รฟท. เตรียม PPP ดึงเอกชนเดินรถ 'ไฮสปีดไทยจีน' กรุงเทพฯ - หนองคาย
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (15 ก.ค.) รฟท.จะจัดสัมมนาแนะนำโครงการ (ปฐมนิเทศ) โครงการศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการจัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ไฮสปีดไทย - จีน) ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย
โดยเวทีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อชี้แจงข้อมูลโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพิจารณาดำเนินการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ครอบคลุมในการบริหารโครงการและเดินรถไฮสปีดไทย - จีน ตลอดแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ซึ่ง รฟท.มีเป้าหมายให้ได้ข้อสรุปโครงการศึกษาดังกล่าวแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะนำผลการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบ PPP เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเปิด PPP จัดหาเอกชนร่วมลงทุนต่อไป
สำหรับการศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการฯ มีกรอบดำเนินงาน ประกอบด้วย
1. การศึกษาความเหมาะสม การคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารด้านเทคนิค ด้านราคา ด้านเศรษฐกิจและการเงิน แผนการเดินรถ (System Operation Plan)
2. ศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงของโครงการ ทางเลือกและรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมไปถึงการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่โครงการไฮสปีดไทย – จีนแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของงานโยธาการก่อสร้างต่างๆ จะเปิดประมูลและเดินหน้าตอกเสาเข็ม ส่วนของระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ซึ่งปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ เช่นเดียวกับเรื่องระบบเดินรถ จะเห็นรูปแบบการลงทุน และการเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งการเร่งรัดเรื่องต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการเปิดให้บริการไฮสปีดไทย – จีนเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่จะเปิดให้บริการในปี 2572
สำหรับไฮสปีดเทรนไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามแผนดำเนินงาน รฟท.จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) จำนวน 10 สัญญา แบ่งออกเป็น งานโยธา 9 สัญญา และงานติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา ส่วนรูปแบบโครงสร้างได้ศึกษาเพื่อลดผลกระทบประชาชน โดยจะพัฒนาเป็นทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร และทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร ให้บริการ 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย
1.สถานีบัวใหญ่
2.สถานีบ้านไผ่
3.สถานีขอนแก่น
4.สถานีอุดรธานี
5.สถานีหนองคาย
สำหรับรายละเอียดโครงการมีการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ยในการให้บริการ 192 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ประมาณ 1 ชั่วโมง 26 นาที และจากนครราชสีมา-หนองคาย ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที และหากนั่งจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 28 นาที
ขณะที่ปริมาณผู้โดยสาร ประเมินว่าในช่วงนครราชสีมา - หนองคาย คาดการณ์ว่าปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 จะมีปริมาณผู้โดยสาร 6,710 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 10,060 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 13,420 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 16,490 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 17,930 คน-เที่ยวต่อวัน
ส่วนตลอดแนวเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 ผู้โดยสารอยู่ที่ 9,030 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 13,550 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 18,070 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 22,250 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 24,110 คน-เที่ยวต่อวัน