นตัวเลขในเชิงรายได้ แต่มีเป้าเป็นภาพรวม และจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นมากกว่า มองว่า ยิ่งมีสาขามากเท่าไร รายได้ และการเติบโตก็จะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนดังกล่าว เชื่อว่า ถ้านำเงินเป็นตัวตั้งสุดท้ายก็จะไม่เห็นดอกผล
“พลอยอยากสร้างตำนาน ในวันที่เราไม่อยู่แล้วแต่ยังอยากให้สิ่งนี้คงอยู่ ยังขับเคลื่อนธุรกิจได้ต่อไป”
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์