ประมงสมุทรสงคราม ตั้งเป้าสู่ต้นแบบจัดการ "ปลาหมอคางดำ"
หลังจากได้ข้อมูลจากนาย ปัญญา โตกทอง แกนนำชาวบ้าน 19 จังหวัด ที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐจริงใจในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ เพราะเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ อาจกำลังขาดช่วง ทีมข่าว Topnews จึงเดินทางไปพูดคุยกับ นายวิรัตน สนิทมัจโร ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับคำยืนยันว่า สถานการณ์ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ระดับที่ต่ำ จากเดิมที่พบมากกว่า 100 ตัว ต่อ 100 ตารางเมตร ล่าสุดพบเพียง 5-7 ตัวเท่านั้น จำนวนปลาที่จับได้จากกิจกรรมลงแขกลงคลอง เดิมเคยได้ 3,000 กิโลกรัมต่อครั้ง ขณะนี้ก็เหลือเพียงหลักร้อยกิโลกรัมเท่านั้น บ่งชี้ได้ว่าจำนวนปลาหมอคางดำลดลงอย่างชัดเจน
นั่่นก็มาจากมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการรณรงค์กิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ในทุกตำบล เดือนละอย่างน้อย 2 ครั้ง บางช่วงยังอนุญาตให้กลับมาใช้ "อวนรุน" และการตั้ง “กองทุนกากชา” มาช่วยกำจัด ส่วนปลาที่จับมาได้ ก็ตั้งจุดรับซื้อทั้งจากแหล่งธรรมชาติและจากในบ่อเลี้ยง พร้อมเปิดให้แพปลาต่าง ๆ ช่วยรวบรวม ทำให้รับซื้อไปแล้วถึง 250,000 กิโลกรัมนับตั้งแต่เดือนแรก และยังมีโควต้ารับซื้อถึง 750,000 กิโลกรัม ต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนมาตรการปล่อย “ปลานักล่า” อย่างปลากะพงขาว ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมให้ความรู้เรื่องการกรองน้ำแก่เกษตรกรที่ส่วนใหญ่มักสูบน้ำจากธรรมชาติเข้าสู่บ่อเลี้ยงโดยตรง
ทั้งหมดนี้ เกิดจากการร่วมมือกัน ของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชาวบ้านในสมุทรสงคราม ผสานภูมิปัญญา และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้จากที่ได้ชื่อว่าเคยเป็นพื้นที่ที่ระบาดมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายของการเป็นพื้นที่ต้นแบบ ทั้งในเรื่องของการกำจัด, การปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการฟื้นฟูระบบนิเวศ